×

ถอดบทเรียน ‘การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล’ กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อการส่งผ่านไม่ราบรื่น

18.05.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • วิกฤตการณ์ในสหรัฐอเมริกาปี 1932, 2008, 2020 แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่มีอยู่เดิมมักลุกลามเกินควบคุม จากสาเหตุความไม่ชัดเจนทางการเมืองระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจ
  • ปี 2020 นับเป็นหนึ่งในปีที่การเปลี่ยนอำนาจถูกท้าทายมากที่สุด จากการไม่ยอมรับและการพยายามกีดกันของพรรคการเมืองที่กำลังจะหมดวาระ ซึ่งสร้างความวุ่นวายในการทำงานต่อของพรรคใหม่
  • ความเห็นต่างขั้วเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลเก่าและใหม่มักเป็นชนวนฉุดให้วิกฤตเศรษฐกิจแย่ลง จากสภาพตลาดที่รู้สึกมืดแปดด้านและไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรต่อไปบนทิศทางของประเทศที่ไม่ชัดเจน
  • ประเทศไทยเสี่ยงซ้ำรอยสหรัฐฯ หากไม่สามารถหาข้อสรุปในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว หรือทั้งต่างฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือกันอย่างที่ควรจะเป็น

แม้การเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และดูเหมือนเสียงจากประชาชนชาวไทยส่วนมากนั้นต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงตามแบบแผนที่เสนอโดยรัฐบาลใหม่ แต่ก็จนกว่าจะถึงช่วงเดือนสิงหาคมที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นี้จะเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้ที่เรากำลังจะเข้าสู่จุดเริ่มต้นครั้งใหม่ จึงเป็นอีกครั้งที่มักจะเกิดความไม่มั่นใจกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา หรือข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ที่ดูแล้วมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ปัจจัยเหล่านี้สามารถเป็นตัวชี้ทิศทางเบื้องต้นต่ออนาคตของประเทศไปจนถึงธุรกิจต่างๆ ว่าจะรุ่งหรือร่วง ซึ่งนำไปสู่ระดับความมั่นใจของนักลงทุน อย่างที่เราพอได้เห็นการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นไทยหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง

 

ในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ เราจึงอยากจะชวนมาดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอดีตกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ว่าพวกเขาเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างในช่วงการเปลี่ยนจากรัฐบาลชุดเก่าไปสู่ชุดใหม่ และพวกเราสามารถถอดบทเรียนอะไรท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความคิดต่างในแนวทางการบริหารของพรรคการเมืองปัจจุบันกับพรรคการเมืองใหม่ที่จะมาสืบวาระต่อในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอย หรือลดผลกระทบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ความไม่แน่นอนทางการเมืองซ้ำเติมวิกฤตกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและธุรกิจ

“เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ๆ หลายครั้งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางการเมือง และมันไม่ใช่เหตุบังเอิญเลย” หนึ่งในข้อความจากบทความนิตยสาร The New York Times เขียนโดย ออสตัน กูลส์บี ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ไม่นานก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาและพรรคพวกได้ต่อว่าวิธีการรับมือกับปัญหาการระบาดของโควิด กับทีมงานโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ละเลยความร้ายแรงของโรค จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ 

 

ในเวลานั้นการแพร่ระบาดของโควิดในสหรัฐฯ เคยขึ้นไปอยู่ที่ 140,000 คนต่อวัน แม้นักเศรษฐศาสตร์ออกมาบอกชัดเจนว่าการเร่งควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อรักษาเศรษฐกิจไว้ แต่ภายใต้การนำของทรัมป์ เขามองว่าโควิดนั้นเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดาทั่วไป ทรัมป์จึงตัดสินใจให้เงินสนับสนุนแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ มุ่งเน้นกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด โดยหวังว่าไวรัสจะหายไปเองในเร็ววัน ในขณะที่ฝั่งไบเดนจัดให้โควิดเป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 ที่เขาจะเข้าไปแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด

 

ไบเดนย้ำจุดยืนว่า เมื่อถึงเวลาที่เขาได้เข้ารับตำแหน่ง เขาจะรื้อวิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ แบบเดิมของรัฐบาลชุดเก่า เมื่อคำพูดดังกล่าวออกไปสู่สาธารณชน ปัญหาความวุ่นวายก็ก่อตัวขึ้นในระหว่างที่ประชาชน นักลงทุน และธุรกิจต่างๆ เฝ้ารอพร้อมกับตั้งคำถามว่า แล้วช่วงเวลาที่รอการเปลี่ยนแปลงทิศทางของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป บรรยากาศเต็มไปด้วยความเอาแน่เอานอนไม่ได้

 

การให้น้ำหนักของความสำคัญต่อปัญหาที่แตกต่างกันของพรรคเก่าและพรรคใหม่นี้เอง ที่เป็นเหมือนสัญญาณว่าสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจอาจมีหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากข้อเสนอของพรรคใหม่ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะถอยห่างออกมาตั้งหลักก่อน ซึ่งก็นำมาสู่ความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งนั้น

 

บรรยากาศการอภิปรายวิสัยทัศน์ของโจ ไบเดน (ซ้ายมือ) และโดนัลด์ ทรัมป์ (ขวามือ) เมื่อช่วงปลายปี 2020

 

ความขัดแย้งที่คล้ายคลึงกันกับปี 2020 ก็เคยเกิดขึ้นในปี 1932 หลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่ผู้คนจำนวนมากต้องเจอกับความยากลำบาก ณ เวลานั้น แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ ให้สัญญากับประชาชนว่าเขาจะพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว จากความนิ่งนอนใจต่อปัญหาของเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่าน ฮูเวอร์ที่ยังคงอำนาจอยู่ เชื่อมั่นในแนวคิดตลาดเสรีว่าสุดท้ายแล้วกลไกตลาดจะสามารถรักษาตัวเองได้ และให้ความเห็นว่าการที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแถมยังทรุดตัวหนักลงไปอีก เป็นเพราะผู้คนกังวลกับนโยบายการคลังที่โรสเวลต์กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง โดยเน้นไปที่การอัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและบรรเทาความเดือดร้อน 

 

ฮูเวอร์พยายามพูดให้โรสเวลต์สืบสานนโยบายลดการใช้จ่ายทางการคลัง และรักษาค่าเงินกับมาตรฐานทองคำไว้ แต่นั่นก็ไม่เป็นผล ความไม่ลงรอยระหว่างสองแนวคิดในวิธีการรับมือกับปัญหา ทำให้ตลาดขาดทิศทางที่ชัดเจน และส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนรวมถึงธุรกิจว่าพวกเขาควรจะตัดสินใจทำอะไรอย่างไรต่อไปบนความคลุมเครือครั้งนั้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ปัญหาทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลง ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามความชัดเจนหลังโรสเวลต์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

 

การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (ซ้ายมือ) และแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ (ขวามือ) นั่งรถยนต์ไปอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เพื่อทำพิธีแต่งตั้งโรสเวลต์เป็นประธานาธิบดีคนที่ 32

 

หรือในปี 2008 ที่บารัก โอบามา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เขาก็มีแผนการบริหารจัดการที่แตกต่างจากจอร์จ บุช อย่างสิ้นเชิง เช่น การตัดสินใจกับวิธีการรับมือวิกฤตซับไพรม์ว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาควรไปหาใครบ้าง? เป็นสัดส่วนเท่าไร? ธนาคารที่ได้รับเงินช่วยเหลือควรมีเงื่อนไขอย่างไร? และอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งในตอนนั้นผู้คนรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังมาและมาแน่ แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ผู้คนกังวลกับความกลัวที่ว่าจะไม่มีใครที่มาดูแลปัญหาอย่างจริงจังและวิกฤตก็รุนแรงมากขึ้น

 

จากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทั้ง 3 ครั้งท่ามกลาง 3 วิกฤตนั้น ปี 2020 นับเป็นปีที่มีความท้าทายสูงสุด เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ที่กำลังหมดอำนาจพยายามต่อต้านการเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยวิธีเช่น ความล่าช้าในการส่งมอบเงินทุน การปกปิดข้อมูลสำคัญบางอย่าง หรือแม้แต่การกล่าวหาว่ากระบวนการเลือกตั้งไม่มีความยุติธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ ผิดกับปี 2008 ที่แม้จะมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน แต่รัฐบาลของบุชก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการส่งมอบงานต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลใหม่มั่นใจว่าจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น 

 

ความไม่ชัดเจนทางการเมืองเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

กลับมาที่ประเทศไทยในปัจจุบันหลังจากเราทราบผลเลือกตั้ง แน่นอนว่าการจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้างหน้ามีทั้งผู้ที่จะได้และเสียประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายทลายทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกลที่ต้องการเพิ่มสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น ต่างจากสถานการณ์ในอดีตที่บางอุตสาหกรรมมีการแข่งขันโดยผู้เล่นไม่กี่ราย (Oligopolistic) เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่นักลงทุนบางรายเลือกที่จะลดความเสี่ยงและขายหุ้นในบางอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบหากนโยบายนี้มีการปรับใช้จริง

 

แม้โครงสร้างสังคมและการเมืองของเราจะต่างจากสหรัฐฯ แต่ก็มีบทเรียนหนึ่งจากประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ครั้งบอกกับเราได้ว่า ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจในอดีตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง คือหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อผลการเลือกตั้งที่ออกมาผิดคาดแบบนี้ ที่ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจและเกิดคำถามถึงความราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้นักลงทุนยังคงชั่งใจและรอความชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง ดังนั้นความพยายามในการหาทางร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงของปัญหาที่อาจเกิดได้จากความไม่แน่นอนนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องหาจุดสมดุลให้ได้

 

หากเรายิ่งยืดเยื้อความคลุมเครือทางการเมืองนี้ออกไป โดยที่วาระของรัฐบาลปัจจุบันก็กำลังลดน้อยลง ในขณะที่ยังหาคำตอบกับทิศทางอนาคตไม่ได้ เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ก็มีความเสี่ยงไม่สดใสเท่าที่ควร แม้สื่อต่างชาติจะรายงานว่าไทยมีเศรษฐกิจเติบโตที่ค่อนข้างดีในไตรมาสแรกของปี 2023 แต่ถ้าดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกับสหรัฐฯ แล้ว ไทยอาจเกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยและเสียเม็ดเงินการลงทุนไป เพราะนักลงทุนหาความชัดเจนไม่ได้

 

อีกหนึ่งบทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ คือการยอมรับในความคิดที่แตกต่าง เพราะมันนำมาสู่การเปิดกว้างทางโอกาสและความเป็นไปได้ที่มากขึ้น แม้บางฝ่ายอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ในเมื่อสังคมที่เราเลือกที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยและประชาชนส่วนมากได้แสดงความประสงค์ของพวกเขาแล้ว จากนี้จึงควรเป็นการเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน โดยไม่พยายามกีดขวางการดำเนินงานของอีกฝ่ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ที่สุดท้ายแล้วคนที่รับผลกระทบก็คือเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่จำเป็นนั่นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising