×

ถอดบทเรียนการคืนสนามของแฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เขาทำอย่างไรเพื่อให้ได้ชีวิตปกติกลับมา

11.05.2021
  • LOADING...
การคืนสนามของแฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

เป็นเวลา 1 ปีกับอีก 2 เดือนที่แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่ของประเทศอังกฤษไม่สามารถเข้ามาเชียร์ทีมรักของตัวเองในสนามได้ หลังจากที่โควิด-19 ได้เริ่มต้นการระบาดอย่างหนักและนำไปสู่การล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมปีกลาย

 

ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทดลองให้แฟนฟุตบอลได้กลับเข้าสนามอีกครั้ง โดยมีการพิจารณาตามสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่จากจำนวนผู้ติดเชื้อ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย (Tier 1) จะสามารถต้อนรับแฟนฟุตบอลทีมเจ้าบ้านได้ 4,000 คน หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อปานกลาง (Tier 2) จะมีผู้ชมได้ 2,000 คน และหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก (Tier 3) จะไม่อนุญาตให้แฟนฟุตบอลเข้าชมในสนาม

 

ช่วงนั้นสถานการณ์การระบาดของอังกฤษเริ่มเบาบางลงแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้มีเพียงแค่ไม่กี่สโมสรเท่านั้นที่ได้ต้อนรับการกลับมาของแฟนบอล และมีจำนวนเพียงแค่ 2,000 คนต่อนัด ก่อนที่แผนการดังกล่าวจะถูกพับไปเพราะสถานการณ์การติดเชื้อรุนแรงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อังกฤษสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะเดินหน้าตาม ‘โรดแมปเพื่อชีวิตปกติ’ ของคนเมืองผู้ดี ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลต้องการคือการคืนความสุขให้แก่ประชาชนด้วยเกมกีฬา 

 

รวมถึงฟุตบอล กีฬาอันดับหนึ่งในดวงใจของคนทั้งประเทศ ซึ่งจะได้กลับคืนสนามอีกครั้งใน 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาลตามการประกาศของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า “เราจะปลดล็อกทางเข้าสนามกีฬาในจำนวนตามความจุของสนามที่จะมีการจำกัดไว้”

 

ว่าแต่เขาทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนได้ชีวิตปกติกลับมา

 

แฟนสนุกเกอร์ได้กลับมาชมคู่ชิงสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกที่ครูซิเบิล เธียเตอร์ เมื่อเดือนที่แล้ว

 

แฟนสนุกเกอร์ได้กลับมาชมคู่ชิงสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกที่ครูซิเบิล เธียเตอร์ เมื่อเดือนที่แล้ว

 

วางแผนอย่างรอบคอบ ก้าวเดินทีละก้าว

รัฐบาลอังกฤษเริ่มทดลองให้แฟนกีฬาเข้ามาชมการแข่งขันได้อีกครั้งโดยเริ่มจากการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกที่ครูซิเบิล เธียเตอร์ เมืองเชฟฟิลด์ ที่ให้มีผู้ชม 980 ในคู่ชิงชนะเลิศระหว่าง มาร์ก เซลบี และ ฌอน เมอร์ฟี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แฟนกีฬาได้กลับเข้าสนามแข่งอีกครั้งอย่างเป็นทางการ

 

“มันเป็นช่วงเวลาที่น่าขนลุกมาก” เอ็มมา วอลดรอน แฟนสนุกเกอร์วัย 40 ปี ที่ได้เข้าชมร่วมกับสามีของเธอกล่าว “การได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งเป็นสิ่งที่สวยงาม ผู้คนเหมือนไม่ได้มีชีวิตเลยแค่อยู่ไปวันๆ นี่ก็หวังว่าจะหมายถึงการที่สิ่งต่างๆ จะกลับมาอีกครั้ง”

 

หลังจากนั้นคือการทดลองเพิ่มจำนวนผู้ชมให้มากขึ้นในแมตช์สำคัญที่ถือเป็น Pilot Events คือเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลคาราบาวคัพ หรือลีกคัพ ระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งเป็นเกมแรกที่แฟนฟุตบอลจากสองสโมสรได้เข้ามาชมเกมพร้อมกัน

 

โดยวันนั้นทั้งสองทีมได้โควตาผู้ชมในจำนวนทีมละ 2,000 คน และอีก 4,000 คนคือประชาชนที่อาศัยในย่านเบรนท์ ใกล้สนามเวมบลีย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข NHS ผู้สมควรได้รับคำขอบคุณต่อการเสียสละอย่างใหญ่หลวง รวมยอด 8,000 คน (แต่มาจริง 7,773 คน)

 

เกมทดสอบอีกครั้งจะมีขึ้นสุดสัปดาห์นี้ในเกมนัดชิงเอฟเอคัพ ระหว่าง เชลซี และ เลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีแฟนฟุตบอลเข้ามามากถึง 21,000 คน​ จากความจุของสนามเวมบลีย์ทั้งหมด 90,000 คนโดยประมาณ

 

 

เสียงเชียร์ที่กลับมา (แค่ 25% ก่อนนะ)

อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จของเกมทดสอบนัดชิงคาราบาวคัพทำให้รัฐบาลอังกฤษสั่งเดินหน้าต่อตามแผนการที่วางไว้ โดยขั้นต่อไปคือเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในสองคู่สุดท้ายของฤดูกาล คือนัดรองสุดท้ายที่มีการเลื่อนไปแข่งในวันที่ 18 พฤษภาคม และนัดปิดฤดูกาลในวันที่ 23 พฤษภาคม เพื่อให้ทุกสโมสรได้ต้อนรับแฟนบอลกลับมาทีมละหนึ่งนัด

 

สำหรับการคืนสนามของแฟนฟุตบอลนั้น รัฐบาลอังกฤษมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแบบขั้นบันได

 

โดยในสองนัดสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกจะให้มีแฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนามได้จำนวน 25% ของความจุสนาม หรือสูงสุดไม่เกิน 10,000 คน อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้สำหรับประเภท ‘สนามกีฬากลางแจ้ง’

 

ทั้งนี้ เดิมแผนการระบุเอาไว้ว่าจะให้ทั้งแฟนบอลทีมเหย้าและทีมเยือนเข้ามาชมในสนามได้พร้อมกัน แต่เพื่อความไม่ประมาทได้มีการปรับแผนให้เหลือเพียงแฟนทีมเจ้าบ้านอย่างเดียวก่อนเพื่อลดความเสี่ยงจากการเดินทางเป็นจำนวนหมู่มากของแฟนฟุตบอล

 

เพราะการปล่อยให้คนเดินทางข้ามเมืองไปมาในช่วงโรคระบาดไม่ต่างอะไรจากการแจกใบอนุญาตให้เชื้อโรคไปเที่ยวได้ เรื่องนี้ไม่มีข้อแม้ใด ซึ่งโลกมีบทเรียนให้เห็นแล้วจากวิกฤตในประเทศอินเดียในช่วงเทศกาลกุมภเมลา ที่ทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด

 

ส่วนแฟนบอลคนใดจะได้ตั๋วเข้าชมบ้างนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสโมสร โดยส่วนใหญ่จะให้สิทธิ์แก่สมาชิกของสโมสรและผู้ถือตั๋วปีที่จะได้สิทธิ์ในการจับสลาก (Ballot) 

 

แต่แฟนทุกคนที่จะเข้าสนามได้นั้นไม่ใช่ถือแค่ตั๋วอย่างเดียวนะถึงจะเข้าได้

 

ต้องมีบัตรอาญาสิทธิ์อีกอย่างด้วย!

 

พาสปอร์ตโควิด ไม่ฉีดวัคซีนไม่ได้เข้า

สำหรับแฟนฟุตบอลที่อยากจะเข้าสนามนั้น นอกจากตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่ต้องพึ่งดวงนั้น อีกสิ่งที่จะช่วยให้เข้าสนามได้คือพาสปอร์ตโควิด (Covid Passport) ซึ่งจะเป็นหลักฐานการยืนยันตัวตนว่าเจ้าของพาสปอร์ตนั้นได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีข้อมูลในระบบสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย

 

อ้อ! และก่อนที่จะไปชมเกม 24 ชั่วโมงจะต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อนด้วย ซึ่งถ้าผลเป็นบวกก็หมดสิทธิ์ไปตามระเบียบ

 

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนว่ายิ่งฉีดเร็วเท่าไรยิ่งดี ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อังกฤษพลิกฟื้นกลับมาได้รวดเร็วเกิดจากความพยายามของภาครัฐ และ ‘ความร่วมมือ’ ของภาคประชาชนที่ทยอยเข้าฉีดวัคซีนทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 อย่างแข็งขันไม่เกี่ยงงอน เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมาพวกเขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหน ไม่สามารถกินข้าวที่ร้าน ไม่สามารถไปนั่งดื่มที่ผับ หรือแม้แต่การพบกับญาติมิตร

 

นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าวัคซีนไม่ได้เพียงแค่จะป้องกันความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยเชื้อไวรัสสุดร้าย สิ่งที่สำคัญมากกว่าในฐานะพลเมืองคือการร่วมกันทำให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

 

ยิ่งฉีดไวเท่าไร ก็จะยิ่งทวงชีวิตปกติที่คิดถึงกลับมาไวขึ้นเท่านั้น

 

หวังว่าบ้านเราจะทำได้เหมือนกันนะ 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

FYI
  • สำหรับสนามกีฬาในร่มจะให้มีผู้ชมได้ 50% ของความจุ หรือไม่เกิน 5,000 คน
  • การแข่งเทนนิสวิมเบิลดัน ในเดือนมิถุนายนคาดว่าจะมีแฟนเทนนิสเข้ามาได้ 25%
  • เป้าหมายต่อไปของอังกฤษคือในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะให้แฟนเข้ามาชมเกมได้ 50% ของความจุ โดยจะเป็นช่วงของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2021 ซึ่งอังกฤษเป็นหนึ่งในเมืองเจ้าภาพ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X