×

บทเรียนวิชาศีลธรรมลูกหนัง เมื่อนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกถูกตั้งคำถามจากสังคม

02.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สโมสรอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, บอร์นมัธ และนอริช ซิตี้ ต่างประกาศพักงานสตาฟฟ์ แต่ไม่กล้าลดเงินนักฟุตบอล
  • PFA ส่งจดหมายถึงนักฟุตบอลทุกคนว่า “PFA ได้ร้องขอที่จะดูสถานะทางการเงินของสโมสรทุกแห่ง ก่อนที่เราจะให้คำแนะนำกับนักฟุตบอลทุกคนว่าพวกเขาควรจะยอมรับข้อเสนอหรือไม่”
  • ในแบบสำรวจของ YouGov 92% เชื่อว่านักฟุตบอลควรต้องลดค่าเหนื่อยของตัวเองในสถานการณ์นี้

มีการกล่าวกันว่า เราจะได้เห็นนิสัยที่แท้จริงของใครก็ตามก็ต่อเมื่อต้องตกอยู่ในยามวิกฤต

 

และเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้เวลานี้เหล่านักฟุตบอลระดับสตาร์พันล้านในพรีเมียร์ลีกกำลังถูกจับตามอง จากการที่พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 อะไรมากมายนักในช่วงเวลานี้ ในขณะที่สตาฟฟ์ของสโมสรบางแห่งกลายเป็นผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบแทนจากคำสั่งของสโมสร

 

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สโมสรอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, บอร์นมัธ และนอริช ซิตี้ ต่างประกาศพักงานสตาฟฟ์เหล่านี้ ซึ่งทำให้สโมสรจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่พวกเขา แต่จะได้รายได้ 80% ของเงินเดือนจากแผนการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางการงานของรัฐบาลอังกฤษ แต่จะได้ไม่เกินคนละ 2,500 ปอนด์ต่อเดือน

 

โดยเฉพาะในกรณีของสเปอร์ส ซึ่งมีการเปิดเผยจากสตาฟฟ์ว่า พวกเขาได้รู้ข่าวร้ายนี้ล่วงหน้าก่อนที่ แดเนียล เลวี ประธานสโมสรจะส่งจดหมายถึงทุกคนแค่ 30 นาที และที่แย่กว่าคือ ในวันเดียวกันนั้นเองมีการเปิดเผยว่า ประธานสโมสรของพวกเขาได้รับเงินก้อนโต 3 ล้านปอนด์ หลังสามารถทำให้สโมสรย้ายสนามใหม่ได้สำเร็จในปีที่แล้ว

 

เรื่องนี้ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัย 2 เรื่อง

 

ประการแรก การที่สโมสรฟุตบอลในระดับสูงสุดของประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีรายรับมหาศาลเลือกที่จะขอรับการช่วยเหลือตามเงื่อนไขนี้เหมาะสมหรือไม่

 

ประการต่อมาคือ แล้วพวกนักฟุตบอลที่มีรายได้มากมายมหาศาล บางคนได้รับปีละหลายล้านปอนด์ ทำไมจึงไม่เคลื่อนไหวช่วยอะไรสังคมบ้าง โดยเฉพาะการยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อให้อย่างน้อยที่สุดสตาฟฟ์ของสโมสรจะไม่ต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ จูเลียน ไนท์ ประธานคณะกรรมการ Digital, Culture, Media and Sport Committee หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้านดิจิทัล, วัฒนธรรม, สื่อ และกีฬาของอังกฤษถึงกับพูดไม่ออก

 

“มันจุกอยู่ในคอ” ไนท์กล่าว “สิ่งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจที่บ้าคลั่งของวงการฟุตบอลอังกฤษ และการไร้ซึ่งศีลธรรมซึ่งอยู่ใจกลางของเรื่องนี้”

 

เป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงอยู่มาก แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่?

 

บรรยาย: สเปอร์สเป็นหนึ่งในทีมที่สั่งพักงานสตาฟฟ์

 

สงครามกลางเมืองพรีเมียร์ลีก VS. PFA

ความพยายามในการที่จะขอให้นักฟุตบอลช่วยยอมลดค่าเหนื่อยของตัวเองลงมีการพูดถึงตลอดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากค่อนข้างแน่ชัดว่าหากไม่มีการยินยอมที่จะลดค่าเหนื่อยของพวกเขาลง หลายสโมสรจะประสบปัญหาเข้าขั้นวิกฤตทันที

 

และการที่สโมสรในระดับพรีเมียร์ลีกวิกฤต จะยิ่งทำให้ความมั่นคงของวงการฟุตบอลอังกฤษสั่นคลอนตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นจากพรีเมียร์ลีกในการเรียกร้องให้นักฟุตบอลยอม ‘เสียสละ’ บ้าง เหมือนที่ได้เห็นในกรณีของบาร์เซโลนา ที่นักฟุตบอลยอมลดค่าเหนื่อยลงถึง 70% ในขณะที่ ยูเวนตุส สตาร์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ คริสเตียโน โรนัลโด ก็ยอมที่จะไม่รับเงินค่าตอบแทนเป็นเวลา 4 เดือนด้วยกัน

 

สิ่งที่พรีเมียร์ลีก รวมถึง EFL ซึ่งกำกับดูแลลีกอาชีพที่รองจากพรีเมียร์ลีกต้องการเห็นคือ นักฟุตบอลทุกคนตกลงร่วมกันที่จะลดค่าเหนื่อยของตัวเองลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ทุกสโมสรสามารถประคับประคองตัวได้ในช่วงนี้ โดยที่ไม่ใช่แค่การ ‘ชะลอจ่ายเงิน’ ด้วย

 

แต่ปรากฏว่าการเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้การตอบรับที่ดีนัก เมื่อทางด้านสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (PFA) ซึ่งเป็นเหมือนหน่วยงานที่ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่นักฟุตบอลอาชีพที่เป็นสมาชิกขององค์กรทุกคนพยายามยื่นมือเข้ามาแทรก

 

PFA ส่งจดหมายถึงนักฟุตบอลทุกคนว่า “PFA ได้ร้องขอที่จะดูสถานะทางการเงินของสโมสรทุกแห่ง ก่อนที่เราจะให้คำแนะนำกับนักฟุตบอลทุกคนว่าพวกเขาควรจะยอมรับข้อเสนอหรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะยอมรับหรือเซ็นเอกสารใดๆ จากสโมสรของท่าน สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดคือการที่ทุกคนควรจะได้มีการร่วมพูดคุยปรึกษากับทาง PFA แล้ว”

 

ท่าทีดังกล่าวของ PFA ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่นักฟุตบอลเองยังไม่มีท่าทีใดๆ มากนัก และโดยส่วนใหญ่ที่ได้เห็นคือ นักฟุตบอลเองก็พยายามช่วยเหลือสังคมในแบบที่พวกเขาพอจะช่วยเหลือได้อยู่ เช่น การรณรงค์ต่างๆ (ยกเว้นกรณีของ แจ็ค กรีลิช ที่น่าอับอาย), การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรืออื่นๆ

 

แต่ก็มีการพูดถึงกันว่าสโมสรเองแม้จะอยากให้ลดค่าเหนื่อย แต่ก็ไม่กล้าที่จะหักดิบมากนัก เพราะหวั่นว่านักฟุตบอลอาจจะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างว่าสโมสรได้กระทำผิดต่อสัญญาและหาเรื่องย้ายทีมในอนาคต

 

เพื่อหาทางออกร่วมกันจึงมีการประชุมกันระหว่างพรีเมียร์ลีก EFL และ PFA รวมถึงสมาคมผู้จัดการทีม หรือ LMA เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

 

น่าเสียดายที่ไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่ชัดเจนไปกว่าเรื่องของการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าสุขภาพของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล, โค้ช, ผู้จัดการทีม, สตาฟฟ์ หรือแฟนบอลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฟุตบอลจะกลับมาแข่งกันอีกครั้งต่อเมื่อทุกอย่างปลอดภัยพอที่จะทำได้

 

พวกเขาขอเก็บประเด็นใหญ่ในเรื่องรายได้ของผู้เล่น รวมถึงเรื่องกรอบเวลาที่จะกลับมาทำการแข่งขันต่อในฤดูกาล 2019-20 เอาไว้สำหรับการประชุมใหญ่ในวันศุกร์

 

วันที่จะเป็นการชี้ชะตาสำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษ

 

คนที่แข็งแรงกว่าก็ควรช่วยแบกรับ

ต่อเรื่องนี้ทางด้าน ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ให้ความเห็นในรายการวิทยุ BBC Radio 5 Live ว่า เหล่านักฟุตบอลที่อยู่ในลีกสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าควรจะเป็นคนที่เสียสละและช่วยแบกรับในเรื่องนี้

 

“ในความเห็นของผมแล้วคนที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นคนที่ยื่นมือช่วยเหลือมากที่สุดเสมอ

 

“นักฟุตบอลที่ได้รับค่าตอบแทนสูงนั้นสามารถที่จะช่วยแบ่งเบาได้มาก และพวกเขาก็ควรจะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ยื่นมือมาทำ ด้วยการยอมเสียสละค่าตอบแทนอย่างสมเกียรติ มากกว่าที่จะให้คนที่ขายหนังสือโปรแกรม หรือคนที่ทำอาหาร หรือคนที่ไม่มีโอกาสจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเดียวกับที่นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้รับต้องเป็นคนเสียสละก่อน

 

“ควรจะเป็นพวกเขาที่เอาหัวไหล่ไว้ให้คนอื่นได้พักพิง เพราะพวกเขาสามารถจะช่วยได้มาก พวกเขาน่าจะมีเงินเก็บอย่างน้อยก็ต้องมากกว่าคนที่ทำงานในโรงครัวหรือคนที่ทำงานต้อนรับ ซึ่งอาจจะไม่มีเงินเก็บเลย และใช้ชีวิตแบบสัปดาห์ชนสัปดาห์ หรือคนที่อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลยเป็นเวลา 5 สัปดาห์”

 

ขณะที่ ไนท์ แสดงความกังวลว่า การที่สโมสรฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกทำนั้นสะท้อนให้เห็นว่าแผนช่วยเหลือนี้กำลังถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ

 

“มันไม่ใช่สิ่งที่แผนนี้ถูกออกแบบมา มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะทำให้สโมสรสามารถจะจ่ายเงินนักฟุตบอลหลายแสนปอนด์ ในเวลาเดียวกับที่พวกเขาพักงานสตาฟฟ์ที่ได้รับเงินค่าตอบแทนแค่ไม่กี่ร้อยปอนด์”

 

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือท่าทีของพวกเขาที่นิ่งเฉยทำให้พรีเมียร์ลีกและฟุตบอลอังกฤษต้องมัวหมองโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

 

ลดค่าเหนื่อย! เมื่อคนอังกฤษตะโกนบอกแข้งพรีเมียร์ลีก

เรื่องนี้ความเห็นจากภาครัฐยังไม่หนักแน่นเท่าความเห็นของประชาชนคนเดินถนน ซึ่งในยามปกติแฟนฟุตบอลคือ ‘นักเตะหมายเลข 12’ ที่ช่วยหนุนหลังพวกเขามาโดยตลอด

 

ในการสำรวจความคิดเห็นโดย YouGov Sport Survey เกี่ยวกับเรื่องของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ‘นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกควรที่จะลดค่าเหนื่อยของตัวเองหรือไม่’

 

92% ของคนที่ร่วมทำแบบสำรวจเห็นควรว่าต้องลด มีแค่ 3% คิดว่าไม่จำเป็น และอีก 6% ไม่มีความเห็น

 

แล้วอยากให้ลดเท่าไร?

 

ในผลสำรวจปรากฏว่า 67% ของผู้ทำสำรวจเห็นว่า สัดส่วนค่าตอบแทนที่อยากให้ลดมากที่สุดคือ 50% หรือลดค่าเหนื่อยลงครึ่งหนึ่ง

 

นอกจากนั้นก็เป็นสัดส่วนที่หลากหลาย 80% ก็มี, 20% ก็มา และมีจำนวนหนึ่งที่คิดว่านักฟุตบอลคนจะงดรับค่าเหนื่อยทั้ง 100% ในช่วงเวลานี้

 

อย่างไรก็ดี หากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว การที่พวกเขายังไม่ได้ยอมตกลงที่จะลดค่าเหนื่อยในเวลานี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขา ‘ไม่แคร์’

 

แต่เพราะมันกระทบกับชีวิตของพวกเขาไม่ต่างจากคนอื่น และมันก็ไม่มีกฎระเบียบข้อใดที่บังคับว่าหากมีโรคระบาดแล้วจะต้องยอมลดค่าเหนื่อยลงจำนวนที่กำหนด ดังนั้นนักฟุตบอลเองก็มีสิทธิ์ที่พึงกระทำในการไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจลงไป เหมือนที่ ลิโอเนล เมสซี ชี้แจงการลดค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลบาร์ซาว่าล่าช้านิดหน่อย เพราะอยากหารือว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุดในยามยากลำบากนี้

 

อย่าลืมว่าพวกเขาเองก็ตกอยู่ใต้ความกดดัน เพราะอาจต้องยอมกลับมาลงสนามอีกครั้ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ของโรคอาจจะไม่จบแม้จะผ่านไปอีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมของวงการฟุตบอลอังกฤษเดินหน้าต่อไปได้

 

แต่จะดีกว่านี้ถ้าพวกเขากล้าที่จะก้าวออกมาข้างหน้าและทำตัวเป็น ‘แบบอย่างที่ดี’ เหมือนที่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ บอก

 

“เรารู้ดีว่าบางครั้งเราก็เป็นฮีโร่ แต่ในเวลานี้เราควรจะเป็นกองหนุน เจ้าหน้าที่ NHS และหน่วยบริการสาธารณสุขพวกเขาคือฮีโร่ตัวจริงในเวลานี้ และผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เราในฐานะนักฟุตบอล เราควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี”

 

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเมื่อการประชุมทุกฝ่ายเสร็จสิ้นในวันศุกร์ เราน่าจะได้ยินข่าวดีของการเสียสละครั้งใหญ่ของนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

ต่อให้มาช้าก็ดีกว่าไม่มาเลยว่าไหม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ตามกฎหมายแล้ว ถึงจะเป็นภาระของรัฐที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ 80% แต่สโมสรมีสิทธิ์จะจ่ายส่วนต่างที่เหลืออีก 20% ซึ่งบอร์นมัธและนอริชยืนยันว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายให้สตาฟฟ์ทุกคน
  • ก่อนหน้านี้ ลิเวอร์พูล เป็นหนึ่งในทีมที่ประกาศว่าจะจ่ายเงินให้กับสโมสรอย่างเดิม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X