หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ฝนดาวตกลีโอนิดส์’ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในปีนี้กลุ่มดาวสิงโตจะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 1.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ดังนั้นในช่วงเวลา 2.00 น. จนถึงรุ่งเช้า จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด
นอกจากนี้คืนดังกล่าวยังตรงกับคืนเดือนมืด ไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างมาก โดยจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง แม้ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกดังกล่าวจำนวนไม่มากนัก และเห็นในปริมาณน้อย แต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศในอัตราความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ผู้สนใจจึงสามารถชมความงามของปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยตาเปล่า
สำหรับสถานที่ชมฝนดาวตก สดร. แนะนำว่าควรเป็นสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไร้แสงไฟรบกวน วิธีชมที่สบายที่สุดคือการนอนรอชม เนื่องจากจุดศูนย์กลางของฝนดาวตกจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี
ทั้งนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55P/Tempel-Tuttle ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า ‘ราชาแห่งฝนดาวตก’