ในปี 2018 Lego ยักษ์ใหญ่ด้านของเล่นเด็กได้ออกมาประกาศเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าหลักทั้งหมดจากวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2030
เพราะที่ผ่านมา Lego ปล่อยคาร์บอนประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี และประมาณ 1 ใน 3 มาจากการผลิตวัสดุ ซึ่ง Lego ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกได้ประมาณ 1.1-1.2 แสนล้านชิ้นต่อปี โดย 95% ทำจากอะคริโลไนไตรล์ บิวทาไดอีน สไตรีน (ABS) ซึ่งเป็นพลาสติกบริสุทธิ์ที่ทำจากน้ำมันดิบ
แต่สิ่งที่ Lego ต้องเผชิญคือความท้าทายในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนซึ่งต้องสามารถอยู่ได้นานหลายปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปี
“สำหรับเรา ความท้าทายมาจากความต้องการวัสดุที่ทนทานและปลอดภัยพอที่จะรองรับเด็กในแต่ละวัน และสามารถขึ้นรูปได้อย่างแม่นยำตามแบบที่มีอยู่ ที่สำคัญคือตัวต่อที่ผลิตในปัจจุบันจะเข้ากับตัวต่อที่ผลิตมากว่า 60 ปีที่ผ่านมาได้ด้วย” ทิม บรูกส์ (Tim Brooks) รองประธานฝ่ายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของ Lego Group กล่าว
“วัสดุรีไซเคิลที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ตรงตามเกณฑ์เหล่านี้ เราไม่สามารถใช้พวกมัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัสดุเพื่อให้มั่นใจว่าตรงตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ Lego โดยพื้นฐานแล้ว เราจำเป็นต้องค้นหาวัสดุใหม่ทั้งหมดสำหรับผลิตภัณฑ์ของเรา”
หลังจากความพยายามหลายปีในการค้นหาวัสดุที่ยั่งยืนและการทดสอบมากกว่า 250 สูตร ล่าสุด Lego ได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า ได้มีการพัฒนาตัวต่อต้นแบบที่ทำจากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ได้สำเร็จแล้ว โดยมีการเพิ่มสารเคมีอื่นๆ จนทำให้ตัวต่อมีคุณสมบัติตามที่ต้องการคือ มีความแข็งแรง ไม่เปลี่ยนรูปร่างแม้อยู่ในรถร้อน และตัวต่อสามารถใช้แทนกันได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์ Lego อื่นๆ
บรูกส์กล่าวว่า แหล่งที่มาของวัสดุรีไซเคิลต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อน ดังนั้น Lego จึงหันมาใช้ PET เกรดอาหาร โดยเบื้องต้นจะนำขวดน้ำอัดลมจากสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตชิ้นส่วนของเล่นพลาสติกใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการระบุว่า เหตุที่ไม่นำพลาสติกที่เก็บได้จากมหาสมุทรมาใช้ใหม่เป็นเพราะไม่เหมาะสมเนื่องจากวัสดุเสื่อมโทรมเกินไป
รองประธานฝ่ายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของ Lego Group กล่าวต่อว่า “Lego ต้องการผลิตของเล่นที่ทำจากขวดเครื่องดื่มรีไซเคิลให้เร็วที่สุด โดยการทำความสะอาด (ขวด) และทำให้มันกลายเป็นปราสาทฮอกวอตส์เป็นสิ่งที่ท้าทาย” เขากล่าว
ขั้นต่อไปทีมงานจะทำการทดสอบวัสดุใหม่ต่อไปอย่างน้อยหนึ่งปี รวมไปถึงการเพิ่มสีสันให้กับตัวต่อต้นแบบและทดสอบกับเด็กและผู้ใหญ่ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเริ่มการทดสอบสำหรับผลิตจริงหรือไม่
โดย BBC รายงานว่า Lego ประเมินภายใน 2 ปี จะมี ‘ตัวต่อ’ ที่ทำจากขวดเครื่องดื่มรีไซเคิลไปวางขายบนชั้นวางสินค้าได้
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: