×

ลีเซียนลุง ร่วมประณามการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในเมียนมา หวังว่าปัญญาชนจะได้รับชัยชนะอย่างที่เคยเป็นมา

03.03.2021
  • LOADING...
ลีเซียนลุง ร่วมประณามการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในเมียนมา หวังว่าปัญญาชนจะได้รับชัยชนะอย่างที่เคยเป็นมา

วานนี้ (2 มีนาคม) นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์ แสดงความเห็นเป็นครั้งแรกต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยกองทัพในเมียนมา โดยให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว BBC ร่วมประณามการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ชี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และหวังว่าปัญญาชนจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอีกครั้งอย่างที่เคยเป็นมา

 

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ นำพาพวกเขาย้อนกลับไปในช่วงปี 1988 ที่เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่และการก้าวขึ้นมามีอำนาจของกองทัพ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ก่อนที่พวกเขาจะรู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเสื่อมถอยลง นำไปสู่การวางโรดแมปเพื่อปูทางไปสู่การเป็นประชาธิปไตย แม้เราต่างสงสัยในกระบวนการเหล่านั้น แต่พวกเขาก็จริงจังและเดินหน้าสู่เป้าหมายอย่างเป็นระบบ ท้ายที่สุดก็มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น และพรรคของ ออง ซาน ซูจี ก็ได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน

 

แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในระบบการเมืองของเมียนมา จึงนำไปสู่การถอยหลังกลับและยึดอำนาจโดยกองทัพอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้หรือไม่ก็ตาม นั่นคือการถอยหลังลงเหวสำหรับพวกเขา เพราะไม่มีอนาคตสำหรับการเลือกเส้นทางนี้ พวกเขาต่างรู้ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น

 

การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไร้อาวุธจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ คุณพยายามที่จะปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลข่าวสารมีอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง ประชาชนชาวเมียนมารู้ว่าใครยืนอยู่เคียงข้างพวกเขาบ้าง ถ้าเขามองว่ารัฐบาลไม่ได้ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับเขา รัฐบาลนั้นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่ใหญ่มากๆ

 

การจับกุมและควบคุมตัว ออง ซาน ซูจี ประธานาธิบดีวิน มินต์ และสมาชิกรัฐบาล รวมถึงตั้งข้อหาให้พวกเขา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ คุณจำเป็นต้องถอยหลัง ปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี เจรจากับเธอและทีมของเธอเพื่อปูทางไปสู่การสร้างสันติภาพในเมียนมา

 

ผมมองว่าบุคคลภายนอกมีผลต่อสถานการณ์นี้น้อยมาก คุณสามารถตัดสิทธิ์พวกเขาได้ ประณามพวกเขาได้ และมีมติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มีผลน้อยมากๆ ต่อการตัดสินใจของเมียนมาว่าพวกเขาจะทำอะไร เมื่อแทบไม่มีใครอยากจะพูดคุยกับพวกเขา พวกเขาจึงถอยกลับไปมองหาคนที่เคยพูดคุยกันอย่างเช่นจีน และอาจรวมถึงอินเดีย สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความอึดอัดใจให้กับพวกเขา แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้พวกเขาต้องทำในสิ่งที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือแม้แต่อาเซียนอยากที่จะให้พวกเขาทำ”

 

ก่อนที่นักข่าว BBC จะถามผู้นำสิงคโปร์ว่า “สิ่งที่คุณกำลังจะบอกคือให้เปิดพื้นที่พูดคุยมากกว่าที่จะคว่ำบาตรกันใช่ไหม การพิจารณาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมาก่อนความกังวลทางด้านมนุษยธรรมหรือไม่”

 

“ผมไม่คิดว่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากการค้ากับเมียนมาจะมีความสำคัญมากขนาดนั้น เพราะมูลค่าการค้าไม่มากนักสำหรับสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ถ้าคุณตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตร ใครที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่กองทัพเมียนมาหรือบรรดานายพลที่จะได้รับความเสียหาย แต่จะเป็นประชาชนชาวเมียนมาที่จะถูกพรากอาหาร ยารักษาโรค สิ่งของจำเป็น รวมถึงโอกาสในการศึกษา เราจะช่วยทำให้สถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้นได้อย่างไร

 

ผมหวังว่าปัญญาชนจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเหมือนครั้งที่ผ่านมา และตั๊ดมาดอว์ (กองทัพเมียนมา) จะพบกับบทสรุปว่าการเดินตามเส้นทางของกองทัพไม่ได้นำพาให้ก้าวไปไหน พวกเขาจะต้องร่วมกันหาทางออกกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

 

สิ่งเลวร้ายทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 1988 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงเหตุความรุนแรงในการประท้วงเมื่อปี 2007 ผมคิดว่าปัญญาชนจะสามารถชนะได้ในท้ายที่สุด แม้อาจจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Suhaimi Abdullah / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising