เลบานอนกำลังเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาในระดับ ‘วิกฤตการณ์ทางการเงิน’ ที่ลุกลามจนนำไปสู่ความเสี่ยงที่อาจทำให้ประเทศเข้าสู่สถานะ ‘ล้มละลาย’ ในขณะที่ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ประเมินว่า วิกฤตของเลบานอนครั้งนี้นับเป็น 1 ใน 3 ของวิกฤตการเงินโลกที่เลวร้ายที่สุด
ในความเป็นจริงแล้วปัญหาของเลบานอนไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน โดยมีปัญหาสำคัญคือเรื่องของการคอร์รัปชัน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Transparency International เปิดเผยดัชนี Corruption Perceptions ซึ่งสะท้อนถึงการคอร์รัปชันและจัดอันดับประเทศที่มีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันมากที่สุด ปรากฏว่า ในปี 2564 เลบานอนได้คะแนน 24 จาก 100 รั้งอันดับ 154 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ของประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด และหากเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านั้นจะเห็นว่าคะแนนของเลบานอนก็ลดลงมาถึง 6 คะแนน
หลังสงครามกลางเมืองเลบานอน (ปี 2518-2533) สิ้นสุดลง นักการเมืองจากแต่ละฝ่ายพยายามรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเองผ่านระบบอุปถัมภ์ โดยปัจจัยหนึ่งที่แบ่งแยกเลบานอนออกเป็นฝักฝ่ายคือศาสนาที่แตกต่างกัน ซึ่งในเลบานอนมีนิกายทางศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ 18 นิกายด้วยกัน แบ่งเป็นศาสนาคริสต์ 12 นิกาย ศาสนาอิสลาม 4 นิกาย นิกายดรูซ และศาสนายิว
บทความที่เกี่ยวข้อง
จาก ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออกกลาง’ สู่ประเทศหนี้สินบานเบอะ
ก่อนหน้านี้เลบานอนเคยได้รับฉายาว่า ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออกกลาง’ ด้วยการเป็นประเทศเป้าหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะสัมผัสหิมะ ขณะเดียวกันเลบานอนยังเคยเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ด้วยการบริหารประเทศที่ผิดพลาด ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างไปจากสิ่งที่ต้องการจะเป็น
นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือโครงสร้างทางการเงินของเลบานอนที่เอื้อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Nationally Regulated Ponzi Scheme’ หรือแชร์ลูกโซ่ที่ถูกรับรองโดยรัฐบาลเสียเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลได้กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ก่อนหน้า
ขณะที่นักการเมืองยังคงไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 นักการเมืองยังคงใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายผ่านหน่วยงานภาครัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง และทำให้เงินบริจาคจากต่างประเทศที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญหดหายไป
ส่วนแหล่งรายได้อื่นๆ ที่สำคัญของเลบานอนมาจากการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเงิน และส่วนแบ่งจากกลุ่มประเทศอาหรับ ในขณะที่แหล่งที่มาของเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้าประเทศมาจากชาวเลบานอนนับล้านคนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนจะส่งเงินกลับมายังบ้านเกิด แต่การส่งเงินกลับมาในประเทศเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2554 หลังจากปัญหาภายในระหว่างแต่ละกลุ่มศาสนาที่รุนแรงมากขึ้น
หนี้สาธารณะพุ่งแตะ 183% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ความไม่สอดคล้องกันในแง่ของรายจ่ายและรายได้ของประเทศส่งผลให้ปัญหารุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง หนี้สาธารณะของเลบานอนพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าสูงถึง 183% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินสูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ซูดาน และกรีซ
เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของเลบานอนในปี 2564 ที่ประเมินกันว่าพุ่งขึ้นมากว่า 145% มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเวเนซุเอลาและซูดาน นอกจากนี้รัฐบาลยังคาดการณ์ว่าระบบการเงินของเลบานอนต้องขาดทุนไปประมาณ 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ นำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจกว่า 60% ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
แม้ว่าล่าสุดเลบานอนจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ IMF หลังเจรจามา 2 ปี เพื่อขอกู้เงินช่วยเหลือ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมานั้น เงินกู้เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้เลบานอนหลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยง่าย แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญของประเทศ
ในมุมของ ซารอจ คูมาร์ จาฮ์ ผู้อำนวยการประจำฝ่ายตะวันออกกลางของธนาคารโลก บอกว่า ที่ผ่านมาเลบานอนเผชิญกับวิกฤตมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุด และเป็น 1 ใน 3 วิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี เลบานอนยังมีความหวังจากแผนในการปฏิรูปที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นาจิบ มิคาติ แต่หากแผนดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เศรษฐกิจของเลบานอนจะหดตัวอย่างหนัก และนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม
จาฮ์เชื่อว่า การปฏิรูปครั้งนี้ต้องรวมเอาทั้งส่วนของเงินกู้ การชำระหนี้ การรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร รวมถึงการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม
อ้างอิง:
- https://today.lorientlejour.com/article/1288712/lebanon-places-154th-out-of-180-countries-in-transparency-internationals-annual-corruption-perceptions-index.html
- https://www.middleeastmonitor.com/20220404-world-bank-the-lebanese-crisis-is-among-the-three-worst-crises-in-the-world/
- https://www.washingtonpost.com/politics/2019/10/22/lebanons-economic-crisis-didnt-happen-overnight-so-how-did-it-get-this-point/
- https://www.arabnews.com/node/2056856/middle-east
- https://asiatimes.com/2020/02/switzerland-of-the-middle-east-unravels/