×

Leaving Neverland สารคดีการกล่าวล่วงละเมิดทางเพศของ Michael Jackson กำลังสะท้อนอะไรให้สังคม?

12.03.2019
  • LOADING...
Leaving Neverland

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Leaving Neverland เป็นสารคดีของผู้กำกับชาวอังกฤษ แดน รีด ที่เคยอยู่เบื้องหลังสารคดี อาทิ Three Days of Terror: The Charlie Hebdo Attacks (2016), The Paedophile Hunter (2014) และ Terror in Mumbai (2009)
  • Leaving Neverland คือการไปสัมภาษณ์ เวด ร็อบสัน และ เจมส์ เซฟชัค พร้อมครอบครัว เกี่ยวกับเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของไมเคิล ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตอนที่ทั้งคู่ยังเป็นเด็กช่วงปลายยุค 80 ถึงกลางยุค 90

ตั้งแต่ดูสารคดี Leaving Neverland จบ ผมนั่งคิดอยู่นานว่าควรเขียนถึงเรื่องนี้ไหม หรือลืมๆ มันไป เพราะสำหรับผมแล้ว ไมเคิล แจ็คสัน คือวีรบุรุษอันดับหนึ่งตั้งแต่จำความได้ และไม่มีใครเทียบเท่า

 

เขาคือบุคคลที่ตอนอายุ 3 ขวบ ผมคลั่งไคล้อัลบั้ม Dangerous มากจนแทบไม่สนใจดูการ์ตูน และทุกวันต้องดูวิดีโอ VHS ชื่อ Michael Jackson-Dangerous-The Short Films

 

คือบุคคลที่ตอน 6 ขวบ ผมต้องลาโรงเรียนครึ่งวัน เพื่อให้คุณแม่พาไปดูคอนเสิร์ต HIStory World ที่ลานกลางแจ้งเมืองทองธานี

 

คือบุคคลที่ผมร้องไห้กระวนกระวายตอนที่เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2009

 

และคือบุคคลที่ผมได้ใช้แพลตฟอร์ม THE STANDARD ในฐานะบรรณาธิการแฟชั่นและคัลเจอร์ สร้างสรรค์บทความและวิดีโอยกย่องเขาอยู่เสมอ

 

แต่พอผมอ่านข่าวของสื่อต่างประเทศช่วงนี้ ทุกสำนักต่างเขียนถึงสารคดีเรื่องนี้ในแง่มุมต่างๆ และแม้แต่ในหัวของผมจะวนเวียนไปด้วย “เขียนดีไหม?”, “อย่าเลย เดี๋ยวดราม่า”, “ไมเคิลคือแรงบันดาลใจสำคัญสุดของมึงนะคริส”, “เขียนแบบตื้นๆ เล่าเป็นอัปเดตพอ จบ”…แต่สุดท้ายผมตัดสินใจว่าต้องเขียน และถ้าถามว่าทำไม? ก็ถ้าสำนักข่าวของผมจะยืนหยัดด้วยสโลแกนที่ว่า ‘Stand Up For The People’ และเราหยิบประเด็นที่อยู่ในกระแสมาพูดถึงเสมอ สารคดีเรื่องนี้ก็ถือว่าสำคัญมาก และเป็นมากกว่า ‘สารคดี’ มากกว่าแค่ ‘ข่าวในหมวดบันเทิง’ เพราะสารคดี Leaving Neverland กำลังขับเคลื่อนและสะท้อนถึงสังคมอย่างมหาศาล และทำให้เห็นว่า แม้แต่เราที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 กับการจากไปของราชาเพลงป๊อป แต่เขายังมีบทบาทอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

ผมขอพูดตรงนี้ก่อนว่า บทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่า ‘ผมเชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ สิ่งที่ เวด ร็อบสัน และ เจมส์ เซฟชัค ได้เล่าถึงเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น และผมก็เข้าใจดีว่า บทความนี้อาจสร้างความโกธรแค้นต่อแฟนเพลงหลายคนของไมเคิล แบบที่คิดว่าผมเอามีดแทงข้างหลังฮีโร่ของผม และได้เขียนคอมเมนต์ กดปุ่มหน้า Angry หรือแชร์ด่าผมเรียบร้อย เพราะเราอยู่ในยุคของการเสพข่าวที่ว่า คนแค่อ่านชื่อบทความหรือแคปชันประกอบก็เอาไปวิพากษ์วิจารณ์ได้แล้ว

 

ตัวอย่าง Leaving Neverland (2019)

 

Opinion-Leaving Neverland_content

ไมเคิล แจ็คสัน กับ เจมส์ เซฟชัค

Photo: Courtesy of HBO

 

Leaving Neverland เป็นสารคดีของผู้กำกับชาวอังกฤษ แดน รีด ที่เคยอยู่เบื้องหลังสารคดี อาทิ Three Days of Terror: The Charlie Hebdo Attacks (2016), The Paedophile Hunter (2014) และ Terror in Mumbai (2009) โดยโครงสร้าง Leaving Neverland คือการไปสัมภาษณ์ เวด ร็อบสัน และ เจมส์ เซฟชัค พร้อมครอบครัว เกี่ยวกับเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของไมเคิล ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตอนที่ทั้งคู่ยังเป็นเด็กช่วงปลายยุค 80 ถึงกลางยุค 90 โดยเล่าตั้งแต่การเจอไมเคิลครั้งแรก, ความหลงใหลในราชาเพลงป๊อป, ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น, พูดถึงกิจกรรมทางเพศแบบหมดเปลือก, ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจ และทำไมทั้งคู่ออกมาเปิดโปงประเด็นและกล่าวหาไมเคิลในตอนนี้

 

สารคดีจะมีการเน้นบทสัมภาษณ์คุณแม่ของทั้งคู่ในแต่ละประเด็น ซึ่งสารคดีจะแทรกฟุตเทจ ภาพถ่ายเก่าๆ และมีการถ่ายภาพประกอบกับภาพจากโดรนแสดงทิวทัศน์บ้านเกิดของทั้งคู่ และสถานที่ที่มีการกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น เช่น บ้านของไมเคิลในเนเวอร์แลนด์ ที่อยู่เมืองซานตาบาร์บารา และคอนโดที่เซ็นจูรีซิตี้ในลอสแอนเจลิส

 

แต่ผมต้องระบุเพิ่มอย่างชัดเจนว่า สารคดีนี้อยู่บนบรรทัดฐานของการเล่าความเพียงข้างเดียว และทาง แดน รีด ตัดสินใจที่จะไม่สัมภาษณ์ครอบครัว ไมเคิล แจ็คสัน ลูกๆ ของเขา ทีมทนายความ หรือแม้แต่ผู้ชายคนอื่นที่เคยตกเป็นประเด็นกับไมเคิล โดยแดนให้เหตุผลว่า มีเพียงแต่เวดและเจมส์ที่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นภายในห้องนอนกับไมเคิล และสารคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นในปี 1993 และ 2005 แต่เป็นการเล่าถึงประสบการณ์ของทั้งคู่เท่านั้น ส่วนผู้ชายทั้งคู่และครอบครัวก็ไม่ได้เงินหรือส่วนแบ่งกำไรจากสารคดีเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

สารคดี Leaving Neverland เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่ออกฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเพราะความฉาวของการบรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ นักวิจารณ์บางคนก็ถึงขั้นบอกว่า รู้สึกไม่สบายใจ และทางผู้จัดงานต้องยกระดับความปลอดภัยในรอบปฐมทัศน์ เพราะกลัวกลุ่มแฟนคลับออกมาประท้วง โดยต่อมาทางช่อง HBO และช่อง Channel 4 ในอังกฤษ ได้ซื้อลิขสิทธ์ิไปฉายเป็นสารคดีความยาว 4 ชั่วโมง แยกเป็น 2 ตอน ซึ่งก็ทำให้หน่วยงาน Michael Jackson Estate ที่ดูแลผลงานและทรัพย์สินของไมเคิล ออกมาขู่ฟ้อง HBO สูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทาง HBO ก็ยังคงฉายต่อ และสารคดีเรื่องนี้ได้เรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของสารคดีที่มีคนดูสูงสุดผ่านทาง HBO

 

Opinion-Leaving Neverland_content

บ้าน Neverland Ranch ที่ซานตาบาร์บารา

 

กระแสก่อน Leaving Neverland ไปฉายที่ Sundance Film Festival 2019

 

ก่อนที่จะเริ่มดูสารคดี ในฐานะแฟนคลับของไมเคิล คดีล่วงละเมิดทางเพศของเขาเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 1993 กับคดีของ จอร์แดน แชนด์เลอร์ เด็กชายอายุ 13 ปี ที่จบลงด้วยการตกลงยอมความนอกศาล พร้อมจ่ายเงิน 22-25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปิดคดี รวมถึงคดีในปี 2005 ของ เกวิน อาร์วิโซ เด็กชายอายุ 13 ปี ที่ผลตัดสินออกมาว่า ไมเคิลไม่มีความผิดทั้ง 14 ข้อหา โดยใน 2 คดีนี้ เวด ร็อบสัน เองก็ได้ออกมาปกป้องไมเคิล และในคดีปี 2005 เขายังเป็นหนึ่งในพยานคนสำคัญของไมเคิล คู่กับนักแสดง แม็กเคาเลย์ คัลกิน จากหนัง Home Alone อีกด้วย ส่วน เจมส์ เซฟชัค ในปี 1993 ก็ได้ให้ปากคำกับตำรวจ เพื่อปกป้องไมเคิล และคดีในปี 2005 เขาขอไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้น แต่การที่ 2 คนจะมาพูดว่า ตัวเองโดนไมเคิลล่วงละเมิดทางเพศหลังผ่านการเสียชีวิตของเขาไปกว่า 9 ปี ก็แน่นอนที่ผู้คนสงสัยว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไร และมีเจตนาอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เพราะอย่างเวดเองก็เคยฟ้องหน่วยงาน Michael Jackson Estate ในปี 2013 และเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในชั้นศาล

 

แต่พอดูสารคดี Leaving Neverland ทั้ง 4 ชั่วโมงจบ และกลับไปทบทวนความรู้สึกตัวเองที่มีทั้งความเย็นชา เศร้า โกรธ และสับสน ผมบอกตัวเองว่า เราต้องลอยเหนือดราม่า เราต้องไม่มานั่งเล่นเกมจับผิดไมเคิล เพราะเขาคงไม่ลุกออกมาจากหลุมฝังศพ เพื่อชี้แจงและปกป้องตัวเองเหมือนครั้งก่อนๆ เราต้องแยกแยะให้ออกว่าถึงแม้เรื่องนี้จะถูกแต่งขึ้นมาหมด หรือเป็นความจริงทั้งหมด หรือจะ 50/50, 80/20 คุณค่าของสารคดีนี้จริงๆ แล้วอยู่ที่การเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก

 

มีสถิติยืนยันว่า มากกว่าร้อยละ 70 ของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมีอายุน้อยกว่า 17 ปี และเด็กผู้ชายในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 1 ใน 6 คนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมผมจึงชื่นชอบรายการพิเศษของ โอปราห์ วินฟรีย์ ชื่อ Oprah Winfrey Presents: After Neverland ที่ฉายทางช่อง HBO และ OWN เพราะในสารคดีชิ้นนี้ โอปราห์ได้สัมภาษณ์ทั้งเวด, เจมส์ และแดน พร้อมผู้ชมในห้องส่งที่เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมด แต่โอปราห์ไม่ได้เลือกที่จะมากดขี่หรือพยายามวาดภาพว่า ไมเคิลเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่ผิด แต่เลือกที่จะเน้นถึงภาพรวมของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และทำให้เราเข้าใจขบวนการและขั้นตอนต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการรับมือกับปัญหานี้ ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน หรือผู้ที่ถูกกระทำ

 

แต่ก็แน่นอนว่าการที่โอปราห์เลือกที่จะชูประเด็นนี้ขึ้นมาโดยใช้ Leaving Neverland เป็นตัวดำเนินรายการ เธอก็ต้องรับได้ว่าเรตติ้งมีสิทธ์ิลดลง และคนกลุ่มหนึ่งก็จะมองเธอเป็นนางมารร้ายที่พยายามเกาะกระแส เพราะไมเคิลเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้สำหรับคนกลุ่มนี้ แถมโอปราห์เองก็เคยสัมภาษณ์ไมเคิลในปี 1993 และกลายเป็นหนึ่งในการสัมภาษณ์ที่มีผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 90 ล้านคน ช่วงที่ไมเคิลต้องคดีการล่วงละเมิดทางเพศครั้งแรก ซึ่งโอปราห์เองเคยเปิดเผยต่อมาว่าชื่นชอบไมเคิลมาก หลังสัมภาษณ์เสร็จ เธออยากเป็นเพื่อนของเขา เพราะความจริงใจ

 

https://www.youtube.com/watch?v=p5n-VWR6NFc

รายการ Oprah Winfrey Presents: After Neverland

 

ครอบครัวแจ็คสันออกมาปกป้องไมเคิลที่รายการ CBS This Morning

 

มากไปกว่านั้น สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการดูสารคดีนี้คือ ถึงแม้เรื่องพวกนี้มันง่ายมากสำหรับคนที่จะคอมเมนต์และต่อว่ากัน (ถ้าเชื่อเรื่องนี้) ในทำนองว่า “แล้วทำไมตัวแม่ไม่ปกป้องเด็ก” หรือ “ทำไมเด็กไม่บอกพ่อแม่เลย” หรือ “ไมเคิลกล้าทำได้อย่างไร” แต่หากคุณไม่เคยประสบด้วยตัวเองหรืออยู่ในจุดเดียวกัน คุณไม่มีวันรู้ถึงความละเอียดอ่อน ความซับซ้อน และความที่เหตุการณ์เหล่านี้มันอาจทำลายจิตใจและร่างกายในทางที่ต่างกันออกไปได้หรอก ทั้งยังทำให้เราตัดสินใจที่จะทำอะไรลงไปที่ต่างกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะอะไร

 

ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงผมตอบคุณไม่ได้ว่าเลือกข้างใคร และไม่สนใจที่จะฟันธงด้วยซ้ำ เพราะผมไม่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผมไม่เคยเป็นนักร้องที่ถูกยกย่องว่าเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ และผมไม่เคยเป็นแม่คน แต่สิ่งที่ผมทำได้คือ นำแก่นปัญหาที่สารคดีต้องการพูดถึงเกี่ยวกับภัยของการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิต ทั้งเป็นบทเรียนในการให้ความรู้ตัวเอง ลูกหลานในอนาคต หรือคนไทยด้วยกันเอง ปัญหานี้ไม่เคยเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ไม่เคยเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เพราะสังคมเราไม่แตกต่างจากอีกหลายประเทศ ที่เลือกจะหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ เพราะมองว่ามันฉาวเกินไป

 

บทเรียนสุดท้ายที่ผมอยากทิ้งทายไว้กับสารคดี Leaving Neverland ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวสารคดีเอง แต่เกิดจากผลกระทบที่ตามมาหลังสารคดีเรื่องนี้ออกฉาย นั่นคือการที่ช่องวิทยุ BBC 2 ในอังกฤษได้ระงับการเปิดเพลงของ ไมเคิล แจ็คสัน, แอนิเมชันซีรีส์ The Simpsons ก็ประกาศจะถอดตอน Stark Raving Dad ที่ไมเคิลเคยไปพากย์เสียงบนทุกแพลตฟอร์ม และยอดขายเพลงของไมเคิลตกลง 4% ในสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยอดสตรีมมิงเพลงเขากลับเพิ่มขึ้น 6% และตอนนี้ก็มีแฟนคลับไมเคิลออกมาประท้วง ตั้งแต่ลอนดอนที่มีการซื้อป้ายโฆษณาบนรถบัสของเว็บไซต์ MJ Innocent ยันแฟนคลับจีนไปประท้วงที่กำแพงเมืองจีนในกรุงปักกิ่ง

 

ถ้าถามว่าทำไมถึงสารคดีหนึ่งเรื่อง (ที่เราไม่มีวันรู้ว่าเหตุการณ์จริงหรือไม่ เพราะคนที่ถูกกล่าวหาเสียชีวิตไปแล้ว) กลับกลายมาเป็นจุดชี้ชนวนเหล่านี้ได้ ผมก็ต้องบอกว่า เพราะเราอยู่ในยุคที่การเป็น ‘คนของประชาชน’ มาพร้อมกับความแปรปรวนขั้นสุด ที่เราพร้อมเทิดทูน รัก สนับสนุนเต็มที่ จ่ายทุกบาททุกสตางค์ และในขณะเดียวกันก็พร้อมเหยียบย่ำหากทำอะไรผิดพลาด

 

นับตั้งแต่เหตุการณ์ #MeToo และคดีการล่วงละเมิดทางของ ฮาร์วีย์ เวียนสเตียน ที่เกิดขึ้นในปี 2017 ถึงแม้ผมเองจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้อย่างเต็มหัวใจ แต่เราก็พบว่า ใครก็ตามที่โดนกล่าวหา จะถูกสังคมประณามในทันที และยากที่จะกู้คืนชื่อเสียงกลับมาได้เหมือนเดิม ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต้องเข้าใจว่า นางเอกในดวงใจ พระเอกซิกแพ็กที่เรารอกดไลก์ สมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลี หรือศิลปินที่เราเคยติดโปสเตอร์ไว้ในห้องนอนตอนเด็ก พวกเขาล้วนเป็นมนุษย์เหมือนเรา เดินบนเส้นทางชีวิตเหมือนเรา และพวกเขาก็อยากมีชีวิตบนดิน ที่มีทั้งด้านดำ ขาว เทา เหมือนเราทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคืออะไร

 

และถ้าถามว่า ต่อไปผมจะยังฟังเพลงของ ไมเคิล โจเซฟ แจ็คสัน ไหม? ถามว่า เขายังเป็นฮีโร่ที่สุดในดวงใจไหม? คำตอบคือ ‘แน่นอน’ เพราะสำหรับผม ถึงแม้ผู้ชายคนนี้จะทำอะไรกับผู้ชายเหล่านี้ในห้องนอน (ที่ผมได้แต่ภาวนาว่าไม่จริงตามข้อกล่าวหา) แต่สำหรับผม มันไม่สามารถลบล้างความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อผมกับไมเคิล ด้วยการฟังเพลง Man In The Mirror เป็นพันๆ รอบ เพื่อใช้เป็นสิ่งที่บรรเทาจิตใจและผลักดันชีวิตให้เดินต่อไป หรือการที่อีก 40-50 ปีข้างหน้า ผมจะเปิดคลิปให้หลานๆ ดูการแสดงเพลง Billie Jean ที่งานครบรอบ Motown 25 ปี และบอกว่า “นี่แหละคือมาตรฐานของศิลปิน”

 

Opinion-Leaving Neverland_content

แฟนคลับ ไมเคิล แจ็คสัน ออกมาประท้วงที่กำแพงเมืองจีน

Photo: Courtesy of Keen Zhang / twitter.com/mkgenie

 

Opinion-Leaving Neverland_content

รถบัสที่ลอนดอน ซึ่งเว็บไซต์ MJ Innocent ได้ระดมทุนผ่าน Go Fund Me

Photo: www.gofundme.com/MJ-INNOCENT

 

ภาพเปิด: Michael Jackson กับ Wade Robson / Courtesy of HBO

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X