×

Learn to Earn: เผชิญโจทย์โลกยุคใหม่ มุ่งให้การเรียนรู้นำทาง สร้างโอกาสตลอดชีวิต ด้วยแนวคิดมูลนิธิ SCG

14.07.2022
  • LOADING...
มูลนิธิ SCG

ลำพังการศึกษา (Education) อาจไม่เพียงพอต่อการเอาชีวิตรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 และโจทย์ใหญ่ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

 

THE STANDARD ชวนผู้อ่านมาทบทวนความสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปกับ ‘สุวิมล จิวาลักษณ์’ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิ SCG ผู้ผลักดันให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้

 

“59 ปีที่ผ่านมา เราเน้นเรื่องการให้ทุนการศึกษาเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ขาดแคลนโอกาส เพราะเราเชื่อว่าทุกคนควรได้รับการศึกษา เมื่อมีความรู้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาครอบครัวตัวเองได้ อย่างน้อย การศึกษาจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ประกอบอาชีพ และลดช่องว่างของความความยากจน” สุวิมลกล่าว

 

มูลนิธิ SCG

 

‘Education is the Greatest Equalizer’ เมื่อการศึกษาทำให้คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตอย่างถ้วนหน้า

ความรู้เป็นทุนของมนุษย์ที่ช่วยให้เด็กไม่ว่ายากดีมีจนสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงจำเป็นต้องให้โอกาสทางการเรียนรู้อย่างถ้วนหน้า สุวิมลเป็นห่วงว่าโลกในศตวรรษที่ 21 มีโจทย์ให้คนรุ่นใหม่ต้องรีบพัฒนาตนเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมในเรื่องของทุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพ ปวช., ปวส. หรือกลุ่มอุดมศึกษา ก่อนที่จะมีจะมีเยาวชนหลุดหายไปจากห้องเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

จากสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาทำให้เด็กไทยกว่า 1.9 ล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ผลการวิจัยพบว่า ในปีที่ผ่านมา อัตราการสูญเสียการเรียนรู้อยู่ที่ประมาณ 1.27 ปี คิดความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลนิธิจึงพยายามบรรเทาความรุนแรงด้วยการให้ทุนการศึกษา และตระหนักดีว่าปัญหาการศึกษาไทยไม่อาจแก้ไขได้ด้วยมูลนิธิเพียงลำพัง จึงได้มีการร่วมมือ (Collaboration) ไปยังหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อการศึกษาอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

 

“เราไปคุยหน่วยงานที่ดูแลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาอย่าง กสศ. เพราะเขามีสถิติและข้อมูลเก็บไว้ว่ามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเท่าไร เราก็ขอไปเจอกับเยาวชนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเด็กที่เรียนอยู่ ม.3 หรือ ม.6 ซึ่งเขากำลังจะเคว้งคว้าง จบ ม.3 ไม่มีเงินเรียน ม.4 จบมัธยมแล้วไม่รู้จะไปไหนต่อ ก็ไปนั่งคุยกันว่าเราพอจะมีงบประมาณบางส่วนที่จะช่วยพวกเขาต่อยอดได้”

 

สุวิมลอดเสียดายไม่ได้หากเยาวชนที่มีศักยภาพถูกตัดโอกาสเพียงเพราะเรื่องของเงินทุน ตนจึงได้ติดต่อกับทางกระทรวงศึกษาธิการและเครือข่ายนักพัฒนาสังคมในแต่ละจังหวัด เพื่อจัดหาโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพของตนเองได้ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

การสนับสนุนเยาวชนทั้งในระดับอุดมศึกษาและเสี่ยงต่อการหลุดจากการศึกษาของมูลนิธิสอดคล้องกับงานศึกษาวิจัย การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่ระบุกลุ่มเป้าหมายของการเรียนรู้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กนอกระบบและเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา, นักศึกษาระดับอุดมศึกษา, กำลังแรงงาน และผู้สูงอายุ

 

มูลนิธิ SCG

 

สุวิมลตระหนักดีว่าความรู้กว้างขวางและใหญ่เกินกว่าห้องเรียนจะบรรจุไว้ได้ ทำให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนและการมีทักษะชีวิตย่อมสำคัญไม่แพ้กัน จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตอบโจทย์พลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

“เมื่อก่อน เราอาจจะเคยเชื่อว่าการเรียนในห้องเรียนมีเพียงรูปแบบเดียวที่จำเป็นและเหมาะกับทุกคน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป รูปแบบการเรียนรู้ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ยิ่งโลกไร้พรมแดน ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น น้องๆ เยาวชนเองก็รู้จักตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน”

 

นอกจากการมอบทุนการศึกษาเพื่อสร้างทักษะทางวิชาชีพแล้ว การส่งเสริมทักษะชีวิต เพื่อจุดประกายการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ก็สำคัญไม่แพ้กัน มูลนิธิ SCG จึงผนึกกำลังร่วมกับ GMMTV จัดแคมเปญ ‘CLASS of 21st’ เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์และพัฒนาทักษะการเข้าสังคม โดยนำกลุ่มศิลปินคนรุ่นใหม่ 3 รุ่น 3 สไตล์จาก GMMTV มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และทำความเข้าใจ ‘ทักษะแห่งอนาคต’ ทั้งยังมีกลุ่มคนเจเนอเรชันรุ่นเก๋า รุ่นกลางอย่าง ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม และ ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร เป็นต้น ร่วมตบเท้าเข้ามาเป็นเมนเทอร์คอยแนะแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนรุ่นใหม่

 

สุวิมลทราบดีว่าตนเป็นเจเนอเรชันรุ่นก่อนหน้าที่ห่างกับคนรุ่นใหม่อย่างมาก จะให้ไปชี้นำชี้แนะสิ่งใดด้วยตนเองเด็กคงไม่เข้าใจ เพราะมีชุดความรู้ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการจะพัฒนาเด็ก ไม่อาจสื่อสารด้วยคน Gen Z หรือ Alpha เพียงอย่างเดียว เพราะสภาพแวดล้อมของเด็ก ต่างมีทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างวัย คนเหล่านี้มีอิทธิพลในการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นจำเป็นต้องคิดหาการสื่อสารไปยังคนต่างรุ่นที่อยู่รอบตัวเด็กอีกด้วย

 

“การจัดองค์ความรู้บางอย่าง เช่น การจัดการเทคโนโลยี การเข้าสังคม การสื่อสาร ฯลฯ ถ้าจะให้ไปบอกโต้งๆ ให้เด็กทำด้วยภาษาของคนรุ่นพี่ เด็กก็คงไม่ฟัง เพราะชุดความรู้เราคนละชุด เราก็เลยต้องไปอาศัยอินฟลูเอนเซอร์ที่เด็กยอมรับมารวมกลุ่มและสร้างเป็น Information Hub”

 

การตัดสินใจเลือกสื่อสารผ่านศิลปินดารา Gen X และ Gen Y มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารไปยังครอบครัวของคุณรุ่นใหม่ ให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยทัศนคติที่ว่าการส่งเสริมเยาวชนไม่จำกัดอยู่ที่การสื่อสารกับคน Gen Z แต่เป็นการสื่อสารไปยังคนทุกเจนรอบตัวคนรุ่นใหม่

 

“กลายเป็นว่าวงสนทนานี้มันหลอมรวมคนทุกเจนได้ดีมากเลย เราจึงอยากสื่อสารกลับไปหาครอบครัวว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นตัวแทนจากป๋าเต็ด หรือคุณป๋อมแป๋มก็ได้ แม้จะเป็นคนต่างรุ่นแต่เขาก็สามารถพูดคุยกันบนเรื่องเดียวกันได้ และไม่มีการแบ่งว่านี่เป็นความคิดของคนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า พี่ว่าความเป็นเจเนอเรชันมันอยู่ที่ความคิดมากกว่าอายุ ทุกคนเป็นเจเนอเรชันเดียวกันได้”

 

มูลนิธิ SCG

 

สร้างโอกาสให้ทุกศักยภาพเป็นจริงได้

สุวิมลระบุว่าการสื่อสาร (Communcation) ค่านิยมใหม่ไปยังสังคมเองก็สำคัญ และต้องทำควบคู่ไปกับการร่วมมือกับองค์กรอื่น ตนเห็นว่าสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย หรือไม่จำเป็นต้องเรียนคณะตามค่านิยม คนที่เรียนสายอาชีพเองก็สามารถสร้างงานได้เช่นกัน เพียงแต่ยังขาดการยอมรับจากสังคม และการสนับสนุนด้านเงินทุนที่เพียงพอ 

 

“เราไม่ใช่รัฐบาล ที่จะแก้ปัญหาการศึกษาได้ทั้งหมด แต่ในฐานะมูลนิธิเพื่อการศึกษาเรามุ่งสื่อสารแนวคิดว่า มันไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี การเรียนจบ ปวช., ปวส. ก็สามารถต่อยอดในสายอาชีพและเลี้ยงชีพตนเองได้”

 

ข้อมูลกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในยุคที่ทุกความรู้สามารถค้นหาได้เพียงแค่ปลายนิ้ว สุวิมลระบุว่า ครูแนะแนวในหลายโรงเรียนยังขาดข้อมูลในการแนะแนวทางต่อยอดในการประกอบอาชีพ ทั้งที่ในยุคนี้อาชีพนั้นมีหลากหลายมากกว่าแต่สมัยก่อนมากๆ ทำให้ความฝันของเด็กถูกลดทอนความหลากหลายลง รวมถึงพ่อแม่หลายท่านยังไม่กล้าส่งเสริมให้ลูกได้เรียนในสายอาชีพ และเลือกที่จะผลักดันให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีวุฒิปริญญามากกว่า

 

“ส่วนหนึ่งการสื่อสารไปยังพ่อแม่หรือครูแนะแนวก็สำคัญ เพราะพ่อแม่อาจจะยังมีค่านิยมเดิมๆ อยู่ว่าการเรียนสายอาชีพอาจไม่เพียงพอ พี่มองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเติบโตของสายอาชีพที่ไม่รอบด้าน”

 

สุวิมลกล่าวว่า จุดเด่นของคน Gen Z คือพวกเขากล้าคิด กล้าแสดงออก แต่ด้วยพื้นที่ในการแสดงความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัดในอดีต ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเองได้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันกรุงเทพฯ พยายามสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้เฉิดฉายเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น สยาม หรืองานดนตรีตามสวนต่างๆ รวมไปถึงทางมูลนิธิ SCG ได้สร้างพื้นที่ New Gen Space: Space for All Generations ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงตัวตนเช่นเดียวกัน

 

สุวิมลชื่นชมว่า เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถแปลกแตกต่างไปจากค่านิยมสมัยก่อน หลายคนมีทักษะทางวิชาชีพที่โดดเด่น แถมยังสร้างเม็ดเงินให้กับตัวเองได้อีกด้วย บ้างเกมเมอร์ที่คว้ารางวัลระดับโลก บ้างก็แรปเปอร์ชื่อดังอย่าง สไปร์ท-ศุกลวัฒน์ พวงสมบัติ ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยผ่านเพลง ‘ทน’ ที่มียอดวิวในยูทูบกว่า 3 ล้านวิว และตอนนี้สไปร์ทก็ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สร้างแรงบันดาลใจในโครงการ ‘Idol I Do’ ของมูลนิธิ SCG

 

มูลนิธิ SCG

 

อีกหนึ่งในคนที่สุวิมลประทับใจมากที่สุดคือ เด็กชายคนหนึ่งที่บ้านเกิดอยู่ที่ภาคอีสาน ชื่อ โย-โยธิน บุญยงค์ เติบโตมากับครอบครัวที่ทอผ้าไหมเป็นธุรกิจ โยได้เรียนต่อทางด้านคหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ ในอุตสาหกรรมผ้าไหมที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมกัน โยได้คิดริเริ่มลายผ้าไหมที่แปลกใหม่และทันสมัย เพื่อตีตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนได้รับรางวัลพระราชทานในโครงการคัดเลือกนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาดีเด่น ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

“พี่เคยซื้อผ้าไหมจากน้อง ผืนละ 6,000 บาท จากปกติอาจจะมีมูลค่าแค่ 2,000 บาท เขายังเรียน ปวช. อยู่เลย เขาสามารถสร้างรายได้แล้ว แต่เงินก้อนไม่ได้เพียงแค่ตัวเขา แต่พ่อแม่และชุมชนของเขาก็ได้รับไปด้วยเช่นกัน ตอนนี้เขาก็เป็นหนึ่งใน Idol I Do ด้วย…เหล่านี้เป็นผลจากการให้ความรู้ ให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างถูกที่ถูกทาง” 

 

ทั้งนี้ สุวิมลย้ำว่า การลงทุนกับการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ไม่อาจสำเร็จได้ในเพียงแคมเปญเดียว แต่ต้องใช้ระยะเวลานานร่วมกับความใส่ใจเพื่อให้ผลผลิตแห่งการศึกษาออกมามีคุณภาพมากที่สุด ด้วยพันธกิจที่มุ่งหวังพัฒนาคนให้ ‘เก่ง’ และ ‘ดี’ ตามวิถีพลเมืองโลกในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

ปัจจุบันมูลนิธิได้มอบทุนการศึกษาภายใต้แนวคิด Learn to Earn ไปแล้วทั้งสิ้น 1,700 ทุน ด้วยเงินกว่า 40 ล้านบาท โดยเป็นทุนการศึกษาในระดับ ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งในปี 2565 มูลนิธิได้มีเป้าหมายมอบทุนการศึกษาทั้งสิ้น 245 ทุน ประกอบด้วย

 

  • ทุนการศึกษาอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ จำนวน 150 ทุน
  • ทุนเพื่อนักเรียนที่มีความสามารถ/ความเชี่ยวชาญ (ระดับอุดมศึกษา) จำนวน 45 ทุน
  • ทุนระยะสั้นเพื่อการมีอาชีพ จำนวน 50 ทุน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising