×

คิดให้ดีก่อนซื้อกิน ‘ฉลาดซื้อ’ พบตะกั่ว-แคดเมียมปนเปื้อน ‘สาหร่ายทะเลอบกรอบ’ 11 ใน 13 ตัวอย่าง

โดย THE STANDARD TEAM
18.01.2019
  • LOADING...

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบจากการสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลอบกรอบจำนวน 13 ตัวอย่าง ใน 12 ยี่ห้อ เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่วและแคดเมียม

 

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ผลการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์สาหร่ายอบกรอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว ได้แก่ สาหร่ายย่างกรอบปรุงรสแผ่นยักษ์รสดั้งเดิม ตราเอ็มแอนด์เค และสาหร่ายทะเลอบกรอบรสดั้งเดิม ตรากินจัง ส่วนอีก 11 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของตะกั่ว แต่ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สาหร่ายทะเลอบกรอบ (มผช.515/2547) ที่กำหนดให้การปนเปื้อนของตะกั่วสูงสุดได้ไม่เกิน 1 มก. ต่ออาหาร 1 กก. (1 มก./กก.)

 

 

ส่วนผลตรวจวิเคราะห์แคดเมียมพบว่า มีการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง แต่มี 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คือ สาหร่ายทะเลปรุงรสอากิโนริชนิดแผ่น ตรากินจัง พบปริมาณแคดเมียม 2.34 มก./กก. ซึ่งตามประกาศ อย. เรื่องกำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อที่ 1 (5) กำหนดให้สาหร่ายพร้อมบริโภคในสภาพแห้งสามารถตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียมได้สูงสุดไม่เกิน 2 มก./กก. (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561) อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สาหร่ายทะเลอบกรอบ (มผช.515/2547) ที่กำหนดให้สามารถพบปริมาณแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.2 มก./กก. ปรากฏว่า ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียมในกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์สาหร่ายอบกรอบนั้นไม่ผ่านมาตรฐานทุกตัวอย่าง

 

ทั้งนี้ หากได้รับโลหะหนักทั้งสองชนิดในปริมาณมาก ก็จะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย โดยความเป็นพิษของตะกั่ว มีทั้งอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง คือ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน ซึม ชัก เป็นอัมพาต ไม่รู้สึกตัว และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการดูดซึมตะกั่วในลำไส้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนแคดเมียมอาจส่งผลต่อปอด ตับ ไต กระดูก ระบบสืบพันธุ์ หลอดเลือดหัวใจ และเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

 

 

นางสาวมลฤดีกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องการปนเปื้อนของโลหะหนักแล้ว ปริมาณโซเดียมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเมื่อดูข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ส่วนใหญ่ระบุข้อมูลปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ 2,400 มก. ทั้งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณการบริโภคโซเดียมสูงสุดใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 มก. (เกลือ 1 ช้อนชา) ซึ่งจากการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณสาหร่ายที่ 100 กรัม พบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ สาหร่ายทอดสไตล์ญี่ปุ่นรสคลาสสิก ตราเถ้าแก่น้อย ปริมาณโซเดียม 468 มก./ 100 กรัม ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ สาหร่ายทะเลปรุงรส (รสเผ็ด) ตราหมีแพนด้า มีปริมาณโซเดียม 9,230 มก.

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. ตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นจริงแล้วมาตรฐานของ อย. ควรจะต้องดีกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากใช้ควบคุมทั้งโรงงานผู้ผลิตและสินค้านำเข้า ดังนั้น จึงขอเสนอให้ อย. ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานแคดเมียมในผลิตภัณฑ์สาหร่ายพร้อมบริโภคให้ดีเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้ผู้บริโภค

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising