แม้ผมจะทำงานตำแหน่งบรรณาธิการแฟชั่นของ THE STANDARD POP และได้มีโอกาสร่วมงานอีเวนต์มากมายกับฝั่งเสื้อผ้าของ CHANEL แต่ก็ต้องยอมรับว่าความทรงจำแรกเกี่ยวกับแบรนด์นี้คงไม่ใช้เรื่องสูทผ้าทวีตหรือรองเท้าทูโทนที่ผมต้องเขียนถึงเป็นประจำ แต่กลับคือเรื่องราวน้ำหอม เพราะจำได้ดีว่าคุณย่าที่สวีเดนจะฉีดกลิ่น CHANEL N°5 อยู่เป็นประจำช่วงค่ำคืนที่ต้องออกงานสังสรรค์ หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือช่วงปลายวัยรุ่นตอนปี 2010 ผมก็ได้ขอให้คุณพ่อซื้อน้ำหอมกลิ่นBleu de CHANEL ช่วงออกใหม่ๆ เป็นของขวัญคริสต์มาส เพราะตอนนั้นยังไม่เงินซื้อเอง โดยเหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญทำไมผมถึงรู้สึกอินกับโลกน้ำหอมของ CHANEL มาตลอด ซึ่งไม่ได้ถูกเชื่อมโยงเพราะกลิ่นที่หอมอบอวล แต่เพราะมันย้ำเตือนช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของผม
ซึ่งล่าสุดพอ CHANEL Beauty ได้ชวนผมให้ร่วมทริปเดินทางไปยังกรุงปารีสเพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการน้ำหอมสุดพิเศษส่งท้ายปี LE GRAND NUMÉRO DE CHANEL ผมเลยตื่นเต้นมากๆ เพราะจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสและไปเรียนรู้เรื่องราวของอาณาจักรบิวตี้และน้ำหอมของ CHANEL อย่างจริงจัง
สำหรับงานนิทรรศการ LE GRAND NUMÉRO DE CHANEL จัด ณ อาคาร Grand Palais Éphémère ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานชั่วคราวของอาคาร Grand Palais ที่กำลังปรับปรุงซ่อมแซมสำหรับมหกรรมโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นในช่วงซัมเมอร์ปี 2024 ซึ่ง CHANEL ก็เป็นผู้สนับสนุนหลักของการบูรณาการในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากผ่านการสแกนเช็กความปลอดภัยแล้ว เราก็จะพบเจอกับทางเข้านิทรรศการ ซึ่งทั้งสองข้างก็ประดับด้วยพื้นหลังที่เป็นการนำรูปแบบของแพ็กเกจจิ้งขาวดำสไตล์มินิมัลของน้ำหอมไลน์ LES EXCLUSIFS DE CHANEL มาใช้ โดยไฮไลต์ตรงโซนทางเข้าก็จะมีริงมาสเตอร์หัวหน้าละครสัตว์มาทำการแสดงเชิญชวนและอุ่นเครื่องให้คนเตรียมตัวเพื่อประสบการณ์ครั้งใหม่ข้างใน พร้อมมีวงโยธวาทิตมาเล่นเพื่อสร้างความครึกครื้นอีกด้วย
พอเดินเข้ามาในโซนหลักของนิทรรศการแล้วเราก็จะเจอกับห้องโถงใหญ่ที่เนรมิตให้ดูเหมือนเป็น ละครสัตว์ (Circus) ที่ตระการตาสุดเท่าที่เคยเห็นมา โดยจะล้อมรอบด้วยสิงโตยักษ์สีขาวที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำของ CHANEL พร้อมกับมีแดนเซอร์สไตล์ Contemporary มาทำการแสดงด้วย
ส่วนตรงกลางโถงก็จะมีเหมือนเป็นเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ทรงกลมที่ประดับล้อมรอบไปด้วยใบไผ่ยักษ์ต่างๆ ที่จัดเรียงเป็นไทม์ไลน์ เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญของน้ำหอม CHANEL หรือเหตุผลทำไมถึงชื่อของกลิ่นสำคัญ อย่างเช่นน้ำหอมกลิ่น 1957 ในไลน์ LES EXCLUSIFS DE CHANEL ก็ได้ช่ีอมาจากปีที่ Gabrielle Chanel ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้เดินทางไปยังเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพื่อไปรับรางวัล Neiman Marcus Fashion Award ซึ่งทาง Olivier Polge นักปรุงน้ำหอมประจำของแบรนด์ก็ได้ตีความแบบแอ็บสแตรกต์ออกมาเมื่อปี 2019 ว่าเหตุการณ์นั้นจะเปรียบออกมาได้กลิ่นแบบไหน เหมือนกับกลิ่น 1932 ที่เป็นปีแรกที่ Gabrielle Chanel เปิดตัวไลน์เครื่องประดับชั้นสูงครั้งแรกในชื่อ BIJOUX DE DIAMANTS
จบจากประสบการณ์ของห้องโถงตรงกลางก็ถึงเวลาได้เข้าไปศึกษาแต่ละโซน ซึ่งคุณจะเริ่มจากตรงไหนก็ได้เลย ไม่ได้จำกัดว่าต้องเรียงยังไง ซึ่งผมก็เริ่มที่โซน CHANEL N°5 ที่ต้องบอกว่ามีพื้นที่ใหญ่สุดและสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยพอเดินเข้าไปก็จะพบการจำลองเหมือนโครงสร้างโบสถ์ในหมู่บ้าน Aubazine ที่ทาง Gabrielle Chanel ได้เติบโตมาเป็นเด็กกำพร้าและถูกเลี้ยงดูโดยแม่ชี ซึ่งจะมีกิมมิกสองแทรกด้วยการใช้ Projector Mapping ที่ฉายขึ้นสูงไปเพดาน
จบจากตรงนี้ก็จะมีการแยกเป็นจุดต่างๆ ที่เล่าเกี่ยวกับกลิ่น CHANEL N°5 ในหลากหลายแง่มุม ทั้งเรื่องส่วนผสมที่คิดค้นโดย Ernest Beaux, การวิวัฒนาการของตัวขวด, ผลงานศิลปะที่ถูกอินสไปร์โดยน้ำหอมเบอร์หนึ่งของแบรนด์ ซึ่งมีภาพ Silkscreen ของ Andy Warhol ให้ชมกันด้วย, แคมเปญโฆษณาตั้งแต่ยุคที่ Gabrielle Chanel เป็นนางแบบเองจนถึงตอนนี้กับ Lily-Rose Depp และก็ยังมีคนมาสาธิตการทำเทคนิค Baudruchage บนขวดรุ่นพรีเมียม ซึ่งมีแค่ 6 คนเท่านั้นทั่วโลกที่ทำได้!
มาที่ห้องโซนที่สองก็คือการโฟกัสไปที่น้ำหอม CHANEL CHANCE ที่ครบ 20 ปีพอดี หลังเปิดตัวครั้งแรกเมือปี 2002 จากการรังสรรค์ของ Jacques Polge คุณพ่อของ Olivier Polge ซึ่งก็ต้องบอกว่าแตกต่างจาก CHANEL N°5 สุดๆ เพราะโซนนี้จะเด็กลงและเต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน ซึ่งหากถามว่าน้ำหอมกลิ่นไหนของ CHANEL เหล่า Gen Z ควรเริ่มใช้ก็ต้องเป็นอันนี้ โดยเข้าไปในโซนก็จะเจอกับการจำลองแบ็กสเตจของโรงละครแห่งหนึ่งที่ก็สอดคล้องกับตัวโฆษณาของกลิ่นนี้ที่ทางช่างภาพแฟชั่นสุดไอคอนิกอย่าง Jean-Paul Goude ได้ทำไว้อย่างน่าจดจำ ซึ่งหลังจากผ่านโซนแบ็กสเตจก็จะเจอโซนคล้ายคาสิโนที่มีเกมต่างๆ ให้เสี่ยงโชคลุ้นรางวัลต่างๆ ด้วย
‘
โซนที่ 3 ก็พูดถึง Bleu De Chanel ไลน์น้ำหอมสุภาพบุรุษที่ติด Top 5 น้ำหอมผู้ชายที่ขายดีสุดของโลกตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2010 ซึ่งห้องนี้ก็เล่นกับความเป็นคนเมือง Metropolis และคอนเซปต์ดนตรี โดยมีการจำลองเหมือนเป็นโมเดลเมืองขึ้นมาที่เต็มไปด้วยตึกสูงและมีจุดต่างๆ ให้สนุกกันกด Soundboard ของดีเจ ส่วนพอเดินไปด้านหลังก็จะพบกับบาร์ Speakeasy ที่มีเครื่องเล่น Jukebox และมีบาร์เทนเดอร์ 3 คนที่มาให้ดมแก้วที่มีกลิ่นของ Bleu De CHANEL เวอร์ชัน EDT, EDP และก็ Parfum
แต่ก็ต้องบอกว่าส่วนตัวพอเข้ามาถึงห้องนี้ก็แอบทำให้เศร้าเล็กน้อย เพราะทำให้นึกถึง Gaspard Ulliel นักแสดงชื่อดังที่เป็นพรีเซนเตอร์ของน้ำหอมไลน์นี้ ซึ่งได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเล่นสกีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งโฆษณาที่เขาแสดงของ Bleu De CHANEL ก็มาถ่ายที่กรุงเทพฯ ด้วย
โซนถัดมาก็คือน้ำหอมไลน์ LES EXCLUSIFS DE CHANEL ที่ตามชื่อมีความเอ็กซ์คลูซีฟ ขายเฉพาะแค่บางบูติก และตอนนี้ประกอบไปด้วย 18 กลิ่น หลังได้เริ่มทำไลน์มาตั้งแต่ปี 2007 กับ 10 กลิ่น โดย Jacques Polge ซึ่งความพิเศษของโซนนี้ก็คือ มีเซสชันให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำแบบสอบถามเชิงเจาะลึกเพื่อจะช่วยหากลิ่นที่ใช่ที่สุดสำหรับคุณ ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่นึกมาก่อนด้วยซ้ำว่าเหมาะกับกลิ่นอะไร อย่างเช่นผมเองก็มาเจอว่าชอบกลิ่น Jersey เป็นพิเศษ แม้ก่อนหน้านี้จะชอบ Boy มาตลอด
ปิดท้ายด้วยโซนน้ำหอมไลน์ Coco Mademoiselle อีกหนึ่งน้ำหอมสุดคลาสสิกของ CHANEL ที่เด่นด้วยความเป็นกลิ่นฟลอรัลและตัวท็อปโน้ตเป็นส้ม ซึ่งหลายคนก็น่าจะผ่านตามาบ้างกับแคมเปญที่ได้ Keira Knightley มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ โดยโซนนี้เราคิดว่าทาง Thomas du Pré de Saint Maur ที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้ก็คงอยากให้ Instagram Friendly สุดๆ มีหลายจุดเหมาะกับการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ทางเขาที่เป็นฮอลเวย์ทางเดินผนังสีชมพูพาสเทลที่เต็มไปด้วยกราฟฟิตี้และมีไฟแชนเดอร์เลียคริสตัลห้อยลงมาจากด้านบน จนถึงพาร์ตที่เหมือนข้างในยานอากาศที่จะมีการนำเสื้อผ้าและแอ็กเซสซอรีจากคอลเล็กชัน Ready-to-Wear มาแขวนให้ชื่นชมกัน แถมยังมีโทรศัพท์แบบโบราณให้ยกหูเพื่อฟังเสียงของ Gabrielle Chanel อีกด้วย
ก่อนจะกลับ นิทรรศการ LE GRAND NUMÉRO DE CHANEL ก็ยังมีร้านกิฟต์ช็อปชื่อ CHANEL LA BOUTIQUE ที่ขายน้ำหอมครบทุกกลิ่นและมี Box Set ที่หาที่ไหนไม่ได้ แถมยังมีสินค้าที่ทำมาพิเศษเพื่องานนี้อย่างกระดานหมากรุก แผ่นไวนิล หรือสำรับไพ่
ถ้าให้พูดถึงความรู้สึกโดยร่วมของการได้มาสัมผัสนิทรรศการนี้ก็ต้องบอกว่าประทับใจตรงที่ว่า CHANEL ทำให้เห็นว่าอาณาจักรน้ำหอมของตัวเองมีชั้นเชิง มีเรื่องราว และสะท้อนความก้าวหน้าและความแตกต่างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นดีเอ็นเอสำคัญของ Gabrielle Chanel มาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยก็ต้องดูต่อไปว่าทางแบรนด์จะเดินหน้าไปทิศทางไหนเพื่อยังคงโชว์ศักยภาพในการเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการน้ำหอมระดับพรีเมียมลักชัวรีเหมือนที่ทำมาตลอด 101 ปี