ช้อปออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่คนไทยทำเป็นประจำไปแล้ว ล่าสุด Lazada ได้เผยอินไซต์ที่เกิดขึ้นในปี 2565 ที่ผ่านมา
“Lazada ยังคงมุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความสำเร็จของทุกแคมเปญในปีนี้ รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง LazLive+, LazLOOK และ LazBEAUTY” ดร.วีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าว
จากอินไซต์พบว่า ผู้ชมฟีเจอร์ LazLive และ LazLive+ รวมเกือบ 300 ล้านวิว โดยจำนวนผู้ชมจาก LazLive อย่างเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเทียบกับปี 2564 เจาะเข้าไปในฟีเจอร์ LazLOOK มีไอเท็มสินค้าแฟชั่นขายดีที่สุด ได้แก่ ต่างหู ส่วนฟีเจอร์ LazBEAUTY มีสินค้ายอดนิยมขายดีที่สุดคือแผ่นมาสก์หน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ซีอีโอคนไทยคนแรก’ ของ Lazada ไทย โฟกัสลงทุนโปรดักต์-โลจิสติกส์ พร้อมงัดโปรเจกต์ LazGlobal ยกสินค้าไทยไปขายในฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์
- ไม่ค่อยพึ่ง Google แล้ว ‘Lazada’ พบผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 57% ค้นหาสินค้าโดยตรงบน ‘แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ’
- Shopee เผยสถิติแคมเปญ 11.11 พบคนไทย 1 รายซื้อของในออร์เดอร์เดียวกว่า 180,000 บาท ฟาก Lazada รายเดียวทะลุ 320,000 บาท
ข้อมูลอื่นๆ ได้แก่
- หมวดหมู่สินค้าขายดีประจำปี 2565 ที่นักช้อปใส่ลงรถเข็นมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าแฟชั่นและความงาม
- ตลอดปี 2565 หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มียอดค้นหาสูงสุดและมียอดขายรวมเกือบ 60 ล้านชิ้น สะท้อนเทรนด์การดูแลใส่ใจสุขภาพที่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
- สินค้าตกแต่งบ้านมียอดคำสั่งซื้อรวมกว่า 21 ล้านชิ้น ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคบางส่วนยังให้ความสำคัญกับการใช้เวลาที่บ้าน
- ยอดสั่งซื้ออาหารสัตว์รวมกว่า 12 ล้านชิ้น เน้นย้ำให้เห็นถึงเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่คนไทย
- ยอดคำสั่งซื้อสินค้ากระเป๋าเดินทางรวมกว่า 4 ล้านใบ ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง
- ยอดคำสั่งซื้อผ้าอ้อมเด็กโตกว่า 58% เทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าตัวช่วยที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ช้อปไปเพื่อดูแลลูกน้อยได้อย่างสะดวกสบาย
Lazada พบว่า ผู้ขายที่สามารถสร้างยอดคำสั่งซื้อได้สูงที่สุดมาจากจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีนักช้อปสั่งสินค้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี
ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ตลาดค้าปลีกออนไลน์จะเติบโตสร้างมูลค่าแตะ 4 ล้านล้านบาท ด้วยอัตราเติบโตรวมเฉลี่ยสะสมที่ 75% ต่อปี อันเป็นผลจากโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตที่จะพัฒนามากขึ้น ควบคู่ไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาช้อปปิงออนไลน์สูงขึ้นนับตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมา