×

จากไร่…สู่ถุง ‘เลย์’ ตามรอยธุรกิจขนมหมื่นล้าน ที่ไม่ได้มอง ‘มันฝรั่ง’ เป็นเรื่องเล่นๆ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
18.12.2018
  • LOADING...

แม้คนไทยเราจะไม่ได้กิน ‘มันฝรั่ง’ เป็นอาหารหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขนมขบเคี้ยวจำพวกมันฝรั่งทอดกรอบนั้นเป็นอาหารทานเล่นยอดฮิตที่ต้องมีติดแทบทุกบ้านหรือมีอยู่ในทุกกิจกรรมสังสรรค์

 

ปี 2560 ตลาดมันฝรั่งทอดกรอบในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 10,612 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.9 โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากผู้ประกอบการอย่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือเป๊ปซี่โค ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ‘เลย์’ เจ้าตลาดมันฝรั่งแปรรูปที่คอยขับเคลื่อนให้ตลาดมันฝรั่งทอดกรอบเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ทำไมจึงกล่าวได้ว่า ‘เลย์’ ขับเคลื่อนตลาด?

ก่อนอื่นต้องย้อนรอยจากแผ่นมันฝรั่งทอดกรอบในถุง กลับไปถึงไร่มันฝรั่งในประเทศไทย

 

 

โดยทั่วไปมันฝรั่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ‘มันฝรั่งพันธุ์บริโภค’ ซึ่งใช้รับประทานสด และ ‘มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน’ ซึ่งใช้สำหรับแปรรูปในโรงงาน หรือผลิตเป็นมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ

 

ด้วยแนวโน้มการบริโภคมันฝรั่งทอดกรอบที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวมทั้งสิ้น 37,858 ไร่ แบ่งเป็นพันธุ์โรงงาน 35,482 ไร่ และพันธุ์บริโภค 2,376 ไร่ โดยมีผลผลิตรวม 107,103 ตันต่อปี แบ่งเป็นพันธุ์โรงงาน 101,080 ตันต่อปี และพันธุ์บริโภค 6,023 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, ตาก, เพชรบูรณ์, สกลนคร และนครพนม

 

ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2538 ที่เป๊ปซี่โคได้เริ่มดำเนินธุรกิจขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ยึดถือนโยบายการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนมาตลอด ด้วยการมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทยผ่าน ‘โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน’ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน

 

 

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ส่งเสริมการเพาะปลูกผ่านการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรไทยราว 3,500 รายต่อปี ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ และ 2 จังหวัดในภาคอีสาน” เคิร์ธ พรีชอว์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าว

 

โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนฯ ของเป๊ปซี่โค ยังสอดคล้องกับ ‘ยุทธศาสตร์มันฝรั่ง’ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน หรือ ‘คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง’ (Contract Farming) จึงทำให้ระบบการผลิตมีความมั่นคงทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งและภาคเอกชนผู้รับซื้อ ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการปัญหาความไม่แน่นอนของรายได้และลดความเสี่ยงจากปัญหาปริมาณสินค้าล้นตลาด ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้รับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่กำหนด

 

หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่เข้าร่วมในโครงการนี้คือ บุญศรี ใจเป็ง เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2553 เขามุ่งมั่นพัฒนา เรียนรู้ และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ปัจจุบันเขาครอบครองพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวมกว่า 1,500 ไร่ และสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงถึง 5 ตันต่อไร่

 

 

“ปัจจุบันแปลงปลูกมันฝรั่งของเราในอำเภอสันทรายได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการเพาะปลูกมันฝรั่งของประเทศ ทุกปีเราร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชนจัดงาน Field Day ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน พร้อมขยายผลแปลงสาธิตต้นแบบไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิตและการแปรรูป ทั้งยังช่วยลดปริมาณการนำเข้ามันฝรั่งจากต่างประเทศลงได้ด้วย”

 

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าเป๊ปซี่โคเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ ด้วยความใส่ใจทุกรายละเอียดของ ‘มันฝรั่ง’ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าไปทำงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หว่านหัวพันธุ์มันฝรั่ง การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงพัฒนาทักษะความชำนาญให้กับเกษตรกรเพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

 

 

“เรารับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาประกันขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด โดยปัจจุบันราคาประกันการรับซื้อมันฝรั่งพันธุ์โรงงานในฤดูแล้ง (มกราคม ถึง มิถุนายน) อยู่ที่ 10.60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกันในฤดูฝน (กรกฎาคม ถึง ธันวาคม) อยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม แต่ละปีเป๊ปซี่โคได้รับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 70,000 ตัน” ชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติม

 

 

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้โฟกัสเฉพาะการเติบโตทางตัวเลข แต่ยังมุ่งมั่นส่งเสริมความยั่งยืนในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising