The Asahi Shimbun รายงานว่า หลังจากตลาดค้าปลีกในประเทศญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัว ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นหันไปเปิดสาขาในประเทศจีน เพื่อสร้างความอยู่รอดให้กับธุรกิจ
เช่นเดียวกับ Lawson เร่งขยายสาขาในจีนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ล่าสุดได้เปิดสาขาแรกในกวางโจว ทางตอนใต้ของจีนไปเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร ในช่วงแรกของการเปิดร้าน พบว่ามีลูกค้าอายุ 20-30 ปีหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปจะเห็นว่า Lawson เริ่มขยายธุรกิจไปยังประเทศจีนในปี 2539 โดยเริ่มจากเซี่ยงไฮ้ แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทคู่แข่งในจีน อีกทั้งคุณภาพการบริการก็ลดลงในคราวเดียว ตามข้อมูลภายในของ Lawson บอกว่า หลังจากนั้นสำนักงานใหญ่ของญี่ปุ่นจึงเข้าซื้อหุ้นของบริษัทย่อยในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชูจุดแข็งเรื่องเอกลักษณ์และคุณภาพ หวังรุกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Lawson ทุ่ม 1.6 พันล้านบาท เข้าซื้อเชนร้านสะดวกซื้อในเซินเจิ้น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีน พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 10,000 แห่ง ในปี 2025
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
- โปรดเช็กราคาก่อนจะช็อกตอนจ่ายเงิน! ‘โอมากาเสะ’ ในนิวยอร์กดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 35,000 บาทต่อคน หลังค่าขนส่ง วัตถุดิบ และค่าแรงพุ่งสูงขึ้น
ปัจจุบัน Lawson มีสาขาทั้งหมด 5,235 แห่ง ใน 15 จังหวัดและเมืองต่างๆ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับปี 2020 ที่มีสาขา 3,000 แห่ง
เรียวเฮ โยชิดะ เจ้าหน้าที่ดูแลกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งในประเทศจีน กล่าวถึงปัจจัยของการเติบโตว่า เครือข่ายของศูนย์กระจายสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะช่วยทำให้บริษัทเปิดดำเนินการร้านค้าได้สะดวกขึ้น
จากรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ในปี 2564 โดยองค์กรอุตสาหกรรมในเครือของรัฐบาลระบุว่า ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อ 1 แห่ง ให้บริการประชากรในจีน 7,033 คน ซึ่งเป็นระดับที่มีความหนาแน่นอย่างมาก และร้านค้าส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นร้านค้าของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ Lawson อยู่ระหว่างการมองหาที่พื้นที่ใหม่ๆ เพื่อขยายจำนวนสาขาทั่วประเทศจีนให้ได้ 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2568 โดยตั้งเป้ายอดขายในแต่ละปี จะทะยานขึ้นจากปัจจุบันประมาณที่อยู่ราวๆ 5.3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.6 แสนล้านบาท
พร้อมกันนี้ ในช่วงโควิดระบาดหนักจนรัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการปิดเมือง และมีข้อจำกัดการเดินทาง แน่นอนว่าได้สร้างปัญหาในด้านการจัดหาอาหารให้กับผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงได้พยายามส่งเสริมการเปิดร้านสะดวกซื้อแห่งใหม่ เพื่อให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงสินค้ากลุ่มอาหารและของใช้ประจำวันมากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้วางแผนเพิ่มจำนวนร้านสะดวกซื้อให้ได้ 300,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2565
นอกจาก Lawson แล้วยังมีร้านสะดวกซื้อเครือญี่ปุ่นอื่นๆ เตรียมรุกเข้าสู่ตลาดจีนเช่นเดียวกัน เริ่มจาก 7-Eleven Japan ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีสาขา 81,839 แห่งใน 18 ประเทศ และมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายตลาดจีน
ที่ผ่านมา 7-Eleven Japan เปิดร้านในจีนแห่งแรกในปี 2547 ที่กรุงปักกิ่ง ณ สิ้นปี 2564 มีร้านค้า 3,980 แห่ง รวมถึงร้านที่บริหารโดยกลุ่มบริษัทท้องถิ่น ซึ่งยังถือว่ามีสาขาน้อยกว่าในญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน
ตามด้วยร้าน FamilyMart เปิดสาขาแรกในจีนปี 2547 โดยมีจำนวนร้านค้า 2,702 แห่ง ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในเซี่ยงไฮ้ รองลงมาคือซูโจว และหางโจว แม้ปัจจุบันไต้หวันมีร้าน FamilyMart มากสุดอยู่ที่ 4,095 แห่ง แต่ผู้ประกอบการก็พยายามขยายการดำเนินงานในจีนต่อไป เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตอีกมาก
Tomomi Nagai หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Toray Corporate Business Research Inc. ซึ่งติดตามธุรกิจร้านสะดวกซื้อ อธิบายความน่าสนใจของตลาดจีนว่า ตลาดจีนมีความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีที่ว่างสำหรับเปิดร้านสะดวกซื้ออีกมาก และผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีกำลังซื้อ ดังนั้นความท้าทายในอนาคต ผู้ประกอบการจะต้องโฟกัสไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นและแตกต่าง เพื่อรับมือกับการแข่งขันในวงการค้าปลีกที่ดุเดือดมาต่อเนื่อง
อ้างอิง: