การที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลออกมาบ่นเรื่องของการตัดสินนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ผู้จัดการทีมสองคนออกมาตั้งคำถามถึงเรื่องของการตัดสินในสองเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อยนัก
และการที่ผู้จัดการทีมมากประสบการณ์อย่าง ฌอน ไดช์ และ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ออกมาพูดในทำนองเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้ พวกเขาไม่เข้าใจกับ ‘กฎ’ ในเกมฟุตบอลอีกต่อไป ทำให้เป็นเรื่องที่ควรจะมีการตั้งคำถามกันหรือไม่
ว่าตกลงแล้วสิ่งที่เราเคยคิดว่าเข้าใจเกมฟุตบอลมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกฎแฮนด์บอลหรือกฎล้ำหน้า ตกลงแล้วเราเข้าใจมันจริงๆ ใช่ไหม
หรือมันถูกทำให้เข้าใจไม่ได้กันแน่?
ล้ำหน้าที่ไม่ล้ำหน้า
ย้อนกลับไปในเกมที่กูดิสันพาร์กเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา มีสองเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับทั้งเอฟเวอร์ตัน ทีมเจ้าบ้าน และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมเยือน
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในระหว่างครึ่งแรก เมื่อเอฟเวอร์ตันที่ได้ประตูขึ้นนำไปก่อนจาก แจ็ค แฮร์ริสัน ในนาทีที่ 29 สบโอกาสในการที่จะได้ลุ้นประตูอีกครั้ง
เป็นเบโตศูนย์หน้าของทีม ที่ได้โอกาสลุ้นสับไกยิง แต่ปัญหาคือจังหวะนี้เขาล้ำหน้าอย่างชัดเจน เพียงแต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่อยู่ข้างสนามไม่ยอมยกธงล้ำหน้า ทำให้จังหวะการเล่นดำเนินต่อไปและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
โดยในจังหวะที่เบโตกำลังยิง จอห์น สโตนส์ ปราการหลังคนสำคัญของแมนฯ ซิตี้ ตามมาแล้วพยายามที่จะหยุดให้ได้ ผลปรากฏว่าเกิดลงผิดจังหวะ ทำให้ได้รับบาดเจ็บไปด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าอาการของกองหลังเชิงสูงจะหนักและต้องพักการเล่นยาวแค่ไหน
คำถามที่หลายคนไม่เข้าใจคือ ทำไมไลน์แมนจึงไม่ยอมยกธงในจังหวะที่มันชัดเจนขนาดนี้?
เป๊ป กวาร์ดิโอลา ไม่พอใจในเหตุการณ์นี้อย่างมาก เพียงแต่ในความเห็นของกุนซือชาวกาตาลัน คนที่ผิดไม่ใช่ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ไม่ยอมยกธง แต่เป็นคนที่ออกกฎในเรื่องการล้ำหน้า
“ผมไม่เข้าใจเลย มันชัดเจนขนาดนี้ว่าล้ำหน้า และตอนนี้เขา (สโตนส์) ก็บาดเจ็บไปแล้ว พวกเขาถึงจะมาบอกว่าผมพูดถูกแล้ว ซึ่งมันสายไปแล้วไหม” เป๊ปกล่าวหลังจบเกม
สำหรับกฎล้ำหน้าที่เป็นปัญหานี้ เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินเล็กน้อยจากการตัดสินแบบ ‘Proactive’ คือผู้ช่วยผู้ตัดสินมองเป็นจังหวะล้ำหน้าก็จะยกธงทันทีเพื่อหยุดจังหวะเกม มาเป็นการตัดสินแบบ ‘Reactive’ คือจะปล่อยจังหวะให้ต่อเนื่องไปก่อน จนกว่าผู้เล่นแนวรุกที่ล้ำหน้าจะเล่นในจังหวะต่อจากลูกล้ำหน้าจึงจะยกธง โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกมไหลลื่นมากที่สุด
ยิ่งในปัจจุบันมีระบบ Video Assistant Referee (VAR) เข้ามาช่วย ทำให้ผู้ช่วยผู้ตัดสินส่วนใหญ่มักจะปล่อยจังหวะการเล่นให้ต่อเนื่องไปก่อน เพราะสุดท้ายจะมี VAR เข้ามาช่วยตรวจสอบอีกขั้นอยู่ดี
ปัญหาคือ การปล่อยให้เล่นต่อไปแบบนี้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาในเกมได้ โดยเฉพาะเรื่องอาการบาดเจ็บของผู้เล่นที่ไม่มีใครยอมใครอยู่แล้วในจังหวะชี้เป็นชี้ตาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีผู้จัดการทีมหลายคนออกมาทักท้วงว่า การที่ไลน์แมนไม่ทำหน้าที่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ทีมฝ่ายรับ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้เล่นบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น
“นี่เป็นประเด็นของการที่ไม่ยอมยกธงขึ้น” อลัน เชียเรอร์ อดีตหัวหอกทีมชาติอังกฤษ กล่าวใน Amazon Prime “พวกเขาจะปล่อยให้เล่นต่อ แล้วมันก็จะมีสักวันที่จะมีคนบาดเจ็บเพราะแบบนี้”
การบาดเจ็บของสโตนส์จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถเลี่ยงที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้
แฮนด์บอลคืออะไร แบบไหนคือแฮนด์บอล?
โบราณท่านว่า อิสตรีเป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยากที่สุดแล้ว แต่ตอนนี้พวกเธอมีคู่แข่งแล้ว และคู่แข่งนั้นชื่อว่า ‘กฎแฮนด์บอล’
เรื่องนี้เหมือนจะเป็นคำพูดขำขันแต่ตอนนี้กฎแฮนด์บอลกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครในโลกฟุตบอลเข้าใจอีกต่อไป
ในเกมที่กูดิสันพาร์ก เอฟเวอร์ตัน เจ้าบ้าน ต้องเสียจุดโทษในช่วงครึ่งหลังในจังหวะที่ นาธาน อาเก ยิงไปชนแขนของ อมาดู โอนานา ในกรอบเขตโทษ
เดิม จอห์น บรูกส์ ผู้ตัดสินให้เป็นแค่ลูกจุดโทษ แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินได้แนะนำว่าควรให้เป็นลูกจุดโทษ ซึ่งสุดท้ายก็มีการให้ลูกจุดโทษแก่แมนฯ ซิตี้ ซึ่งกลายเป็นประตูแซงนำ 2-1 จากการยิงของ ฮูเลียน อัลวาเรซ
โรแบร์โต มาร์ติเนซ อดีตนายใหญ่ทอฟฟี่เมน บอกว่า “สำหรับผมลูกนี้ไม่เป็นจุดโทษแน่นอน คนในโลกฟุตบอลรู้ดีว่ามันไม่ใช่จุดโทษ”
ลูกนี้ในมุมมองของ ฌอน ไดช์ เขาไม่คิดว่ามันเป็นลูกแฮนด์บอลเช่นกัน เพราะมันคือบอลทูแฮนด์ “จุดโทษที่พวกเขาได้ ผมไม่เข้าใจเลย และผมก็คิดว่าไม่มีใครเข้าใจด้วย เมื่อไม่กี่เดือนก่อนเราเพิ่งมีการคุยกันผ่าน Zoom ซึ่งผู้จัดการทีมทุกคนบอกว่ามันใจร้ายไป และเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงให้จุดโทษ”
บนโลกโซเชียลยังมีการนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในเกมระหว่างลิเวอร์พูลกับอาร์เซนอลซึ่งมีจังหวะปัญหา เมื่อ มาร์ติน โอเดอการ์ด กัปตันกันเนอร์ส ใช้มือปัดลูกในจังหวะที่ โมฮาหมัด ซาลาห์ สะกิดบอลกำลังจะผ่านตัว
เหตุการณ์นี้ทางด้าน PGMOL บริษัทที่กำกับดูแลผู้ตัดสินในพรีเมียร์ลีก ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินทั้งในสนามและ VAR ว่าถูกต้องแล้ว เพราะในจังหวะนั้นโอเดอการ์ดลื่นและมือหุบเข้าหาตัวมากกว่าจะกางออกไปป้องกันบอล
There was no penalty given after this potential Martin Ødegaard handball on Mo Salah 😮 pic.twitter.com/7CHZ1u9GPO
— ESPN FC (@ESPNFC) December 23, 2023
แต่สำหรับแฟนลิเวอร์พูลและแฟนบอลกลางๆ อีกจำนวนไม่น้อยบอกว่า มองจากดาวอังคารก็เห็นว่าโอเดอการ์ดใช้มือปัดบอล
ในขณะที่โอเดอการ์ดไม่เป็นการทำแฮนด์บอล แต่จังหวะของโอนานากลายเป็นการทำแฮนด์บอล
ในเรื่องนี้อดีตผู้ตัดสินอย่าง มาร์ก แคลตเทนเบิร์ก มองว่า มันเป็นเรื่องของกฎที่เขียนให้ตีความ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในอดีต
แต่ต่อให้จะมองว่าเป็นการตีความตามกฎแฮนด์บอลฉบับล่าสุดที่มีการเขียนไว้ ซึ่งกฎมีการอัปเดตตลอด แต่กลับไม่มีมาตรฐานการตัดสินที่แน่นอน เกมนี้ตัดสินอย่าง เกมหน้าตัดสินอย่าง
“คืนนี้คุณจะนิยามมันว่าอย่างไร?” ไดช์ตั้งคำถาม “คุณคงต้องลองส่องลูกแก้วดูแล้ว ถ้าเขา (โอนานา) ตั้งใจปัดจริงเขาก็ควรจะไปเป็นผู้รักษาประตูแล้ว เพราะปฏิกิริยาตอบสนองของเขาไวยิ่งกว่าแมวเหมียวอีก ถือว่าเซฟสวยเลยนะ”
เรื่องการตีความกฎและมาตรฐานการตัดสินของผู้ตัดสินในเวลานี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่มีประเด็นให้พูดถึงได้แทบทุกสัปดาห์ (และกลางสัปดาห์ โดยเฉพาะในฟุตบอลอังกฤษ) ซึ่งทาง PGMOL ไปจนถึง FA และ IFAB เองต่างก็รับรู้ว่ามีปัญหา
ปัญหาคือยิ่งพวกเขาพยายามแก้กฎทุกอย่าง มันกลับอลหม่านมากยิ่งขึ้น
จนถึงตอนนี้ กฎฟุตบอลสำหรับหลายคน – แม้กระทั่งอดีตนักฟุตบอลหรือนักวิเคราะห์เอง – ต่างทำใจแล้วว่า ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ อีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ต้องทุบโอลด์แทรฟฟอร์ด? โจทย์ยากที่ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ต้องตัดสินใจ
- จ่าฝูงบอลพรีเมียร์ลีกในวันคริสต์มาส = แชมป์ลีกหรือไม่?
อ้างอิง: