×

‘กฎหมายที่เข้มขึ้น’ ความท้าทายที่ธุรกิจเบียร์ต้องเผชิญในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

15.06.2021
  • LOADING...
ธุรกิจเบียร์

การที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้มงวดกับกฎระเบียบในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพื่อต่อสู้กับการดื่มสุราของผู้เยาว์และการเมาแล้วขับ ทิศทางนี้เองได้กลายเป็นความท้าทายของกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มข้ามชาติที่ยังต้องพึ่งพาตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดไม่กี่แห่งในโลกที่ยังเติบโตอยู่

 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาคือการที่ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของไทย ได้ตัดสินใจเลื่อนการ IPO ของธุรกิจเบียร์ภายใต้ชื่อ BeerCo ซึ่งมีการประเมินว่าจะสามารถระดมทุนได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6 หมื่นล้านบาทด้วยกัน

 

Nikkei Asia ชี้ว่า ไทยเบฟฯ ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 90% จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงเบียร์ช้างและวิสกี้แบรนด์ต่างๆ เตรียมใช้เงินที่ได้จากการ IPO สำหรับเข้าไปลงทุนขยายตัวในภูมิภาคอาเซียนสำหรับแผนระยะกลางจนถึงปี 2025 ทว่าการเลื่อนแผน IPO ของ BeerCo นั้น ไทยเบฟฯ ได้กล่าวแค่ว่าจะมีการทบทวนในเวลาที่เหมาะสม ผ่านการติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อสำรวจโอกาสต่อไป

 

บริษัทวิจัย Euromonitor เปิดเผยว่า แผนการเปลี่ยนแปลงของไทยเบฟฯ เกิดขึ้นในขณะที่ยอดขายสุราใน 6 ประเทศหลักของตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 16% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ ความต้องการในร้านอาหารที่ลดลงและกฎระเบียบด้านแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดขึ้น

 

เวียดนามซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริโภคเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรายแรกที่กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น ในเดือนมกราคม 2020 รัฐบาลได้เพิ่มค่าปรับสำหรับเมาแล้วขับรถยนต์เป็น 8 ล้านดอง หรือราว 10,800 บาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากก่อนหน้านี้ และได้กำหนดโทษยึดใบขับขี่อีก 2 ปี

 

ส่วนในเดือนธันวาคม 2020 ประเทศไทยห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่องทางออนไลน์ โดยอ้างถึงความยากลำบากในการตรวจสอบอายุของผู้ซื้อและด้วยช่องทางการขายที่สำคัญได้หายไป ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทางการได้มีคำสั่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บาร์และร้านอาหาร ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ที่ผิดหวังได้ออกมาประท้วงที่กระทรวงสาธารณสุขด้วยการเทถังเบียร์บนถนน

 

ขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติต่างกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตเพียงไม่กี่แห่งในโลก

 

ในเวลานี้ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ทุ่มให้กับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น Heineken ยักษ์ใหญ่ชาวดัตช์ที่ได้เปิดตัว เบียร์ Heineken 0.0 ตามด้วย San Miguel Brewery บริษัทในฟิลิปปินส์ ที่หุ้นกว่า 49% ถูกถือโดย Kirin Holdings ของญี่ปุ่น ก็ได้เปิดตัว San Mig Free เมื่อปีที่แล้ว ด้าน Carlsberg Breweries แบรนด์สัญชาติเดนมาร์กที่รายได้กว่า 30% มาจากเอเชีย ก็เปิดตัวเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เช่นกัน

 

ถึงกระนั้น Heineken ก็เห็นยอดขายในเอเชียแปซิฟิกลดลง 12% ในปี 2020 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกับประเทศในซีกโลกตะวันตกหรือญี่ปุ่น และแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้ก็ไม่ชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มกำลังมีความท้าทายมากขึ้นอีก โดยมาเลเซียคาดว่าจะห้ามขายสุราในสถานที่ เช่น ร้านสะดวกซื้อในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ด้านอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กำลังพิจารณากฎหมายเพื่อห้ามการผลิต การขาย และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศอย่างเด็ดขาด

 

แน่นอนว่านี้ถือเป็นข่าวร้ายอย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คงต้องหาช่องทางการขายใหม่ๆ เพื่อยังทำให้ธุรกิจของตัวเองนั้นเติบโตต่อไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising