×

Laura Brown จากลูกเกษตรกรโคนม สู่บรรณาธิการ InStyle ความหวังใหม่ของสื่อแฟชั่นยุค Disruption

27.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ลอร่าตัดสินใจเรียนต่อทางด้านวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นใบเบิกทางให้เธอได้ทำอาชีพในฝัน และทันทีที่จบการศึกษา เธอเข้าฝึกงานกับนิตยสารท้องถิ่นของออสเตรเลียอย่าง Australian Family
  • เธอเป็นนักเขียนให้กับ Harper’s Bazaar Australia ในลอนดอนเป็นเวลาสองปีก่อนที่วีซ่าจะหมด เธอจึงต้องกลับมาทำงานที่ช็อป Versace แห่งหนึ่งในบ้านเกิด และพอในปี 2001 ที่เธอตัดสินใจบินไปมหานครนิวยอร์กด้วยเงินเก็บ 5,000 เหรียญสหรัฐ ไม่นานก่อนเหตุการณ์ 911 พร้อมหวนคืนสู่วงการสื่อในอเมริกาอีกครั้งกับนิตยสาร Talk, W และ Details
  • บทบาทสำคัญสุดของลอร่าคือการเป็นบรรณาธิการบริหารคนใหม่ของนิตยสาร InStyle ในปี 2016 ซึ่งมียอดผู้อ่านเป็นอันดับ 6 ในสหรัฐฯ โดยเธอปรับลุคของนิตยสารให้ดูเข้าถึงผู้คนที่กว้างขึ้น และแทรกสาระบางอย่างที่เข้ากับยุคสมัยในทุกเล่ม พร้อมบทสัมภาษณ์ที่เธอลงมือด้วยตัวเอง ซึ่งผลที่ได้คือยอดผู้ติดตามนิตยสารฉบับเล่มเพิ่มขึ้น 3% และการลงโฆษณาจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมาย
  • นอกจากประสบการณ์ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์อันยาวนาน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลอร่าโดดเด่นกว่าบรรณาธิการคนอื่นคือ การใช้โซเชียลมีเดียและการทำออนไลน์คอนเทนต์ โดยเธอนำจุดแข็งในการมีความสัมพันธ์อันดีกับเซเลบริตี้มากมาย มาพัฒนาส่วนดิจิทัลของ InStyle ซึ่งได้ทำให้ยอดเอ็นเกจเมนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของนิตยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 179%

ลอร่ากับเซนดายา / Photo: Valerie Macon / AFP

 

เมื่อให้นึกถึงภาพลักษณ์ของบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น ภาพของผู้หญิงมักจะดูน่าเกรงขาม เคร่งขรึม ปากร้าย และยากที่จะเข้าถึง แต่นั่นไม่ใช่กับบรรณาธิการบริหารของนิตยสารแฟชั่นอย่าง InStyle ที่ชื่อ ลอร่า บราวน์ ซึ่งเธอได้เข้ามาเขย่าภาพเหล่านั้นด้วยอารมณ์ขัน ความเป็นกันเอง และความเข้าถึงง่ายของเธอ จนทำให้นิตยสารแฟชั่นจากฝั่งอเมริกาหัวนี้กลับมาสู่สายตาเหล่าแฟชั่นนิสต้าอีกครั้ง

 

จากครอบครัวชนชั้นกลางในออสเตรเลีย สู่ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น และความสัมพันธ์กับเซเลบริตี้ระดับโลก เธอมาพร้อมความตั้งใจที่อยากทำให้นิตยสารแฟชั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อสำหรับผู้อ่าน และอยู่ภายใต้กรอบการตลาดอย่างเดียวเพื่อเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งในยุคที่เอดิเตอร์กลายเป็นเซเลบริตี้ การที่จะเลือกคนมาบริหารนิตยสารแฟชั่นที่มียอดผู้อ่านนับล้านในช่วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเข้าขั้นวิกฤตก็ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย แต่ลอร่าก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญและสร้างความหวังใหม่ๆ

 

ลอร่ากับนิโคล คิดแมน / Photo: Chris Delmas / AFP

 

 

“ฉันอยากทำงานในวงการนิตยสารตั้งแต่อายุ 9 ขวบ” ลอร่าในวัย 44 ปีพูดถึงชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งเธอเป็นลูกเกษตรกรโคนม และพนักงานบริษัทประกันในชานเมืองซิดนีย์ที่หลงรักนิตยสารตั้งแต่วัยเด็ก

 

“ฉันอ่านนิตยสารหัวนอกอย่าง Vogue และ Harper’s Bazaar ฉบับสามเดือนที่แล้วจากร้านหนังสือพิมพ์” จุดนี้เองที่ทำให้เธอตัดสินใจเรียนต่อทางด้านวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นใบเบิกทางให้เธอได้ทำอาชีพในฝัน และทันทีที่จบการศึกษา เธอเข้าฝึกงานกับนิตยสารท้องถิ่นของออสเตรเลียอย่าง Australian Family และทำงานต่อกับนิตยสาร Mode ในส่วน Production Editor ผู้ที่มีหน้าที่ตามจิกเดดไลน์ต่างๆ ก่อนที่สื่อเหล่านั้นที่เธอเคยทำจะพากันปิดตัวลง และเธอตัดสินใจย้ายไปลอนดอนเพื่อสานต่อความฝันในการทำงานวงการนิตยสาร

 

แต่ทุกอย่างหาได้ราบรื่นเหมือนในฝัน ลอร่ากล่าวถึงความยากลำบากของชีวิตฟรีแลนซ์ในลอนดอนที่เธอเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ ไม่มีแม้แต่คอนเน็กชันหรือเศษเหรียญซื้อน้ำอัดลม “ฉันยังจำได้เลยว่ามีวันหนึ่ง เงินจะซื้อโค้กดื่มสักประป๋องยังไม่พอ” แต่ลำพังแค่น้ำอัดลมไม่อาจหยุดเธอจากการเก็บเงินไปดูโชว์ของ แอน เดอมูลมีสเทอร์ ที่ปารีสได้ จากจุดนั้นเองที่เธอเริ่มต้นการเป็นนักเขียนให้กับ Harper’s Bazaar Australia ในลอนดอนเป็นเวลาสองปีก่อนที่วีซ่าจะหมด เธอจึงต้องกลับมาทำงานที่ช็อป Versace แห่งหนึ่งในบ้านเกิด ก่อนที่อีกไม่กี่สัปดาห์ นิตยสารดังกล่าวได้เรียกตัวให้ไปให้ดำรงตำแหน่ง Features Editor อีกครั้ง

 

 

ในปี 2001 ลอร่าก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่มหานครนิวยอร์กด้วยเงินเก็บ 5,000 เหรียญสหรัฐ และไม่นานก่อนเหตุการณ์ 911 ลอร่าก็ได้เริ่มงานกับนิตยสาร Talk, W และ Details โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันยังจำวันที่ฉันนั่งเขียนงานอยู่บ้านที่ออสเตรเลียได้เลย ฉันเขียนรีวิวโชว์ เฮลมุต แลง จากอินเทอร์เน็ต จำได้ว่าฉันไม่อยากดูโชว์ผ่านหน้าจอ ฉันอยากจะเห็นด้วยตาตัวเอง อยากเห็นนางแบบคนนั้น ดีไซเนอร์คนนั้น งานศิลปะชิ้นนั้น หรือแม้กระทั่งโรงละครนั้น นั่นแหละ ฉันเลยต้องไปนิวยอร์ก ไม่มีตัวเลือกอื่นเลยด้วยซ้ำ”

 

จนมาในปี 2005 ลอร่าก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมของ Harper’s Bazaar US เป็นเวลากว่า 11 ปีที่เธอได้สั่งสมประสบการณ์ และสร้างสรรค์แฟชั่นเซตชิ้นโบแดงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำ The Simpson มาอยู่ในกรุงปารีส หรือชวนเหล่าตุ๊กตาหุ่นจาก Sesame Street มาถ่ายคู่กับดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง ออสการ์ เดอ ลา เรนตา และ เว​รา แ​วง ลงนิตยสาร ไปจนถึงจับเมกะสตาร์แห่งยุคอย่างริฮานนา มาตัดต่อโพสท่าอยู่ในปากฉลามเพื่อเป็นการฉลอง 40 ปีของหนังสยองขวัญเรื่อง Jaws ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก   

 

ลอร่าที่งาน InStyle Awards ปี 2017

 

Photo: DFree / Shutterstock

 

มาถึงบทบาทสำคัญที่เราได้กล่าวไปตั้งแต่ต้น กับการเป็นบรรณาธิการบริหารคนใหม่ของนิตยสาร InStyle ในปี 2016 ซึ่งมียอดผู้อ่านเป็นอันดับ 6 ในสหรัฐฯ โดยทิศทางการนำเสนอและสไตล์การทำงานของลอร่ายังคงชัดเจนเช่นเคย เธอปรับลุคนิตยสารให้เข้าถึงผู้คนที่กว้างขึ้น ปนอารมณ์ขัน และแทรกสาระบางอย่างที่เข้ากับยุคสมัยในทุกเล่มที่อยู่ในการควบคุมของเธอ อาทิ การนำ สตีเฟน โคลเบิร์ก พิธีกร Late Night คนดังมาขึ้นปกนิตยสารผู้หญิง ไปจนถึงผู้ทรงอิทธิพลของวงการบันเทิงที่สุดอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ มาขึ้นปก พร้อมบทสัมภาษณ์ที่เธอลงมือด้วยตัวเอง ช่วงที่มีข่าวลือเรื่องการที่โอปราห์จะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนผลประกอบการของ InStyle ก็มียอดผู้ติดตามนิตยสารฉบับเล่มเพิ่มขึ้น 3% และการลงโฆษณาจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมายในปีแรกของการกุมบังเหียนของลอร่า

 

นอกจากประสบการณ์ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์อันยาวนานของเธอ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลอร่าโดดเด่นกว่าบรรณาธิการคนอื่น คือการใช้โซเชียลมีเดียและการทำออนไลน์คอนเทนต์ เธอมักจะปรากฏตัวในวิดีโอคอนเทนต์ตั้งแต่สมัยที่เธอทำงานที่ Harper’s Bazaar กับรายการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองที่ชื่อว่า The Look เธอจึงนำจุดแข็งในการมีความสัมพันธ์อันดีกับเซเลบริตี้มากมายมาพัฒนาส่วนดิจิทัลของ InStyle

 

รวมทั้งการที่เธอออกมาเป็นเบื้องหน้าเองในรายการ Dirty Laundry ที่เธอนั่งคุยกับแขกคนสำคัญอย่าง ปริยังกา โจปรา, อเล็กซา ชุง, บรูก ชิลด์ส ที่นั่งคุยกันบนเครื่องซักผ้า ไม่นับรวมวิดีโอคอนเทนต์เสริมทัพกับ เอมี ชูเมอร์, กวินเน็ธ พัลโทรว์ และอีกมากมายที่ทำให้ยอดเอ็นเกจเมนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของนิตยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 179%  

 

ผลงานของลอร่าที่นิตสาร InStyle

 

หากคุณได้กดติดตามเธอในอินสตาแกรม (@laurabrown99) นอกจากภาพของแฟชั่นโชว์หรือเบื้องหลังการทำงานแล้ว การฟอลโลว์ลอร่าก็เหมือนคุณได้ติดตามดูคนรู้จักที่เผอิญได้ทำงานในวงการแฟชั่น บางวันคุณอาจจะเห็นเธอหยอกล้อคนในวงการระดับเอลิสต์ บางวันคุณอาจจะเห็นรูปคู่หมั้น หรือบางวันคุณอาจจะเห็นเธอนั่งลองรองเท้ารูปหมีโคอาลา และให้อาหารลูกจิงโจ้ จนเราอดไม่ได้ที่จะเข้าไปคอมเมนต์ว่า ‘น่ารักโคตรรรร’ เป็นภาษาไทยเหมือนที่เราทำกับเพื่อนสนิท

 

ไม่เพียงแค่กลยุทธ์ของออนไลน์ พลังอำนาจของเซเลบริตี้ และป๊อปคัลเจอร์ที่ทำให้ลอร่าสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการสื่อเท่านั้น แต่เธอคือส่วนผสมที่ลงตัวของตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ ความจริงใจ จุดยืนชัดเจน หยอดมุมตลกๆ และความตั้งใจที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลแบบนี้ที่ใครก็สามารถสร้างพื้นที่ของตัวเองในการสื่อสารให้กับคนในวงกว้างได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกค้าประจำของแบรนด์เนม เจ้าของธุรกิจ หรือเด็กสาวที่อยู่ต่างจังหวัดที่ชอบดูการ์ตูนวันเสาร์ หรือหนัง Blockbuster คุณก็จะสนุกและหัวเราะไปกับวงการแฟชั่นได้อย่างเช่นลอร่า

 

บางทีภาพของนางมารคนต่อไปคงไม่ได้ใส่รองเท้าส้นสูงหัวแหลมสีแดงของ Prada อย่างที่เราคุ้นเคย แต่อาจจะเป็นรองเท้าสลิปเปอร์โคอาลาขนฟูที่ทำให้คุณยิ้มตามแทนก็เป็นได้

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

Trying on my full @victoriabeckham look yesterday and just being an incredible model, really. (Thank you @paolorivauk, team VB and I love you, @antkendal)

A post shared by Laura Brown (@laurabrown99) on

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

Seriously, what species are we?! Please advise, @mirandakerr (Also she’s totally on my lap but I’m worried about overdoing it). ?

A post shared by Laura Brown (@laurabrown99) on

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

Tried to go #inmyfeelings but got lost.

A post shared by Laura Brown (@laurabrown99) on

 

Cover Photo: Courtesy of InStyle

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising