×

เปิดตัวกลุ่ม CARE ขอ ‘คิด เคลื่อน ไทย’ ประชาชนคือหัวใจ ปฏิเสธเป็นพรรคการเมือง หวังไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง

17.06.2020
  • LOADING...

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏต่อสาธารณะชนอย่างชัดเจน สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของกลุ่ม ‘CARE’ ภายใต้สโลแกน ‘คิด เคลื่อน ไทย’ ในวันนี้ (17 มิถุนายน) สถานที่จัดงานคือ Voice Space อาณาบริเวณธุรกิจภายใต้ปีกของคนตระกูล ‘ชินวัตร’ ด้วยการรันแคมเปญแรกคือ ‘150 วันอันตราย: ทางเลือกทางรอด’ ที่มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ บรรยง พงษ์พานิช, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พร้อมกับการประกาศเจตนารมณ์ แนวทางของกลุ่ม รวมถึงการเปิดตัวสมาชิกของกลุ่มคนอื่นๆ นอกเหนือจากคนที่ปรากฏหน้าสื่อมาก่อนหน้านี้

 

ก่อนการเปิดตัวแบบ On Groud ก่อนหน้านี้กลุ่ม CARE ได้ชิงเปิดตัวเคลื่อนไหวผ่านออนไลน์มาแล้ว ด้วยการเปิดตัวเฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มที่มีชื่อว่า CARE คิด เคลื่อน ไทย โดยปล่อยโลโก้เรียกน้ำย่อยและความสนใจ เพื่อดึงดูดประชาชนให้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มล่วงหน้า พร้อมการอธิบายความหมายของชื่อกลุ่มตามตัวอักษรด้วยว่า CARE (แคร์) ย่อมาจาก

– C คือ Creative 

– A คือ Action for

– R คือ Revival

– E คือ & People Empowerment

 

ขณะเดียวกันยังได้ให้คำอธิบายและคำจำกัดความถึงที่มาที่ไปของกลุ่มเอาไว้ด้วยว่า CARE คือกลุ่มบุคคลจากหลากหลายอาชีพ ที่มองเห็นปัญหาและต้องการหาโอกาสที่ดีให้กับประเทศไทย ด้วยการแลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นจากทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ เพื่อนำเสนอสู่ประชาชนด้วยความเชื่อของเราที่ว่า เราจะแสวงหาโอกาสที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทยได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อคนรุ่นใหม่และลูกหลานของเราในอนาคตให้มีโอกาสที่ดีกว่าในปัจจุบัน” ภายใต้หัวใจหลักสามคำคือ คิด เคลื่อน ไทย

 

ขณะที่สัญลักษณ์ที่กำกับอยู่ด้านบนของตัวอักษร ข้อมูลจากเพจได้เฉลยที่มาที่ไปว่า สิ่งนั้นคือ ‘อักษรเบรลล์’ ที่หมายถึงคำว่า C A R E นั่นเอง และในตอนท้ายของการชิงเปิดตัวผ่านโลกออนไลน์ กลุ่ม CARE ได้ประกาศถึงความยินดีที่จะต้อนรับทุกคนเข้ามาสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งพร้อมที่จะแชร์ แคร์ทุกแนวคิด และความคิดเห็นในทุกๆ เรื่อง ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

 

ราวเวลา 14.00 น. ของวันนี้ กลุ่ม CARE จัดเวทียกสูงไม่มาก พร้อมคณะผู้ประสานของกลุ่มนั่งแบบรักษาระยะห่างบนเวที ห้อมล้อมด้วยด้านล่างคือประชาชนผู้สนใจและสื่อมวลชนที่ต้องลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้า เพื่อจำกัดจำนวนไม่ให้หนาแน่น ตามมาตรการด้านสุขภาพในช่วงโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายมากนัก 

 

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา คอลัมนิสต์และนักจัดรายการชื่อดัง เริ่มต้นการเปิดตัว ด้วยการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ไม่มีครั้งใดที่โลกจะเรียกร้องประชากรของมันมากเท่ากับวันนี้ วันที่โลกทั้งใบต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบที่ลึกร้าวยาวนาน อัตคัดสาหัสแผ่ขยายเป็นวงกว้างกว่าทุกครั้งที่มนุษยชาติเคยเผชิญ และซ้ำร้ายยังเกิดในห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกต่ำ อ่อนแอในแทบทุกมิติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

 

คำถามใหญ่ในสังคมไทยวันนี้ คือประเทศไทยเราจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรกัน เพราะวันนี้ประเทศไทยเหมือนตกอยู่ในกับดักที่ไร้ทางออก ทุกปัญหาโยงใยกันไปหมดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา การเกษตร สุขภาพ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดทั้งปวงล้วนส่งผลกระทบต่อความหวังของประชาชน

 

แล้วเราจะฟื้นคืนความหวังให้กลับมาได้อย่างไร เราทราบดีว่าการตอบคำถามใหญ่เช่นนี้ไม่ง่ายเลย แต่เราเชื่อว่าหัวใจสำคัญในการตอบคำถามใหญ่นี้อยู่ที่คำเล็กๆ 3 คำคือ คิด-เคลื่อน-ไทย

 

คิด คือการรุกระดมทุกมันสมอง ผนึกทุก ‘ความคิด’ มาช่วยกันหาทางออกของปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

 

เคลื่อน คือสร้างเครือข่ายให้ทุกคนในทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมกัน ‘เคลื่อน’ และขับดันให้เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรม สามารถฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

 

ไทย ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ก็จะกลับมาเป็นประเทศที่ทุกผู้คนมีความหวัง มีสิทธิและศักดิ์ศรี มีเสรีภาพในการแสดงออก ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

ในคำประกาศเจตนารมณ์ที่คำ ผกา อ่านยังระบุถึงสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่ออีกว่า เราจะระดมคลังสมอง ขยายเครือข่าย เปิดพื้นที่สร้างความร่วมมือใหม่ ให้ทุกคนมาร่วมกัน ‘คิด-เคลื่อน-ไทย’ เพื่อสร้างความเป็นไปได้นับล้านๆ ในการขับเคลื่อนประเทศอันเต็มไปด้วยศักยภาพของเรา ให้สามารถกลับไปหยัดยืน สง่างาม มีศักดิ์ศรี เคียงข้างอารยะประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าคุณ C-A-R-E ให้เรามา คิด-เคลื่อน-ไทย ไปด้วยกัน

 

สำหรับบุคคลที่น่าสนใจในการเปิดตัวสมาชิกเริ่มต้นมีกว่า 50 คน สำหรับ 10 คนที่นั่งอยู่บนเวที คือ ‘คณะผู้ประสานงาน’ ที่ตกลงกันในกลุ่มให้มาเป็นตัวประสานเพื่อขับเคลื่อนกลุ่ม มีทั้งหมด 10 คน ได้แก่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค, วีรพร นิติประภา, ลักขณา ปันวิชัย, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรานันท์, ภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และวรวงศ์ รามางกูร

 

ขณะที่ในงานยังพบการปรากฏตัวของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ และเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมทางการเมือง ​โดยเจ้าตัวบอกว่าได้รับเชิญจากทางกลุ่มให้มาฟังรายละเอียดของการเปิดตัว ซึ่งตนเองไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับงานแต่อย่างใด รวมถึงบุคคลจากหลากหลายวงการอื่นๆ ด้วย 

 

ในการเปิดตัวครั้งนี้พิธีกรได้ให้คณะผู้ประสานงานแต่ละคนพูดถึงการมาร่วมกลุ่มในครั้งนี้ด้วย อาทิ 

 

ดวงฤทธิ์  บุนนาค: เห็นโอกาสที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้า โดยใช้ศักยภาพของตัวเราไปเป็นศักยภาพของประเทศได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้โดยใช้สติปัญญาและความสามารถของเรา

 

วีรพร นิติประภา: หากสามารถเป็นประโยชน์ที่ไหนได้ก็ถือเป็นหน้าที่พลเมือง โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่ซับซ้อนหลากหลาย คนทุกคนไม่ว่าจะเก่งไม่เก่ง ควรต้องมีส่วนร่วมคิดเพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยามวิกฤต

 

ลักขณา ปันวิชัย: คิดว่าถึงเวลาที่น่าจะมีกลุ่มคนมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลุ่มผลประโยชน์ วิชาชีพต่างๆ มาร่วมกันนำเสนอภาพอนาคตและความเป็นไปได้ของประเทศไทย เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาเราถูกทำให้เชื่อว่าสังคมนี้สิ้นหวัง ไร้ทางออก หรือแม้แต่คิดว่ามันเป็นชะตากรรมประเทศไทยเปลี่ยนได้ ถ้าเราเริ่มพูดดังๆ ว่าเราต้องการจะเปลี่ยน และเรามีคนที่พร้อมจะผลักดันและทำความเปลี่ยนนั้นให้เป็นความจริง ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่อะไรจนเกินเอื้อม แต่เราต้องลุกขึ้นมาลงมือทำ

 

ภูมิธรรม เวชยชัย: ผมยึดมั่นในประชาชน เชื่อมั่นในพลังของพลเมืองว่ามีศักยภาพสะท้อนความต้องการและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมาเรายังให้ความสำคัญกับการฟังเสียงประชาชนน้อยเกินไป CARE คือความฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ เป็นพื้นที่ทางความคิดที่พลเมืองมารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงสร้างคลื่นของการเปลี่ยนแปลง อยากเชิญชวนมาร่วมกันสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดใหม่ เพื่อช่วยกันคิดเคลื่อนไทย

 

ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์: ด้วยแพสชันที่อยากเห็นภาคเกษตรของไทยได้รับการพัฒนา เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนญี่ปุ่น การใช้นวัตกรรมไปแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร ด้วยความที่เกิดและโตจากต่างจังหวัด เห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบเด็กบ้านนอก ได้มีโอกาสทำงานกับทีมญี่ปุ่น และได้เรียนต่อด้วยทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ทำให้เห็นว่าโอกาสสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เราไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ไม่ได้เป็นคนจากตระกูลดัง แต่ด้วยโอกาสที่ได้รับ ที่ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และทำให้เราอยากให้ทุกคนมีโอกาส เพราะมันเป็นการสร้างสังคมที่ดีกว่า

 

แคร์เกษตรกรเพราะพื้นฐานหลักในประเทศเป็นผู้ผลิตอาหาร แคร์โอกาสที่เท่าเทียม แคร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับเกษตรกร เชื่อว่าความจริงใจและความร่วมมือจากบุคลากรที่หลากหลาย จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงและโอกาสแบบใหม่ให้กับประเทศได้ เชื่อในการลงมือทำจากจุดเล็กๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลง

 

ย้อนกลับไปถึงต้นทางของการก่อรูปกลุ่ม CARE ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากกระแสความขัดแย้งที่ก่อหวอดจากภายในพรรคเพื่อไทย จนลุกลามปะทุออกมาหน้าสื่อในหลายระลอก ที่แน่ชัดคือรายงานข่าวจากวงประชุมที่สมาชิกพรรคลุกขึ้นอภิปรายถึงท่าทีของแกนนำบางคนที่ยังสวมเสื้อเพื่อไทย แต่ปันใจไปก่อการตั้งกลุ่มใหม่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีจากไปแต่ทำไมถึงเหยียบกัน ทำให้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ต้องเปิดห้องวิปฝ่ายค้านแถลงเคลียร์ประเด็นดังกล่าวที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนว่า เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้ต้องเป็นเช่นนี้ พร้อมแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ขัดที่จะมีการตั้งกลุ่ม CARE เพราะไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน

 

คำอธิบายก็ส่วนหนึ่ง ท่าทีก็ส่วนหนึ่ง คล้อยหลังการแถลงของแกนนำเพื่อไทยเพียงวันเดียว การประกาศเปิดตัวกลุ่ม CARE ก็กึกก้อง ขยับเกมรุกด้วยการใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ปูกระแสก่อนมาถึงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ 

 

และยังคงต้องจับตาท่าทีต่อไปว่า ถึงที่สุดแล้วกลุ่ม CARE จะมูฟตัวเองไปอยู่ในจุดใด เพราะ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกเริ่มต้นกลุ่ม CARE บอกว่าไม่ใช่พรรคการเมือง ถ้าจะมีใครเอาแนวคิดที่เกิดขึ้นในกลุ่มแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ไปใช้เราก็ยินดี ยังไม่มีความคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมือง รวมถึงปฏิเสธความเกี่ยวโยงกับทักษิณ ชินวัตร เพียงแต่หลายคนเคยเป็นรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ

 

“ข้อเสนอของเราค่อนข้างเป็นรูปธรรม และคิดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเราต้องการหาทางออกที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง แต่หัวใจต้องอยู่ที่ประชาชน เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของประชาชน โดยเราจะเสนอความเห็นต่อสาธารณะ แต่ถ้ารัฐบาล หรือใครเห็นว่าเป็นประโยชน์แล้วจะนำไปใช้ก็สามารถทำได้” นพ.พรหมมินทร์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising