องค์การอวกาศแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ‘เสินโจว-17’ (Shenzhou-17) พร้อมทีมนักบินอวกาศ 3 คน ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวันนี้ (26 ตุลาคม) เพื่อปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศจีนในวงโคจรประมาณ 6 เดือน
รายงานระบุว่า ยานอวกาศเสินโจว-17 ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนสุดของจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ประกอบด้วย ทังหงโป ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจเสินโจว-17 ขณะที่ เจียงซินหลิน และ ถังเซิ่งเจี๋ย ถือเป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่ของจีน โดยเฉพาะ ถังเซิ่งเจี๋ย ถือเป็นนักบินอวกาศอายุน้อยที่สุดที่จะได้เดินทางเข้าสู่สถานีอวกาศจีน
ทางด้าน หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการ CMSA แถลงข่าวว่า ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 จะทำการทดสอบอุปกรณ์บรรทุก (Payload) ทางวิทยาศาสตร์และการใช้งานในวงโคจรหลายรายการ นอกจากนั้น ทีมนักบินอวกาศทั้ง 3 คนจะปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ ติดตั้งอุปกรณ์บรรทุกนอกยานอวกาศ ดำเนินการบำรุงรักษาสถานีอวกาศ รวมถึงทดลองบำรุงรักษานอกยานอวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่มีความท้าทายมาก
หลินยังกล่าวอีกว่า ขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อยานอวกาศที่ดำเนินงานระยะยาวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ปีกแผงโซลาร์เซลล์ของสถานีอวกาศจีนถูกอนุภาคขนาดเล็กในอวกาศพุ่งชนหลายครั้ง จนเกิดความเสียหายเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หลินระบุเสริมว่า องค์การ CMSA คำนึงถึงกรณีเหล่านี้ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบสถานีอวกาศแล้ว ปัจจุบันตัวบ่งชี้การทำงานและประสิทธิภาพทั้งหมดของสถานีอวกาศยังคงเป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้
โดยทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ยังจะประเมินการทำงานและประสิทธิภาพของสถานีอวกาศ ทดสอบการประสานงานและความสอดคล้องระหว่างสถานีอวกาศจีนกับศูนย์สนับสนุนภาคพื้นดินในการปฏิบัติการและการบริหารจัดการของสถานีอวกาศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถในการแก้ไขข้อบกพร่องของสถานีอวกาศจีน
ภาพ: Xinhua Thai News Service