เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นเขื่อนหลัก ทำหน้าที่กักน้ำ
เมื่อน้ำล้นภูเขา น้ำจะล้นไปตามซอกเขา จึงต้องมีเขื่อนปิดช่องเขา (Saddle Dam) 5 เขื่อนคือ A, C, D, E และ F
เขื่อนที่แตกคือเขื่อนปิดช่องเขา D
– รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริษัท Korea Western Power จำกัด ชี้แจงรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า พบความเสียหายตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมแล้วว่าเขื่อนทรุดลง 11 เซนติเมตร
วันที่ 23 กรกฎาคม จาก 11 เซนติเมตร ทรุดลงเป็น 1 เมตร และเริ่มไหลเข้าท่วมชุมชน
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน!
– รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงเขื่อนแตกใหม่ๆ มีข่าวนำเสนอปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ตัวเลขที่สมเหตุสมผลน่าจะประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะวงความเสียหายยังอยู่ในระดับจังหวัด
– ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตามหลักการ เขื่อนจะออกแบบให้น้ำล้นสันเขื่อนปิดช่องเขา เสมือนทางระบายน้ำฉุกเฉิน
แต่กรณีนี้ น้ำยังไม่ล้นสันเขื่อนหลัก ถ้าวิกฤตเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจริงน้ำน่าจะล้นทั้ง 5 สันเขื่อนปิดช่องเขา
ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาเหตุที่เเตก เบื้องต้นคาดว่ามีการวางระบบระบายช่องทางน้ำล้นไม่ดีพอ ขณะที่เขื่อนไม่มีความแข็งเเรงมากพอกับการรับน้ำหนักของน้ำ และอาจมีระบบการจัดการความเสี่ยงที่ไม่ดีพอ
– รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เขื่อนใหญ่ในไทยมี 34 เขื่อน ดูแลโดยกรมชลประทาน และ กฟผ. ตามมาตรฐานนานาชาติ
แต่เขื่อนขนาดกลาง 800-900 เขื่อนหน่วยงานดูแลน้อย ขาดกำลังคนในการดูแล ซึ่งขณะนี้มีรายงานการรั่วซึมมากขึ้น
ส่วนเขื่อนขนาดเล็ก 7,000-8,000 เขื่อน ดูแลโดยหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.
– ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไทยพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สมากกว่า 60% แต่พึ่งพาพลังงานจากน้ำเพียง 6.84% ในแง่มิติด้านพลังงานจะไม่กระทบ
แต่จะมีผลกระทบต่อค่าเอฟที (FT) เพราะไฟฟ้าจากลาวต้นทุนอยู่ที่ 2.41 บาท/หน่วย แก๊สอยู่ที่ 3.09 บาท/หน่วย
เมื่อแหล่งพลังงานต้นทุนต่ำถูกเลื่อนออกไป ทำให้ต้องไปใช้ต้นทุนไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะไปสะท้อนที่ค่าเอฟที
– รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan