×

แลนด์สไลด์ที่ไอโอวา: เมื่อรีพับลิกันยังอยู่ในมือทรัมป์ และเส้นทางที่ตีบแคบของดีแซนทิสและเฮลีย์

17.01.2024
  • LOADING...

การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อสรรหาผู้ที่จะเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 มกราคม) ที่มลรัฐไอโอวา ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้พลิกโผไปจากผลโพลที่ออกมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด เมื่ออดีตประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายที่ 51% ทิ้งห่างคู่แข่งคนสำคัญอย่าง รอน ดีแซนทิส ที่ได้คะแนนเสียง 21% และ นิกกี เฮลีย์ ที่ตามมาที่ 3 ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเพียง 19%

 

รีพับลิกันยังคงเป็นของทรัมป์

 

นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนเคยมองว่าความนิยมของทรัมป์ได้เสื่อมลงไปมากจากกรณีเหตุจลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 อันจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันที่ได้รับการสนับสนุนจากทรัมป์พ่ายแพ้ต่อคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตเกือบจะทุกเขต

 

แต่อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐไอโอวาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทรัมป์ยังคงมีคะแนนนิยมในระดับที่สูงมากในหมู่สมาชิกพรรครีพับลิกัน เมื่อเขากวาดคะแนนได้เกินครึ่งหนึ่งและชนะคู่แข่งทั้ง รอน ดีแซนทิส และ นิกกี เฮลีย์ ได้ในทุกเขต ไม่ว่าจะเป็นเขตตัวเมือง ชานเมือง หรือชนบท

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ผลการสำรวจที่หน้าสนามเลือกตั้งหรือ Exit Poll ยังระบุด้วยว่าสมาชิกพรรคนั้นเชื่อในทุกสิ่งที่ทรัมป์กล่าวอ้าง โดยผู้มาเลือกตั้งถึง 2 ใน 3 เชื่อว่า โจ ไบเดน นั้นโกงเลือกตั้งในปี 2020 ในทำนองเดียวกัน ผู้มาเลือกตั้งอีก 2 ใน 3 ก็เชื่อด้วยว่าคดีความของทรัมป์เป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยที่พวกเขายังคงตั้งใจจะไปลงคะแนนให้ทรัมป์ถึงแม้ว่าศาลจะตัดสินว่าเขามีความผิดในคดีต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องในขณะนี้ก็ตาม

 

เส้นทางที่ตีบแคบของดีแซนทิสและเฮลีย์

 

คู่แข่งที่สำคัญของทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้นมีอยู่สองคนคือผู้ว่าการรัฐฟลอริดาคนปัจจุบันอย่างดีแซนทิส และอดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาอย่างเฮลีย์

 

ดีแซนทิสนั้นพยายามโจมตีทรัมป์จากทางขวาด้วยการชูภาพว่าเขาเป็นนักการเมืองที่มีความอนุรักษนิยมสูงกว่าทรัมป์ โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมอย่างเรื่องการทำแท้งและสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้เขายังพยายามชูภาพที่ว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงกว่าทรัมป์โดยที่เขาสามารถชนะการเลือกที่มลรัฐฟลอริดาได้ถึง 20% ในขณะที่ทรัมป์ชนะที่มลรัฐนี้เหนือไบเดนเพียงแค่ 3%

 

ซึ่งในช่วงแรกของการหาเสียงนั้น ดีแซนทิสออกตัวได้ดีโดยที่มีคะแนนนิยมสูสีกับทรัมป์ แต่พอฤดูหาเสียงผ่านไปนานเข้า คะแนนของเขาก็ลดลงเรื่อยๆ โดยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นผลมาจากบุคลิกของดีแซนทิสที่ค่อนข้างจะมีความแปลกและไม่สามารถคอนเน็กกับประชาชนทั่วไปได้ รวมถึงผลงานการดีเบตที่ไม่ค่อยจะเข้าตา

 

มลรัฐไอโอวานั้นเป็นเขตอนุรักษนิยมสูง (โดยเฉพาะกลุ่มเคร่งศาสนา) ที่ควรจะเป็นฐานเสียงโดยธรรมชาติของดีแซนทิส ดังนั้นเขาไม่ควรที่จะแพ้ทรัมป์ขาดลอยเช่นนี้ การที่ดีแซนทิสคว้าคะแนนได้เพียง 20% และแพ้ให้กับทรัมป์ถึง 30% ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์ ‘ขวากว่า’ ของเขานั้นไม่ได้ผล และมองไม่เห็นว่าเขาจะชนะทรัมป์ในสนามที่ไม่อนุรักษนิยมเท่าไอโอวาได้อย่างไร

 

ในทางตรงกันข้าม เฮลีย์พยายามโจมตีทรัมป์จากทางซ้าย โดยชูภาพความเป็นนักการเมืองแบบกลางขวา ซึ่งเส้นทางของเฮลีย์นั้นอาจจะดูชัดเจนกว่าดีแซนทิส เพราะถ้าหากเธอเอาชนะทรัมป์ได้ทั้งที่นิวแฮมป์เชอร์ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสายกลางเป็นจำนวนมาก และเซาท์แคโรไลนาที่เธอเคยเป็นผู้ว่าการรัฐมาก่อน ชัยชนะที่สองมลรัฐนี้ก็อาจเป็นสปริงบอร์ดให้เธอสร้างเซอร์ไพรส์ใน Super Tuesday ที่จะมีการเลือกตั้งพร้อมกันใน 16 มลรัฐก็เป็นได้

 

สิ่งที่เฮลีย์คาดหวังจากไอโอวาคือการเอาชนะดีแซนทิสขึ้นเป็นที่สองเพื่อสร้างโมเมนตัมก่อนการเลือกตั้งที่นิวแฮมป์เชอร์ในสัปดาห์หน้า แต่เธอก็ทำไม่สำเร็จ นั่นก็ทำให้เส้นทางที่ตีบแคบอยู่แล้วของเธอนั้นแคบลงไปอีก

 

คดีความต่างๆ อาจจะเป็นจุดตายของทรัมป์

 

แต่อย่างไรก็ดี การเอาชนะทรัมป์ในสนามเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่หนทางเดียวสู่การเป็นผู้แทนพรรคของดีแซนทิสและเฮลีย์ เพราะทรัมป์กำลังเผชิญคดีความในศาลถึง 4 คดี ได้แก่ คดีเอกสารทางธุรกิจอันเป็นเท็จ, คดีเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021, คดีเอกสารลับของทำเนียบขาว และคดีพยายามเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่จอร์เจีย ซึ่งคดีต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มมีการพิจารณาความกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

 

คดีที่ทรัมป์ต้องวิตกที่สุดน่าจะไม่พ้นคดีเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภา เพราะคดีนี้อาจจะเข้าข่ายว่าเป็นการก่อกบฏ ซึ่งจะมีผลต่อสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ตามรัฐธรรมนูญข้อแก้ไขที่ 14 ที่ห้ามผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อการกบฏดำรงตำแหน่งในรัฐบาล) ซึ่งศาลสูงสุดของมลรัฐโคโลราโดก็ได้ตัดสินแล้วว่าทรัมป์ไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญข้อนี้ แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะต้องรอให้ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตัดสินอีกที

 

ภาพ: Brandon Bell / Getty Images

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

เกาะติด การเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ได้ที่ เว็บไซต์พิเศษ : เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 และ Facebook : THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X