×

สุทิน รับปากทบทวนแบ่งที่ดินสร้างศูนย์ต่อสู้อากาศยาน จ.ภูเก็ต ให้ชาวบ้าน หลังพบรุกที่ดินป่าสงวน ยืนยันหน่วยงานพิจารณาแล้วต้องใช้ 3,000 ไร่

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2023
  • LOADING...
สุทิน คลังแสง

วันนี้ (26 ตุลาคม) ที่รัฐสภา ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถาม สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงเหตุผลการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้เป็นศูนย์ต่อสู้อากาศยานของกองทัพเรือจำนวน 3,000 กว่าไร่ สอดคล้องกับนโยบายการลดกำลังทหารและภัยความมั่นคงใหม่หรือไม่ 

 

ด้านสุทินกล่าวว่า กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กองทัพเรือใช้ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจุดสำคัญในด้านทะเลอันดามันที่เราจะต้องคุ้มครองเป็นพิเศษ และมีสนามบินภูเก็ตเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ติดชายฝั่งทะเล โดยกองทัพไทยได้มอบให้กองทัพเรือรับผิดชอบจุดยุทธศาสตร์ดังกล่าว และทางกองทัพเรือได้สำรวจในช่วงก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง พบว่าจุดดังกล่าวสามารถเคลื่อนกำลังหรือวางกำลังมาปกป้องได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และเป็นพื้นที่ต่อสู้อากาศยานได้ดีที่สุด เนื่องจากห่างจากสนามบินเพียง 12 กิโลเมตร

 

ส่วนการใช้ที่ดินดังกล่าวจำนวน 3,000 ไร่นั้น สุทินกล่าวว่า เชื่อว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอย่างถูกต้องแล้ว สำหรับการนำที่ทหารมาช่วยเหลือประโยชน์ให้กับประชาชนตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น ตนจะไปติดตามและรับไปตรวจสอบ ทบทวน หากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้งาน จะแบ่งมาให้กับพี่น้องในชุมชน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรับปากว่าจะนำมาคืนให้กับชาวบ้าน

 

สำหรับนโยบายการแบ่งที่ดินของกระทรวงกลาโหมให้ประชาชนได้ใช้งานนั้น มีเกณฑ์การแบ่ง เช่น พื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ทางยุทธศาสตร์การซ้อมรบต้องกันไว้ให้ทหาร ส่วนที่ที่ไม่ได้ใช้ส่วนใหญ่ หากเป็นที่ของกรมธนารักษ์จะต้องเข้าสู่กระบวนการใช้ตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ เช่น การให้เช่า เป็นต้น และบางส่วนอาจเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ แม้ทางทหารจะคืนที่ดินนั้นไป กรมป่าไม้ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณา ทหารไม่สามารถใช้ตามใจหรือละเลยสิ่งแวดล้อมทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมได้ 

 

ส่วนคำถามที่ว่า กระทรวงกลาโหมจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฝึกแห่งนี้จำนวนเท่าไร ได้ศึกษาผลกระทบต่อประชาชน และมีหน่วยงานที่เยียวยาประชาชนแล้วหรือไม่ สุทินยืนยันว่า ได้ศึกษาผลกระทบแล้ว พบว่ามีประชาชนใช้สิ่งปลูกสร้างถาวรอาศัยอยู่ 25 ครอบครัว มีสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่มีคนอาศัยอยู่ 23 ครอบครัว และสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว 22 ครอบครัว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบไม่ให้ครอบครัวเหล่านี้ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิต 

 

สุทินกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการพิสูจน์สิทธิ หากพบประชาชนอาศัยอยู่ก่อนกฎหมายออกมา จะได้สิทธิที่อยู่อาศัยนั้นไป แต่จากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนส่วนนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์เงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิที่อยู่อาศัย และอยู่ในช่วงพิพาทกับกรมป่าไม้ ชาวบ้านจะไม่มีสิทธิอยู่ แม้ไม่มีกองทัพเรือเข้าไปก็จะยังมีปัญหากับกรมป่าไม้ แต่ทางกองทัพเรือยืนยันว่า เมื่อเข้าไปดำเนินการแล้วจะมีการเยียวยาและรับผิดชอบผลกระทบของราษฎร โดยจะเปิดศูนย์รวบรวมสิทธิ ซึ่งในระยะสั้นพืชผลและสิ่งปลูกสร้างที่ราษฎรได้ทำไว้ กองทัพเรือจะไม่เข้าไปทำลายและปล่อยให้มีการเก็บเกี่ยวพืชผล ส่วนในระยะยาวจะหาที่ดินแห่งใหม่ให้พี่น้องประชาชนได้อาศัย แต่เนื่องจากในจังหวัดภูเก็ตมีที่ดินจำนวนน้อย จึงได้หาที่ดินในจังหวัดอื่นเพื่อมารองรับแทน

 

ขณะที่การศึกษาด้านผลกระทบ สุทินระบุว่า มีการศึกษาแต่ยังไม่ถึงขั้นทำ EIA ส่วนงบประมาณในปี 2567 ใช้งบประมาณ 1,550 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างโครงสร้างและถนนหนทาง ในปี 2568 ใช้งบประมาณ 380 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างกองบังคับการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และเป็นที่อยู่อาศัยของกำลังพล 

 

สำหรับการก่อสร้างศูนย์ต่อสู้อากาศยานของกองทัพเรือที่จังหวัดภูเก็ต สุทินยืนยันว่า จำเป็นต้องเป็นที่นี่เนื่องจากจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด และกองทัพเรืออยากใช้ที่นี่ แม้จะมีค่ายทหารในจังหวัดพังงา แต่มีระยะทาง 60 กิโลเมตร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising