×

ทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่งกำลังแห้งเหือด อีกหนึ่งวิกฤตการณ์จากภาวะโลกรวน

19.05.2023
  • LOADING...

ผลการวิจัยจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการ Science ระบุว่า ทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนกว่าครึ่ง มีปริมาณน้ำลดลงอย่างน่าตกใจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกรวนบวกกับการที่มนุษย์ใช้น้ำมากเกินความจำเป็น

 

ปัจจุบันมีประชากรราว 1 ใน 4 ของโลกที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ของทะเลสาบที่กำลังแห้งเหือด โดยถึงแม้พื้นที่ของทะเลสาบจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 3% ของโลกใบนี้ แต่พวกมันคือแหล่งกักเก็บน้ำจืดถึง 90% ของโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีน้ำดื่มกินหรือไว้ใช้สำหรับการชลประทานและการผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นบ้านของสัตว์และพืชอีกนับไม่ถ้วน

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของทะเลสาบในขณะนี้เรียกได้ว่าน่าเป็นห่วงอย่างมากเลยทีเดียว

 

โดยปกติแล้วระดับน้ำในทะเลสาบจะแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฝน และหิมะ แต่ปัจจุบันกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในทะเลสาบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเรามองในภาพใหญ่ระดับโลก จะเห็นได้ว่าทะเลสาบขนาดยักษ์จำนวนมากมีระดับน้ำลดลงอย่างหนัก ทะเลสาบมี้ด (Lake Mead) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และมีทำเลที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโคโลราโดในสหรัฐอเมริกา มีปริมาณน้ำลดลงอย่างมากท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และการใช้น้ำปริมาณมหาศาลของผู้คนตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่วนน้ำในทะเลแคสเปียนซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเอเชียและยุโรปก็กำลังแห้งลงอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนและการใช้น้ำของมนุษย์

เปิดข้อมูลสุดช็อก น้ำในทะเลสาบลดลงทุกพื้นที่ทั่วโลก

 

เฟิงเฟิง เหยา (Fangfang Yao) ผู้เขียนหลักของงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งเป็นนักวิชาการรับเชิญ (Visiting Scholar) จากสถาบัน Cooperative Institute for Research in Environmental Sciences แห่ง University of Colorado Boulder กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีการบันทึกข้อมูลการปรับตัวลงของระดับน้ำอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ถึงเช่นนั้นกลับไม่ค่อยมีรายงานที่วิเคราะห์ถึงเบื้องหลังหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

สำหรับการวิจัยชิ้นนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้วิธีการวัดระยะด้วยดาวเทียม (Satellite Measurement) มาประเมินทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลกเกือบ 2,000 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 95% ของปริมาณน้ำในทะเลสาบทั้งหมดของโลกรวมกัน

 

หลังจากที่ได้ประเมินภาพจากดาวเทียมกว่า 250,000 ภาพที่เก็บมาระหว่างปี 1992-2020 และเทียบกับแบบจำลองสภาพอากาศ ข้อมูลต่างๆ ก็ประกอบกันเป็นจิ๊กซอว์ที่เผยให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของทะเลสาบย้อนหลังไปเป็นเวลาเกือบ 30 ปี

 

ผลการวิจัยออกมาว่า 53% ของทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือตีเป็นตัวเลขกลมๆ คือลดลงราว 2.2 หมื่นล้านเมตริกตันต่อปี! โดยมากกว่าครึ่งของปริมาณน้ำที่สูญเสียไปในทะเลสาบธรรมชาติเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และภาวะโลกรวน

 

เหยากล่าวว่า น้ำในทะเลสาบที่มีการวิเคราะห์นั้น ‘ลดลงในทุกพื้นที่ทั่วโลก’ รวมทั้งในเขตร้อนชื้นและในแถบอาร์กติกที่มีความหนาวเย็น ทำให้เห็นว่าแนวโน้มที่น้ำแห้งเหือดนั้นเป็นเหมือนกันหมดทั่วโลกและหนักหนากว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้

หลากแม่น้ำเหือดแห้ง หลายเหตุผลเบื้องหลัง

 

รายงานพบว่า ‘การอุปโภคบริโภคน้ำโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำของทะเลอารัล (Aral Sea) ในอุซเบกิสถาน และทะเลซอลตัน (Salton Sea) ในแคลิฟอร์เนียลดลง ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาในทะเลสาบเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทะเลสาบเกรตซอลต์ (Great Salt Lake)

 

ส่วนในแถบอาร์กติก สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการแห้งเหือดของทะเลสาบมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ฝนหรือหิมะ การระเหย และปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน

 

เหยากล่าวว่า ก่อนหน้านี้โลกไม่เคยรู้มาก่อนว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์และผลพวงจากโลกรวนจะทำให้ระดับน้ำลดลงได้มากถึงขนาดนี้ ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ความแห้งแล้งของทะเลสาบกู๊ด-เอ-ซาเรห์ (Lake Good-e-Zareh) ในอัฟกานิสถาน และทะเลสาบมาร์ชิกิตา (Lake Mar Chiquita) ในอาร์เจนตินา

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อทะเลสาบได้หลายประการ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือภาวะดังกล่าวได้เร่งการระเหยของน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม และเมื่อน้ำในทะเลสาบหดตัวลง ก็จะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำโดยรอบนั้นแห้งแล้งลงไปด้วย และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้การระเหยเร่งตัวมากขึ้นไปอีก

 

ส่วนทะเลสาบที่อยู่ในเขตภูมิประเทศที่มีอากาศเย็น ปัญหาการระเหยของน้ำในฤดูหนาวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้นได้ละลายน้ำแข็งที่ปกติจะปกคลุมผิวน้ำอยู่ จนทำให้พื้นที่ของน้ำที่สัมผัสกับอากาศมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ เช่น ทำให้คุณภาพน้ำลดลง ทำให้ชุมชนที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำเหล่านั้นลำบากมากกว่าเดิม ขณะที่สาหร่ายที่เป็นพิษใต้น้ำนั้นเบ่งบานมากขึ้น ส่วนพืชน้ำและสัตว์น้ำทั้งหลายอาจล้มตายลงมากกว่าเดิม

 

สำหรับอ่างเก็บน้ำ ผลการวิจัยระบุว่าปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ระดับน้ำลดลงคือ ‘การทับถมของตะกอน’ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี ตะกอนที่ถูกพัดพามารวมกันเป็นจำนวนมากจะสะสมตัวกลายเป็นชั้นหินและทำให้พื้นที่กักเก็บน้ำลดลง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือทะเลสาบพาวเวลล์ (Lake Powell) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐฯ ได้สูญเสียความจุกักเก็บไปเกือบ 7% เนื่องจากปัญหาการสะสมตัวของตะกอน

 

นอกจากนี้ภาวะโลกรวนก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เร่งให้เกิดการทับถมของตะกอนได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เหตุไฟป่าที่ตอนนี้กำลังเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เพราะไฟที่แผดเผานั้นจะทำให้ชั้นดินไม่มั่นคง ส่งผลให้ดินเหล่านั้นไหลลงสู่ทะเลและอ่างเก็บน้ำได้

ข่าวดี! ยังมีน้ำในทะเลสาบบางแห่งที่เพิ่มขึ้น

 

หลังจากที่ได้ฟังข้อมูลที่น่ากังวล (อย่างมาก) กันมาแล้ว ก็มาถึงข่าวดีกันบ้าง โดยเหยากล่าวว่า ไม่ใช่ทะเลสาบทุกแห่งที่จะมีน้ำลดลง เพราะมีทะเลสาบคิดเป็นสัดส่วนราว 24% ที่มีน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีประชากรน้อย เช่น ทะเลสาบในที่ราบเกรตเพลนส์ของทวีปอเมริกาเหนือ และที่ราบสูงทิเบตตอนใน

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกรวนยังมีผลต่อทะเลสาบบางส่วนในกลุ่มนี้ เนื่องจากน้ำที่เกิดจากการละลายตัวของธารน้ำแข็งได้ไหลลงไปสะสมในทะเลสาบ เป็นสิ่งที่สร้างความเสี่ยงให้ประชาชนที่อยู่ปลายน้ำด้วยเช่นกัน เพราะอาจเกิดเหตุน้ำล้นตลิ่งจนเข้าท่วมเขตชุมชนได้

 

มาดูข้อมูลในส่วนของอ่างเก็บน้ำกันบ้าง ข้อมูลระบุว่าในขณะที่อ่างเก็บน้ำเกือบ 2 ใน 3 มีปริมาณน้ำลดลงมหาศาล แต่หากดูในภาพรวมแล้วปริมาณน้ำสุทธิได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีอ่างเก็บน้ำที่ถูกเติมเต็มใหม่กว่า 180 แห่ง

 

ข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความน่ากลัวของผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่คืบคลานเข้ามาใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนานาประเทศที่ควรเร่งออกแผนบริหารการจัดสรรปันส่วนน้ำอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์จะทำให้แหล่งน้ำจืดเหล่านี้แห้งเหือดลงรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้

 

เพราะผู้ที่จะเดือดร้อนที่สุดก็หนีไม่พ้นเราทุกคน

 

แฟ้มภาพ: Piyaset Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising