สร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอคติ
เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความเสมอภาคเป็นสิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญมาโดยตลอด เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร พนักงานทุกคนมีโอกาสในการเติบโตในองค์กรเท่ากัน เราอยากให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้อย่างเต็มที่ จึงมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการมีอคติในสถานที่ทำงาน และการมอบโอกาสแก่ทุกคนให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ที่แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เรามีพนักงานผู้หญิงกว่า 71.6% และสมาชิกกว่า 50% ของทีมบริหารแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย นั้นเป็นผู้หญิง”
ส่วนในทวีปเอเชียก็มีสัดส่วนของพนักงานหญิงในระดับที่สูงเช่นกัน “ในปี 2564 แอสตร้าเซนเนก้ามีสัดส่วนพนักงานหญิงในทวีปเอเชีย ไม่รวมประเทศอินเดีย สูงถึง 57% และระดับผู้จัดการอาวุโสขึ้นไปเป็นพนักงานผู้หญิงถึง 53% นอกจากนี้อัตราการเข้างานของพนักงานใหม่ที่เป็นผู้หญิงก็มีสัดส่วนสูงถึง 62% ขณะที่อัตราส่วนของพนักงานผู้หญิงที่ได้เลื่อนตำแหน่งนั้นมีสูงถึง 64% และในระดับโกลบอลนั้น แอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 สัดส่วนของผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปทั้งชายและหญิงจะต้องเท่าเทียมกันอีกด้วย”
การผลักดันศักยภาพของสตรีทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในปี 2564 แอสตร้าเซนเนก้า คือ 1 ใน 325 บริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีผลงานโดดเด่นด้านการสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ จากรายงาน LP Gender-Equality Index 2021 ของสำนักข่าว Bloomberg และยังได้รับการจัดอันดับโดยวารสาร Hampton-Alexander Review ว่าเป็นบริษัทยาใน The Financial Times Stock Exchange 100 หรือ FTSE 100 ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้บริหารหญิงมากที่สุด
ภญ.ณัฐพร สุนทรสัจ ผู้จัดการหน่วยธุรกิจกลุ่มยามะเร็ง ผู้ที่ทำงานกับแอสตร้าเซนเนก้ามากว่า 2 ทศวรรษ เผยว่า “ดิฉันได้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่เปิดกว้างมาก มีการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และวงการยาในประเทศไทย ตลอดการทำงานกว่า 20 ปีกับแอสตร้าเซนเนก้า ดิฉันได้เห็นการพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนยาเหล่านี้มีน้อยมาก เราได้เห็นว่าสิ่งที่เรามุ่งมั่นพัฒนานั้นเป็นประโยชน์ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
“ความท้าทายอย่างแรกคือการทำงานในวงการยาและการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน ก็คือการทำงานที่มีความแตกต่างกันทางความคิด แต่ท่ามกลางความแตกต่างนั้นมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ การมุ่งเน้นให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาและนวัตกรรมด้านสุขภาพได้มากขึ้น เป็นต้น และการที่พนักงานจะสามารถคิดหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย และเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องโดยเสมอภาคกัน ก็คือการให้โอกาสเปิดกว้างทางความคิด มุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาค และให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของผู้หญิงในที่ทำงานในสัดส่วนที่เท่าเทียมกับเพศชาย เพราะเมื่อบทบาทของผู้หญิงในวงการนี้มีความเท่าเทียมกัน ก็จะกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างทางความคิดและอิสระในการทำงาน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน เช่นถึงฉันจะเป็นผู้หญิง ฉันก็ทำได้ จึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่” ภญ.กฤตยา จงธนะวณิช ผู้จัดการด้านราคาและการเข้าถึงตลาดกล่าว
ขณะที่ พญ.อรสิริ ปิติสุทธิธรรม ผู้จัดการฝ่ายการแพทย์ กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำงานที่แอสตร้าเซนเนก้าก็เพราะว่าอยากที่จะใช้วิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก และการที่แอสตร้าเซนเนก้ามีจุดยืนที่ชัดเจนในการนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการรักษาผู้ป่วย เปิดโอกาสให้เรามองเห็นความเป็นไปได้มากมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ดิฉันมีโอกาสทำงานกับคนที่มีความสามารถทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่มีการปิดกั้นทางความคิด การเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนสามารถนำเสนอสิ่งที่ตนเองคิดออกมาอย่างเสมอภาคนั้น ทำให้เรามีพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ”
การสนับสนุนสิทธิของเด็กผู้หญิง
นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรที่มีการเปิดกว้างทางความคิด แอสตร้าเซนเนก้ายังได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิของเด็กผู้หญิงในสังคม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ผ่านโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme (YHP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล โดยในปีล่าสุดได้จัดกิจกรรม #GirlsTakeOver เพื่อรณรงค์ด้านการยอมรับความแตกต่างในสังคมและสร้างความตื่นตัวเรื่องความท้าทายต่างๆ ที่เด็กผู้หญิงในประเทศไทยกำลังเผชิญ โดยเหล่าผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้าได้เปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงในกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการได้ลองสวมบทบาทผู้บริหารขององค์กรเป็นเวลา 1 วัน ภายใต้ธีมผู้นำหญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนา (Leading Women in Science, Innovation, Technology and Development) เพื่อมอบประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมพัฒนาศักยภาพของเด็กผู้หญิง เพื่อให้มีแนวทางในการก้าวไปเป็นผู้บริหารหญิง และสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมต่อไป