THE STANDARD ลงพื้นที่แคมป์ก่อสร้างซอยวัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในแคมป์มีคนงานหลายคนที่ติดโควิดและยังคงรอเตียงในการรักษาอยู่ คนดูแลคนงานในแคมป์ให้ข้อมูลกับเราว่า มีคนงานทั้งหมด 330 ราย พบติดโควิดจำนวน 148 ราย ไปโรงพยาบาลแล้ว 69 ราย และจะแยกส่วนที่อยู่กันชัดเจนระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ที่ยังไม่พบเชื้อ โดยคนงานภายในแคมป์พักอาศัยภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ทำจากแผ่นสังกะสีแคบๆ ซึ่งโดยปกติกลางวันจะออกไปทำงาน และกลับมาอยู่ภายในห้องเฉพาะช่วงกลางคืนเพียงเท่านั้น แต่ตอนนี้พวกเขาต้องใช้เวลาอยู่ในนี้นานขึ้นท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยหลังคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก แม้จะได้เงินชดเชย 50% แต่ก็ไม่พอใช้อยู่ดี เพราะรายจ่ายเท่าเดิม รายรับน้อยลง หลายคนกังวล เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะได้เงินชดเชยเมื่อไร
คนงานภายในแคมป์ ต้องกักตัว 30 วัน หลังมาตรการรัฐประกาศออกมา
ภายในแคมป์มีคนงานหลายคนที่ติดโควิดและยังคงรอเตียงในการรักษาอยู่
คนงานภายในแคมป์พักอาศัยภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ทำจากแผ่นสังกะสีแคบๆ ซึ่งโดยปกติกลางวันจะออกไปทำงาน และกลับมาอยู่ภายในห้องเฉพาะช่วงกลางคืนเพียงเท่านั้น
นั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้ สภาพอากาศกลางวันที่ร้อนอบอ้าว ภายในห้องสังกะสีทึบ ในช่วงกักตัว คนงานส่วนใหญ่มากออกมาอยู่ภายนอกห้องที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนมาก
บางคนนำเปลญวนออกมาขึงนอนบริเวณใต้ต้นไม้เพื่อนอนเล่นในเวลากลางวัน แทนการอยู่ภายในห้องที่แสนอบอ้าว
บางคนออกมาแค่ชมวิวริมระเบียง แต่ไม่ได้เดินออกเล่นบริเวณทางเดิน เพราะกลัวการติดเชื้อ
แรงงานข้ามชาติหญิงหลายคนใช้เวลาไปกับการนั่งปักผ้าลวดลายต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นผ้าม่าน ปลอกหมอน และกระเป๋า
เพราะอากาศที่ร้อนทำให้ต้องการดื่มน้ำมาก ภายในระหว่างวันมีคนงานแวะเวียนมากดน้ำดื่มจากตู้น้ำอย่างไม่ขาดสายจนตู้กดน้ำเสีย
โดยปกติคนงานจะอาบน้ำเพียงวันละสองรอบ คือ เช้าและเย็น แต่ในช่วงกักตัว คนงานส่วนใหญ่อาบน้ำมากกว่าวันละสองรอบ เมื่อรู้สึกร้อน เหงื่อออกเยอะ ก็จะเดินถือตะกร้าที่เต็มไปด้วยสบู่แชมพูไปอาบน้ำที่โรงอาบน้ำ
เนื่องจากที่แคมป์มีผู้ป่วยโควิดหลายรายที่ยังคงรอเตียงรักษาอยู่ จึงต้องมีการแยกโซนพักอาศัย โซนอาบน้ำ แม้กระทั่งก๊อกน้ำก็ยังต้องแยกเฉพาะสำหรับผู้ป่วย
ในทุกวัน ทางบริษัทก่อสร้างจะดูแลคนงานด้านอาหาร โดยจะมีอาหารแจกทั้งหมดสามมื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น โดยจะเรียกคนงานเป็นโซน เพื่อเข้ามารับอาหารและไม่ให้แออัดจนเกินไป
แต่คนงานหลายคนมักเคยชินกับการทำอาหารรับประทานเอง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และรสชาติถูกใจกกว่าอาหารแจก จึงมักสั่งวัตถุดิบผ่านทาง LINE ของร้านในตลาดและให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาส่งของ
เมื่อนำของมาส่งทุกครั้ง จะมีการฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ทั้งของที่นำมาส่งและเงินที่จ่าย
แรงงานบางคนไม่มีสมาร์ทโฟนสำหรับติดต่อสั่งสินค้าได้ มักมายืนรอวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่นำของมาส่ง เพื่อยื่นกระดาษรายการของที่ต้องการส่งให้ และนำมาส่งในรอบถัดไป
ระหว่างวันมักมีชาวบ้านนำอาหารมาให้เจ้าหน้าที่อนามัยและตำรวจทหารที่คอยเข้ามาดูแลคนงานภายในแคมป์ เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
หลังจากการปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก แม้จะได้เงินชดเชย 50% แต่ก็ไม่พอใช้อยู่ดี เพราะรายจ่ายเท่าเดิม รายรับน้อยลง หลายคนกังวล เพราะไม่รู้ว่าจะได้เงินชดเชยเมื่อไร
หลายคนหวังว่าจะไม่ต้องกลับไปยังวังวนเช่นนี้อีกครั้ง