ที่ประเทศอินเดีย ธุรกิจร้านตัดผมหรือร้านเสริมสวยซาลอนนั้นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ชอบไปใช้บริการตัดผม ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา เคยมีรายงานข่าวระบุว่าบริการตัดผมแบบเดลิเวอรีมาแรงแซงร้านตัดผมทั่วไปและโกยรายได้เข้ากระเป๋าจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าธุรกิจเกี่ยวกับการเสริมสวยในอินเดียนั้นไปได้ดีจริงๆ ล่าสุดมีร้านตัดผมเปิดใหม่ชื่อซาลอน La Beauté & Style กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นร้านเสริมสวยแห่งแรกของอินเดียที่ดำเนินกิจการโดยชายข้ามเพศ
Aryan Pasha เจ้าของซาลอน La Beauté & Style แห่งนี้ เขาอายุ 30 ปี เป็นทั้งทนายความ นักเคลื่อนไหว และเป็นนักเพาะกายชายข้ามเพศคนแรกของอินเดียด้วย เหตุผลที่เขาเปิดร้านเสริมสวยเพราะต้องการสร้างพื้นที่ที่คนข้ามเพศสบายใจที่จะเข้าไปรับบริการเสริมความงามด้านต่างๆ เขาบอกว่าการที่เขาสร้างร้านขึ้นมาไม่ได้ต้อนรับแค่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เขายินดีต้อนรับทุกคนโดยไม่จำกัดเพศแต่อย่างใด
ร้านเสริมสวย La Beauté & Style ของ Aryan Pasha ถูกทาสีผนังของร้านด้วยสีรุ้งหลากสี เป็นที่โดดเด่นสะดุดตาแก่ผู้พบเห็นทั่วไป ตามที่เขาบอกว่าที่นี่ยินดีต้อนรับทุกคนโดยไม่จำกัดเพศไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด ก็สามารถเข้ามาใช้บริการที่นี่ได้อย่างสบายใจไม่แตกต่างจากร้านตัดผมหรือร้านเสริมสวยอื่นๆ เพียงแต่สิ่งที่เขาสร้างร้านเสริมสวยโดยมีคอนเซปต์ที่เฉพาะเจาะจงนั้นเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของเขา ชุมชนของเขา แม้ว่ากฎหมายของอินเดียจะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยบุคคลข้ามเพศที่มีการคุ้มครองสิทธิ ปี 2019 อยู่ แต่ก็ยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและถูกปฏิเสธอยู่ดี
Aryan Pasha ยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าเราจะร่วมกันสนับสนุนและดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในประเด็นกระแสหลัก เช่น สวัสดิการ สิทธิ และสุขภาพของคนข้ามเพศ และการถูกตัดสิน ปิดกั้นสิทธิยังคงเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขา
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนของ Aryan Pasha ผู้เปลี่ยนจากผู้หญิงเป็นผู้ชายหลังจากการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2011 บอกว่า “เราเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรทั้งภายในโรงเรียน วิทยาลัย และในที่ทำงาน ซึ่งมันทำให้เรามีแผลเป็นไปตลอดชีวิต”
จากการศึกษาในปี 2560 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินเดีย พบว่า 92% ของคนข้ามเพศในอินเดียถูกลิดรอนสิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบในประเทศ 99% ถูกสังคมปฏิเสธมากกว่าหนึ่งครั้ง รวมทั้งจากครอบครัวของพวกเขาด้วย และ 96% ถูกปฏิเสธงานและถูกบังคับให้เข้าไปในพื้นที่ เช่น งานบริการทางเพศหรือการขอทานเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย
อ้างอิง: