เมื่อวันที่ 13-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา THE STANDARD ได้ลงพื้นที่เกียวโตและโอซาก้าเพื่อติดตามรายงานการแข่งขันเกียวโตมาราธอนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ก่อนที่จะพบกับข่าวยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศญี่ปุ่น ทั้งการยกเลิกการแข่งขันโตเกียวมาราธอนสำหรับนักวิ่งทั่วไปกว่า 3 หมื่นคน
รวมถึงการที่บริษัทภายในประเทศญี่ปุ่นจาก Sony ถึง Takeda Pharmaceutical อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เนื่องจากยังคงเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคโควิด-19
ข่าวสารดังกล่าวส่งผลให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากแหล่งข่าวที่เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่ามีกลุ่มทัวร์จากประเทศไทยหลายกลุ่มยกเลิกทัวร์ประเทศญี่ปุ่น
รวมถึงทาง นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ผู้ที่กำลังเดินทางไปยังประเทศที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หากสามารถเลี่ยงได้ก็ขอให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน แต่ถ้าเลื่อนไม่ได้ ผู้เดินทางต้องมีการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ดูแลสุขภาพตัวเองให้รัดกุมยิ่งขึ้น
จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น THE STANDARD ขออนุญาตเล่าผ่านมุมมองที่ได้มีโอกาสสังเกตการณ์สถานการณ์ภายในเกียวโตและโอซาก้าตลอดหลายวันที่ผ่านมา
1. เกียวโตมาราธอน
เกียวโตมาราธอนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่การเข้าร่วมงานเอ็กซ์โปที่จัดขึ้นสำหรับนักวิ่ง ในปีนี้พบว่ามีผู้เข้าร่วมงานค่อนข้างบางตา และมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไปอย่างเข้มงวด
โดยผู้ที่จะเดินเข้ามาใน Miyako Messe (Kyoto International Exhibition Hall) จะได้รับหน้ากากอนามัยบริเวณทางเข้าทุกจุด นอกจากนี้ยังมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออยู่ตามจุดต่างๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ
บรรยากาศทั่วไปภายในตัวเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ค้นพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปจากพื้นที่เกือบทั้งหมด เหลือเพียงชาวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวชาวไทย นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ส่วนการหาซื้อหน้ากากอนามัยภายในเกียวโต จากการสำรวจร้านสะดวกซื้อประมาณ 4 แห่งพบว่าขายหมดทุกร้าน โดยราคาอยู่ที่ประมาณกล่องละ 700 เยน (บรรจุ 60 ชิ้น)
สำหรับการแข่งขันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่สนามมาราธอนส่วนใหญ่ใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัย แต่ด้วยสภาพอากาศที่มีฝนตกลงมาเกือบทั้งวัน ทำให้การป้องกันดูยากลำบากขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่และนักวิ่ง
2. โอซาก้า แหล่งท่องเที่ยว และตลาด
ฝั่งของโอซาก้า ใกล้กับป้ายกูลิโกะ ริมคลองโดทงโบริ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง พบว่ามีผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ในบางจุดของถนน
ขณะที่ตลาดคุโรมง ตลาดสดชื่อดังของโอซาก้า มีนักท่องเที่ยวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตลอดเส้นทางจะค้นพบนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นส่วนใหญ่
ส่วนการหาซื้อหน้ากากอนามัย ภายในโอซาก้ามีจำหน่ายมากกว่าในเกียวโต แต่คงกฎระเบียบข้อเดิมคือหนึ่งคนสามารถซื้อได้เพียงแค่หนึ่งกล่อง ขณะที่ประชาชนทั่วไปในญี่ปุ่นพบว่าเกือบทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดทั้งวัน แต่ไม่พบเห็นภาพการแย่งซื้ออุปกรณ์ทั้งหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
กิจกรรมกลางแจ้งอย่างการซ้อมฟุตบอลภายใน Captain Tsubasa Stadium สนามชื่อดังของโอซาก้ายังคงมีให้เห็นในค่ำคืนของวันที่ 17 กุมภาพันธ์
สรุปจากที่สังเกตการณ์ภายในเกียวโตและโอซาก้า พบว่าชาวญี่ปุ่นตื่นตัวต่อสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่ไม่ตื่นตระหนก โดยปฏิบัติตามสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือล้างมือเป็นประจำ แต่เชื่อว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่สูงขึ้น อาจทำให้ผู้คนในประเทศญี่ปุ่นต้องยกระดับมาตรการต่างๆ สูงขึ้นตามลำดับต่อจากนี้
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สนใจเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น หากตัดสินใจเดินทางไป ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขของไทยที่ระบุว่า
ผู้เดินทางต้องมีการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ดูแลสุขภาพตัวเองให้รัดกุมยิ่งขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไปในรถไฟใต้ดินให้สวมหน้ากากอนามัยไว้เสมอ และที่สำคัญคือก่อนรับประทานอาหารควรมีสุขลักษณะที่ดี นั่นคือการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
และหากเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้วมีอาการไม่สบายให้รีบไปพบแพทย์ แล้วบอกประวัติการเดินทางอย่างละเอียด เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด