ย้อนกลับไปเมื่อปีการศึกษา 2552 ณัฐพล ใจจริง เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ โดย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
วิทยานิพนธ์ได้รับการประเมินโดยกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 ท่านลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) ของจุฬาฯ มี ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นผู้เขียนเหตุผลที่คณะกรรมการประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก สำหรับกรรมการอีก 4 ท่านคือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, วีระ สมบูรณ์ และ กุลลดา ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา
-ต่อมาในปี 2561 จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนโดยมี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน หลังได้รับการร้องเรียนจาก ไชยันต์ ไชยพร
-ปี 2563 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตีพิมพ์ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’ ของ ณัฐพล ใจจริง
-ในปี 2564 จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้ง โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน หลังได้รับการร้องเรียนอีกครั้ง จาก ไชยันต์ ไชยพร เช่นเดียวกัน
-ขณะที่ในปีเดียวกันคือปี 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จาก 6 จำเลย โดยจำเลยที่ 1 คือ ณัฐพล ใจจริง และจำเลยที่ 2 คือ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
THE STANDARD ได้รับการเปิดเผยจาก วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของกุลลดาว่า คำฟ้องของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ฝ่ายโจทก์ระบุว่า ได้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 จาก ไชยันต์ ไชยพร ด้วยเช่นกัน
ล่าสุด (25 สิงหาคม) กุลลดายื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการสภาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ กรณีที่ถูก ไชยันต์ ไชยพร ร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของณัฐพล ซึ่งข้อเรียกร้องของกุลลดาประกอบด้วย
- ให้สภาจุฬาฯ ไม่ยอมรับการรายงานผลของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ และมี ปาริชาต สถาปิตานนท์ เลขานุการ เป็นผู้รายงานต่อสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากกุลลดาเห็นว่า ส่อว่าอาจเป็นรายงานเท็จดังที่ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาฯ เห็นความผิดปกติในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง และการรายงานผลอาจจะแย้งกับผลการสอบสวนจริง
- ให้สภาจุฬาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวนและการรายงานผลดังกล่าวที่ปาริชาตนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ หากเป็นการรายงานเท็จ ไม่ตรงกับผลการสอบสวนดังที่เขมรัฐได้เปิดเผยแล้ว สภามหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการสอบสวนต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป
- ให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เกียรติและยึดมั่นต่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดที่มี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2561 เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ตามมาภายหลังล้วนมีสาระสำคัญไม่ต่างไปจากข้อเรียกร้องที่คณะกรรมการชุดแรกได้พิจารณาครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ กุลลดาระบุด้วยว่า ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างถึงที่สุด
บรรยากาศในการยื่นจดหมายถึงสภามหาวิทยาลัย มีทั้งศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ มาร่วมให้กำลังใจกุลลดา
ปมปัญหาการเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD กล่าวว่า มาให้กำลังใจอาจารย์กุลลดา ในฐานะสมาชิกชุมชนจุฬาฯ และในฐานะลูกศิษย์อาจารย์กุลลดาด้วย
กนกรัตน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วจุฬาฯ ค่อนข้างจะมีเสรีภาพทางวิชาการมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับนิสิตหรืออาจารย์ในการทำวิจัย และในการแสดงออกทางการเมือง แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง และ อาจารย์กุลลดา ส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อจุฬาฯ แต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทางวิชาการทางสังคมศาสตร์และในอีกหลายสาขาในประเทศ เพราะทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่าอะไรบ้างที่เราสามารถทำวิจัยได้หรือไม่ได้ หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ใครเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วเรามีสิทธิที่จะแก้ไขไหม เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำวิจัยมีปัญหาหรือต้องนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ที่ทำให้คนที่จะเริ่มต้นทำวิจัยมีความกังวลตั้งแต่ต้น
เช่นล่าสุดมีลูกศิษย์อยากจะทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจจะต้องมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวสถาบันอนุรักษ์นิยมต่างๆ
อย่างแรกที่จะต้องบอกเขาเลยก็คือว่า ถ้าเกิดงานของคุณโดดเด่นก็จะถูกตั้งคำถาม แล้วอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบที่ตามมาในชีวิต ไม่ใช่ว่าไม่สนับสนุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดบรรยากาศที่เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship) แล้วเราก็ต้องบอกนิสิตตลอดเวลาว่า ในการทำบางหัวข้อในสังคมนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน คุณอาจจะถูกตั้งคำถาม แล้วการตั้งคำถามไม่เฉพาะแวดวงวิชาการ แต่เราจะถูกสังคมหรือกลไกทางการเมืองบางอย่างคุกคาม และทำให้เรารู้สึกว่าการแค่จะเลือกตั้งคำถามต่องานวิจัยก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลแล้ว
การมาให้กำลังใจอาจารย์กุลลดาวันนี้มีศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันมา เพื่อมาบอกกับทางจุฬาฯ และสังคมไทยว่า จริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการและการทำวิจัยควรจะแก้ไขปัญหาให้จบในกระบวนการของมหาวิทยาลัย และบทบาทความสัมพนธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับคนทำงานวิจัยอาจจะต้องแบ่งให้ชัดเจนว่าใครจะต้องรับผิดชอบในส่วนไหนบ้าง ไม่ใช่ว่ามีปัญหาข้อผิดพลาดในส่วนของงานตัวนิสิต แต่ผู้ได้รับผลกระทบมีตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษาไปจนถึงกรรรมการ ในระดับที่ต้นทุนในการแบกรับต่อความผิดพลาดในการทำวิจัยสูงมาก ทั้งที่จริงการทำวิจัยคือพยายามตั้งคำถามและตอบคำถาม ซึ่งไม่มีอะไรที่ตายตัวว่างานชิ้นนี้ถูกต้อง 100%
มันจะมีเงื่อนไข มันจะมีกลไกทางวิชาการอะไร ที่มหาวิทยาลัยช่วยได้ ที่จะทำให้คนที่ทำวิจัย ไม่ว่าผลออกมาจะถูกหรือผิด แล้วเขาอยากจะรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้นเขาต้องมีพื้นที่ปลอดภัยด้วย
เมื่อถามว่า กรณีที่มีความเห็นแตกต่างกันในแวดวงวิชาการ ปกติแล้วจะต้องถึงขนาดทำให้มีการฟ้องร้องหรือไม่ ในทางปฏิบัติปกติทำอย่างไร
กนกรัตน์กล่าวว่า ในวงวิชาการ สิ่งที่ควรจะต้องทำจริงๆ คือเขียนบทความโต้แย้ง ถ้างานชิ้นไหนมีปัญหา เราก็ควรจะเขียนบทความโต้แย้ง เพื่อให้คนที่ทำงานผิดพลาดมีข้อบกพร่อง เขาได้เห็นและสามารถแก้ไข แต่เมื่อมาถึงจุดที่สังคมไทยซึ่งมีหลายเรื่อง ทำให้เกิดการฟ้องร้อง ทำให้เกิดบรรยากาศและข้อจำกัดในการจะทำวิจัยในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ
จะมีปัญหาในแง่การใช้เสรีภาพทางวิชาการที่ทำให้คนจะต้องเริ่มเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบ ขณะที่นักวิจัยควรได้รับการปกป้องโดยสถาบันการศึกษาที่ตัวเองอยู่ กลไกในการปกป้องดูแลจะมีแค่ไหน
ถึงทางแพร่งที่มหาวิทยาลัยทุกที่คงจะต้องเริ่มปรับปรุงในส่วนนี้ เพราะเราเองก็ไม่เคยเจอภาวะการคุกคามหรือลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการมากเท่ากรณีนี้มาก่อน
เมื่อถามว่ามีข้อห่วงใยต่อความน่าเชื่อถือในการรับรองงานวิชาการของจุฬาฯ หรือไม่
กนกรัตน์กล่าวว่า คงไม่ใช่แค่จุฬาฯ เพราะจุฬาฯ เองก็มีความพยายามในการจะรักษามาตรฐานและแก้ไขปัญหาอย่างที่เห็น มีกระบวนการในการตั้งกรรมการหาข้อเท็จจริง ตอนนี้มาถึงจุดที่กระบวนการเหล่านี้จะสร้างบรรทัดฐานให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคตได้ไหมว่า กระบวนการที่พยายามจะช่วยดูแล ปกป้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการที่จุฬาฯ กำลังทำอยู่ มันจะเป็นบรรทัดฐานที่จะช่วยสร้างสังคมที่นักวิชาการทั่วประเทศรู้ว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่เขาจะได้รับการปกป้อง แม้ว่าอาจจะมีความผิดพลาดบ้าง มีโอกาสที่จะแก้ไขภายใต้การดูแลปกป้องของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น ต้องไม่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นักเคลื่อนไหว LGBTQ
สิรภพกล่าวว่า ในฐานะนายก อบจ. และในฐานะตัวแทนนิสิต เราคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีอาจารย์กุลลดาและอาจารย์ณัฐพล เป็นเรื่องการพยายามทำลายหลักการเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งการที่จุฬาฯ ผ่าน วิทยานิพนธ์นั้นไปแล้วด้วยระดับดีมาก (Excellent) แต่มาตั้งกรรมการสอบทีหลัง เรามองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ทำลายหลักการเสรีภาพทางวิชาการ มาตรฐานทางวิชาการ ในฐานะเป็นนิสิตนักศึกษา เราพยายามปกป้องพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ต้องกลัวถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะจะส่งผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษาในระยะยาว ถ้าเราไม่ออกมาปกป้องเรื่องนี้