ตั้งแต่ช่วงปี 2555 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าคัดค้านโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1) 6 ช่องจราจรเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ- ท่าเรือน้ำลึกทวาย มาอย่างหนักหน่วง
ชัยชนะดูเหมือนจะเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งที่ 22/2556 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2556 เห็นควรยกเลิกโครงการดังกล่าว พร้อมเห็นควรดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือ โมโนเรล เป็นที่มาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม)
แต่ที่สุดแล้ว ปัจจุบัน (2561) ได้ข้อสรุปโครงการออกมาว่า จะมีการสร้างทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบนแนวสายทางเดียวกัน เพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ประโยชน์ตอม่อจำนวน 281 ต้น บนถนนเกษตร-นวมินทร์
ทางด่วน! จึงกลับมาหลอกหลอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้ง
วันนี้ (21 ก.พ.61) คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี แถลงข่าวคัดค้านการก่อสร้างทางด่วนคร่อมบนเส้นทางรางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
ดร.จงรัก ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยไม่ขัดขวางการพัฒนา และสนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแบบโมโนเรลอย่างเต็มที่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือคร่อมบนเส้นทางรถไฟฟ้าอีกที เนื่องจากจะส่งผลเสียในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และใกล้เคียงมีระดับสูงเกือบจะเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนโดยรอบของมหาวิทยาลัย และจากการศึกษาการพัฒนาเมืองในหลายประเทศ พบว่าปัจจุบันไม่มีประเทศใดสร้างทางด่วนเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองอีกแล้ว ทางด่วนควรอยู่รอบนอกเมืองและเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและทางด่วนนี้ไม่กระทบกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แต่ประเด็นที่คัดค้านคือคุณภาพชีวิตในฐานะคนบางเขน และมหาวิทยาลัยตั้งใจเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลและความเห็นทางวิชาการจากชุมชนใกล้เคียงเพื่อเสนอกับรัฐบาล
ส่วนการต่อสู้คัดค้าน ดร.จงรัก บอกว่าจะไม่คัดค้านแบบหัวชนฝา แต่จะต่อสู้โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ โดยเดือนมิถุนายนนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหวังว่าทางรัฐบาลและผู้มีอำนาจจะรับฟัง และยกเลิกโครงการก่อสร้างทางด่วน นอกจากนี้จะทำหนังสือส่งไปถึงหัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ขอให้พิจารณายกเลิกการก่อสร้างทางด่วนดังกล่าว
สำหรับทางด่วนดังกล่าวเป็นการต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก
จะเชื่อมกับส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา โดยแนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และช่วงทดแทน ตอน N1 ไปตามแนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร