ราคาหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC วันนี้ (7 มกราคม) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรงตั้งแต่เปิดตลาด โดยปิดการซื้อขายวันนี้ที่ 76 บาท เพิ่มขึ้น 9.75 บาท หรือ 14.72% ระหว่างวันทำระดับราคาสูงสุดที่ 79.25 บาท มูลค่าการซื้อขายวันนี้อยู่ที่ 4,458,47 ล้านบาท ทั้งนี้ KTC มีราคาสูงสุดรอบ 52 สัปดาห์อยู่ที่ 66.25 บาท
กรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารและธุรกิจการเงิน บล.กสิกรไทย กล่าวว่าสาเหตุที่หุ้น KTC ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงหุ้นในกลุ่มนอนแบงก์อื่นๆ มีหลายประการ
ข้อแรกคือหุ้นกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากนัก สะท้อนจากการแพร่ระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกลุ่มนอนแบงก์ก็ยังมีผลประกอบการที่ดี และยังสามารถดูแลพอร์ตสินเชื่อของลูกหนี้ได้
โดยหลายบริษัทในกลุ่มนี้มีผลประกอบการปี 2563 ที่น่าจะทำสถิติใหม่ ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ตอบรับข่าวดีของผลประกอบการมากนัก ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มนี้เพิ่งกลับขึ้นมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว จึงประเมินว่าการระบาดระลอกนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจนัก
ถัดมาคือแนวโน้มผลประกอบการปี 2564 ซึ่งประเมินภาพรวมทั้งกลุ่มว่ารายได้น่าจะเติบโตเฉลี่ย 10-15% และกำไรสุทธิมีแนวโน้มเติบโต 20-30% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่สูง ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของผลประกอบการคือ Loan Growth ที่ประเมินว่าน่าจะขยายตัวได้ที่ 10-15% ขณะที่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินจะปรับขึ้นช้ากว่า รวมถึงการตั้งสำรองต่างๆ ในปี 2564 ก็มีแนวโน้มต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน
นอกจากนี้ KTC ยังมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นรายอื่นๆ คือเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนของนักลงทุนต่างขาติในหุ้น บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS พบว่าค่อนข้างเต็มแล้ว เพราะหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เป็นต่างชาติที่ครองหุ้นกว่า 35%
“เมื่อเงินทุนไหลเข้าหุ้นไทย กลุ่มแบงก์และนอนแบงก์เองก็เป็นเป้าหมาย และ KTC เองก็ยังมีเพดานหุ้นสำหรับต่างชาติอยู่ นี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของความร้อนแรงด้านราคาหุ้นในระยะนี้”
อย่างไรก็ตาม ประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้นพบว่า KTC มีราคาค่อนข้างสูง โดยมี PE 37-38 เท่า P/BV 8 เท่า ขณะที่กำไรปี 2564 ประเมินว่าน่าจะเติบโตราว 15-20% ซึ่งไม่ได้เหนือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ประเมินไว้
ขณะที่ภาพรวมหุ้นไทยวันนี้ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,513.78 จุด เพิ่มขึ้น 21.42 จุด หรือ 1.44% มูลค่าการซื้อขาย 121,287.61 ล้านบาท โดยหุ้นที่ดันดัชนีคือหุ้นกลุ่มธนาคาร ธุรกิจการเงิน (นอนแบงก์) และพลังงานทางเลือก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการตอบรับเชิงบวกในเรื่องผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ว. สหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาในรูปแบบ Blue Wave และทำให้เกิดความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์