×

เปิดผลงาน 9 เดือน KTC ยอดลูกหนี้โตสุดในรอบ 2 ปี กำไรสุทธิ 4,205 ล้านบาท โต 8%

17.10.2019
  • LOADING...
KTC

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า KTC ได้มีการปรับกลยุทธ์มุ่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนบัตรและพอร์ตลูกหนี้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะทำให้ยอดลูกหนี้รวมมีอัตราเติบโตสูงที่สุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 3/60 แล้ว ยังส่งผลบวกให้ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วง 9 เดือนเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสำหรับช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 ในขณะที่พอร์ตลูกหนี้ยังมีคุณภาพดีต่อเนื่อง 

 

สำหรับไตรมาส 3 บริษัทฯ มีกำไร 1,292 ล้านบาท ปรับตัวลดลงในอัตรา 7% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของพอร์ต อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดหาบัตรใหม่ รวมถึงในการจัดโปรโมชันทางการตลาดเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นผลให้ค่าใช้จ่ายรวมของไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นที่ 10% ขณะที่รายได้รวมเติบโต 4%”

 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 KTC มีกำไรสุทธิ 4,205 ล้านบาท เติบโต 8% พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 79,618 ล้านบาท (ขยายตัว 9%) ฐานสมาชิกรวม 3.43 ล้านบัญชี (เติบโต 6%) แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,460,595 บัตร (ขยายตัว 7%) พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 51,137 ล้านบาท (ขยายตัว 10%) อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือน อยู่ที่ 10.4% NPL รวมลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.07% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.96% สินเชื่อบุคคล 973,356 บัญชี (ขยายตัว 5%) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,219 ล้านบาท (เติบโต 9%) NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.83%

 

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา KTC มีรายได้รวม 16,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เติบโต 7% รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวเท่ากับ 4% และหนี้สูญได้รับคืนเติบโตที่ 2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 34% ลดลงจาก 34.8% ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

สำหรับค่าใช้จ่ายการบริหารงานอยู่ที่ 5,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกบัตรใหม่มากขึ้นจนทำให้พอร์ตลูกหนี้บัตรขยายตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งได้จัดโปรแกรมการส่งเสริมการตลาดเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยที่ 5% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจ่ายมีมูลค่าใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังสามารถควบคุมมูลค่าต้นทุนการเงินอยู่ในระดับเดิมได้

 

ด้านความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจ ‘พิโกไฟแนนซ์’ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) ธุรกิจ ‘นาโนไฟแนนซ์’ (สินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบอาชีพ) และธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันนั้น ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2562 ที่ผ่านมา KTC ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจทั้งสามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

“ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบการให้สินเชื่อ ก่อนจะมีการปล่อยสินเชื่อจริงในวงกว้าง คาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้จะสามารถเริ่มรับรู้กำไรได้ประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินธุรกิจจริง” ระเฑียรกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X