×

KTC มองเศรษฐกิจปี 68 มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดหนุนพอร์ตสินเชื่อรวมโต 4-5% ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกใหม่ 2.5 แสนราย

11.12.2024
  • LOADING...
KTC

“เศรษฐกิจไทยปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทาย ทั้งกำลังซื้อที่หดตัว หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เราเชื่อว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยับตัวดีขึ้น” พิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

KTC เชื่อว่าปัจจัยหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่จะเข้ามาเพิ่มรายได้ในภาคประชาชนและสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกกับธุรกิจบริการสินเชื่อผู้บริโภค

 

KTC มองบวกเศรษฐกิจไทยปี 2568 หนุนสินเชื่อโต

 

ในปี 2568 KTC คาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมจะขยายตัวที่ 4-5% และคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio) รวมให้อยู่ระดับไม่เกิน 2% และมีแผนระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ พร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 13,000 ล้านบาท

 

ในส่วนของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2568 บริษัทคาดว่าการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 10-12% ด้วยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ไม่ต่ำกว่า 320,000 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ 250,000 ราย เน้นกลุ่มผู้มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป รวมถึงกลุ่มคนเริ่มทำงาน (First Jobber) ซึ่งบัตร KTC เน้นใช้จุดแข็งด้านคะแนนสะสมในการเพิ่มมูลค่าให้สมาชิก โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทุกหมวดสำคัญ เช่น อาหาร ช้อปปิ้ง เติมน้ำมัน และท่องเที่ยว เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่ม

 

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา ทำให้บางคนกังวลว่ากลุ่มคนจบใหม่อาจเป็นเหมือน ‘ดาบสองคม’ แต่ KTC ได้เตรียมแผนรับมือความเสี่ยงในการขยายฐานผู้ใช้งานสำหรับกลุ่ม First Jobber ที่เพิ่งเริ่มมีรายได้

 

ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต กล่าวว่า “การมุ่งขยายฐานจากกลุ่ม First Jobber ต้องทำอย่างมีความรับผิดชอบและเลือกจับเป็นบางกลุ่ม เช่น จับกลุ่มสายอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากประเด็นสำคัญของการขยายฐานนั้นจะต้องไม่นำมาสู่ NPL”

 

สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด ‘KTC PROUD’ ตั้งเป้าเติบโตที่ 3% เน้นขยายฐานสมาชิกใหม่ผ่านพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ e-Application ที่ลูกค้าทำรายการได้ด้วยตนเอง รู้ผลอนุมัติพร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีภายใน 30 นาที พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับสมาชิกผ่านฟังก์ชัน ‘รูด โอน กด ผ่อน’ ในบัตรเดียว สานต่อโครงการ ‘เคลียร์หนี้’ เสริมวินัยทางการเงินแก่สมาชิก

 

ส่วนสินเชื่อ ‘KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน’ ตั้งเป้าเติบโต 3,000 ล้านบาท เน้นขยายพอร์ตสินเชื่อคุณภาพผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย ตัวแทนจำหน่าย และพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่เป็นเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และกำลังมองหาสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายและปลอดภัย

 

รุกดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน กลยุทธ์ธุรกิจของ KTC ในปี 2568

 

ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ KTC เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า บริษัทจึงออกแบบกลยุทธ์การเดินหน้าธุรกิจในปี 2568 ให้สอดคล้องกับเทรนด์ดังกล่าวเพื่อคว้าโอกาสพร้อมทั้งรับมือกับความท้าทาย นั่นคือกลยุทธ์ ‘Building a Sustainable Future Through Digital Transformation’ หรือการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่รูปแบบดิจิทัลด้วยงบลงทุนด้านไอที 1,000 ล้านบาท ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย 4 แกนหลัก คือ

 

  1. Reach Better: การเข้าถึงที่มากขึ้นด้วยช่องทางดิจิทัลเพื่อขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่ ด้วยการพัฒนา e-Application ที่ง่าย ปลอดภัย และสามารถทำรายการด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมพัฒนาและทดสอบเครื่องมือในการประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring Model) เพื่อแสวงหาโอกาสของการขยายฐานสมาชิกที่ยังอยู่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้
  2. Grow Healthier: บริหารฐานข้อมูลสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ ให้สมาชิกเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของ KTC ได้สะดวกรวดเร็ว
  3. Bond Tighter: เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบริการ รวมถึงการสื่อสารบนช่องทางออนไลน์ให้สมาชิกใช้งานสะดวกขึ้น รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมงาน Contact Center สามารถตอบคำถามได้รวดเร็วและแม่นยำ
  4. Work Smarter เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ กระบวนการและการพัฒนาทักษะ (Upskill) ด้านไอทีให้คนทั้งองค์กร ส่งเสริมการคิดริเริ่มและปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพงาน ลดค่าใช้จ่าย และพัฒนาทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

สำหรับการพลิกโฉมสู่องค์กรดิจิทัลครั้งนี้ พิทยาย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องพัฒนา 3 ส่วนควบคู่กันไป นั่นคือเทคโนโลยี กระบวนการ และคน ซึ่งในส่วนของ ‘คน’ KTC เน้นแผนเสริมทักษะให้บุคลากรสามารถเดินหน้าไปพร้อมกับองค์กรได้

 

“พนักงานจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ ทุกวันนี้เราเริ่มให้มีการแบ่งปันไอเดียเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานที่พนักงานคิดว่า AI สามารถช่วยได้ ซึ่งบริษัทก็จะจัดหาคอร์สหรือโปรแกรมเทรนนิ่งเสริมทักษะใหม่ เช่น แผนกบริการลูกค้าแทนที่จะใช้เวลาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเดียว การเข้ามาของ AI จะยิ่งทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถโทรไปขายในฐานะ Sales เพิ่มทั้งผลิตภาพบริษัทและความสามารถที่หลากหลายขึ้นของตัวพนักงาน” พิทยากล่าว

 

ในช่วงท้าย พิทยาย้ำว่า KTC ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อผู้บริโภค ยังคงให้ความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อส่วนต่างๆ ขององค์กรขยับไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งทุกกระบวนการจำเป็นต้องดำเนินอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่า KTC ต้องการให้ธุรกิจเติบโต หากแต่การเติบโตต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงเกินไป บริษัทก็เลือกที่จะไม่แบกรับความเสี่ยงเกินตัว แต่จะหาทางเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X