×

กรุงไทย-กสิกร เตือน ‘ส่งออกไทย’ ครึ่งปีหลังมีความเสี่ยง เหตุประเทศคู่ค้าอ่อนแรง ติดตามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

30.07.2024
  • LOADING...

Krungthai COMPASS และ KResearch ห่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังมูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายน หดตัว 0.3%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน

 

วันนี้ (30 กรกฎาคม) Krungthai COMPASS ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 ให้ฟื้นตัวได้จำกัด

 

โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิต Flash Manufacturing PMI เดือนกรกฎาคมของประเทศหลักต่างหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง โดยสหรัฐอเมริกากลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่วนญี่ปุ่นกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ขณะที่ยุโรปหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 25

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง สอดคล้องกับดัชนียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคล่าสุดของจีนที่ชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนซึ่งปรับลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อสินค้าต่างประเทศของจีน ซึ่งรวมไปถึงสินค้าส่งออกจากไทย

 

โดยการส่งออกไทยไปจีนเดือนล่าสุดกลับมาหดตัวที่ -12.3%YoY ทั้งนี้ เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ต่างชะลอตัวสะท้อนว่าอุปสงค์ที่มีต่อสินค้านำเข้าของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่ำ อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สะท้อนจากค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด (25 กรกฎาคม) ปรับขึ้นสู่ระดับ 5,806 ดอลลาร์ต่อตู้ หรือขยายตัว 9.2% จากเดือนก่อน

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทความที่ระบุว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้แนวโน้มการส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวได้ ‘ต่ำลงกว่า’ ครึ่งปีแรก ที่ขยายตัว 2.0%YoY จากปัจจัยเสี่ยงเชิงลบที่เพิ่มขึ้นดังนี้

 

  1. เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรง อาทิ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งการส่งออกไทยไปยังตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 30% ของการส่งออกไทยทั้งหมด นอกจากนี้สหรัฐฯ มีปริมาณสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้น 1.6% ตั้งแต่ต้นปี จึงอาจส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้าในระยะข้างหน้า

 

  1. ไทยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกจำกัด เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมีมูลค่าและความซับซ้อนค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากการส่งออกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น โดยตัวเลขการส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือนกรกฎาคม 2567 ขยายตัวถึง 18.8%YoY

 

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% โดยยังคงต้องติดตามประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายน 2567 หดตัว 0.3%YoY

 

มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์ หดตัวเล็กน้อย 0.3%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งออกที่เร่งตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ผลิตผลด้านการเกษตรเผชิญปัญหาภัยแล้ง จึงออกสู่ตลาดล่าช้าและเหลื่อมเดือนจากปีก่อน

 

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้จำกัด สำหรับการส่งออกทองคำขยายตัวแรงถึง 184.1%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะติดลบ 1.7% ทั้งนี้ การส่งออกช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.5%YoY

 

มูลค่าการนำเข้าเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 24,578.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่หดตัว 1.6%YoY จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+6.3%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (+1.3YoY) ขณะที่สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-22.2%YoY) และสินค้าทุน (-2.0%YoY) ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าเชื้อเพลิง (-3.8%YoY) ที่กลับมาติดลบ

 

ส่วนดุลการค้าเดือนมิถุนายนเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกันที่ 218.0 ล้านดอลลาร์ ส่วนดุลการค้าช่วงครึ่งปีแรกขาดดุล 5,242.7 ล้านดอลลาร์

 

กสิกรมองทุเรียนฉุดการส่งออกไทย

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2567 พลิกหดตัวที่ -0.3%YoY สวนทางกับตลาดที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.6%YoY โดยปัจจัยฉุดมาจากการส่งออกทุเรียนสดไปจีนที่ลดลง -42.9%YoY ซึ่งส่งผลให้การส่งออกไทยไปจีนในเดือนมิถุนายน 2567 ติดลบที่ -12.3%YoY เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในเดือนมิถุนายน 2566

 

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกทุเรียนทั้งปีมีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อยตามสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising