×

กรุงไทยคาด GDP ปี 63 เหลือ 1.5% โควิด-19 ฉุดรายได้ท่องเที่ยวหาย 2.78 แสนล้าน

11.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (11 มีนาคม) พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ขยายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 

  • ภาคการท่องเที่ยว คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปี 2563 จะลดลงราว 2.78 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก 2563 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯ จะลดลงประมาณ 3 ล้านคน ภูเก็ตและเชียงใหม่จะลดลงกว่า 1 ล้านคน ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ หายไปกว่า 2 แสนล้านบาท 
  • ภาคการส่งออก คาดว่าจะหดตัว 1.9% โดยประเมินว่าผลกระทบการส่งออกจะสั้นกว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

 

“ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไร ซึ่งหากใช้เวลา 6 เดือนเต็ม มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเพียง 1.5% ภาพการลงทุนของเอกชนในปีนี้จึงไม่สดใสนักและมีแนวโน้มจะชะลอเพิ่มเติม เพราะราคาน้ำมันลดลงแรง นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจอาเซียนที่ชะลอลง สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และข้อตกลง EVFTA ของเวียดนามที่จะเพิ่มอุปสรรคต่อการส่งออกสิ่งทอไทยในตลาดยุโรป โดยเฉพาะหากภัยแล้งรุนแรงอาจทำให้พืชผลการเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย สูญเสียรวม 5.8 หมื่นล้านบาท กระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตร”

 

มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากงบประมาณของภาครัฐ โดยคาดว่าการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจากงบประมาณประจำปี 2563 จะสามารถเบิกจ่ายเต็มวงเงินที่ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนงบลงทุนจะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 67% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้คาดว่าภาครัฐจะระดมมาตรการกระตุ้นการบริโภคออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย การต่อยอดมาตรการกระตุ้นการบริโภค ชิมช้อปใช้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและประคับประคองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ส่วนภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าธรรมเนียมและจดจำนอง

 

“ด้านนโยบายการเงิน Krungthai COMPASS มองว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผ่อนคลายเพิ่มเติม และมีโอกาสจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 0.75% ต่อปีในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อลดภาระการชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการและครัวเรือน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 แต่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising