พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19 สะท้อนต่อรายได้ครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลดลง 13.5% ขณะที่ภาคธุรกิจไทยยอดขายทั้งปี 2563 จะหดตัวถึง 9%
ทั้งนี้เมื่อรายได้และยอดขายของภาคธุรกิจลดลงสร้างความกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ และความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจกลุ่ม Zombie Firm หรือบริษัทที่เปราะบาง (มีค่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย หรือ ICR ต่ำกว่า 1% มีความเสี่ยงความสามารถในการชำระหนี้ลดลง) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีอยู่ราว 9.5% และจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 26% จากภาคธุรกิจไทยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกลุ่มธุรกิจที่เปราะบาง มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย ซึ่งพบว่าความเปราะบางทำให้ความสามารถในการขำระหนี้ลดลง โดยธุรกิจที่เปราะบาง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจสื่อและความบันเทิง, ธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า, ธุรกิจเครื่องสำอาง, ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“ICR สะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่าในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้นกิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า”
ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจที่เปราะบางมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงต่อเนื่องหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ แต่ปัจจัยหลักในการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทย Krungthai COMPASS มองว่าเศรษฐกิจที่ถดถอยต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวจะส่งผลต่อการส่งออกยังหดตัวสูง และการวางงานอาจสูงขึ้น ทางศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าปี 2563 GDP ไทยจะหดตัวที่ 9.1% และทยอยปรับตัวดีขึ้นโดยปี 2564 จะอยู่ที่ 4.1% ปี 2565 GDP จะขยายตัวที่ 6% และปี 2566-2568 จะอยู่ที่ 3%
ขณะที่มาตรการรัฐในระยะต่อไปต้องดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ อีกทั้งควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า