ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2563 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 8.8% และหากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดในระลอก 2 จนเกิดการปิดเมืองอีกครั้ง ประเมินไว้ว่า GDP จะหดตัว 12%
ทั้งนี้ สถานการณ์ช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) เศรษฐกิจโลกยังหดตัวจากมาตรการปิดเมือง ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยลดลง 60% และยอดจองที่อยู่อาศัยลดลงเหลือ 14% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 36%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงในช่วงต้นปี และอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ในการกลับมาสู่จุดเดิม สำหรับปริมาณการค้าโลกนั้น ประเมินว่าในปีนี้อาจหดตัวถึง 10-30% โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังการค้นพบวัคซีน
“วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น ขณะที่โควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสทวนโลกาภิวัตน์ที่ทั่วโลกต่างหันมาพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ และใช้มาตรการทางภาษีปกป้องบริษัทในประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบด้านลบกับกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพิงการส่งออกในระดับสูง เช่น ธุรกิจยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ ฯลฯ ส่วนอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากใน New Normal คือกลุ่มที่พึ่งพาการก่อหนี้ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจใน 2 กลุ่มนี้มียอดขายรวมกันถึง 37% ของมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมไทย”
ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและลงทุนลดลง โดยธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่อง จึงเห็นภาพหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจที่จะเติบโตได้คือ ธุรกิจที่สามารถหาโอกาสได้จาก GDH ได้แก่
– การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (G) ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ผ่านการยกระดับสาธารณสุข การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
– การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีของผู้บริโภค (D) หัวใจของการดำเนินธุรกิจ
– กระแสด้านสุขภาพ (H) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นพฤติกรรมระยะยาวของผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ การแพทย์ บริการด้านเทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ ซึ่งมียอดขายรวมกัน 12% ของมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล