ธนาคารกรุงไทยกางโรดแมป 5 ปี ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก เดินหน้าสร้าง New Growth จับมือ AIS บุกธุรกิจ Virtual Bank เจาะกลุ่ม Underserved พร้อมพัฒนา Wealth Tech ขยายฐานลูกค้ามั่งคั่ง เตรียมจัดตั้ง JV AMC บริหารหนี้เสีย
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ (2566-2570) ว่าจะอยู่ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
1. ปลดล็อกศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B, B2C, G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปพลิเคชันเป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม, Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น
2. ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC
ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ธนาคารจะเริ่มนำร่องปรับบริการของสาขาประมาณ 20 แห่งในเมืองใหญ่ให้เป็นรูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยจะนำระบบ E-Solution เข้ามาให้บริการลูกค้า ซึ่งในสาขารูปแบบใหม่นี้พนักงานของธนาคารจะให้บริการธุรกรรมต่างๆ ด้วยแท็บเล็ตและสามารถเดินให้บริการได้โดยไม่ต้องใช้เคาน์เตอร์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ขณะที่การให้บริการผ่านเคาน์เตอร์จะถูกปรับเป็นจุดให้บริการและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และอาชีพอิสระแทน
ผยงยังเปิดเผยด้วยว่า ในปีนี้ธนาคารอาจจะชะลอแผนการปิดสาขาบางส่วนออกไปชั่วคราวก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มสาขาที่ไม่มีธนาคารอื่นๆ ตั้งอยู่ในรัศมี 4-10 กิโลเมตร ถึงแม้ว่าสาขาเหล่านี้จะไม่ทำกำไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารกรุงไทยมีโจทย์ทางสังคมที่ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากกำไรด้วย
3. การมองหา New Growth โดยจะเปิดตัวแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร เช่น Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตรคือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ทับซ้อนกันเพียง 1 ใน 3 เพื่อเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
“ธุรกิจ Virtual Banking เราจะเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่ม Underserved หรือคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการการเงินในปัจจุบัน ซึ่งจะมีข้อมูลทางเลือกหรือ Alternative Data จากพาร์ตเนอร์อย่าง AIS เช่น ข้อมูลการใช้มือถือ และข้อมูลจากบริการพอยท์เพย์ที่มีอยู่แล้วมาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ความเสี่ยงของลูกค้ากลุ่มนี้จะสูง แต่เราก็กำลังพูดถึงดอกเบี้ยที่ระดับ 25-33% เช่นกัน ดังนั้นแม้ว่าหนี้เสียอาจสูงถึง 5-10% ก็ยังรันธุรกิจได้” ผยงกล่าว
นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนจะพัฒนาแพลตฟอร์ม Wealth Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง หรือ Mass Affluent ที่มีทรัพย์สินราว 2-9.99 ล้านบาท ซึ่งมองว่าปัจจุบันยังมีช่องทางให้ธนาคารเข้าไปเติบโตได้อยู่
อีกหนึ่งโครงการที่ผยง ระบุว่าอาจจะได้เห็นในปีนี้คือ การขยายบริการสินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending ให้ไปเชื่อมต่อกับแอปเป๋าตัง เพื่อเจาะฐานลูกค้าที่แตกต่างจากผู้ใช้งานแอป Krungthai NEXT โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อออนไลน์ไปแล้วราว 5,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะปล่อยเพิ่มในปีนี้เป็น 8,000-10,000 ล้านบาท
4. สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SMEs กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
5. พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับเป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai
ทั้งนี้ ผยงระบุว่า ในส่วนของ NPL ปีนี้ ธนาคารจะพยายามควบคุมให้อยู่ต่ำกว่าระดับ 3.5% และมีเป้าหมายจะปรับลดลงมาให้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (5 แบงก์ใหญ่) ที่ 2.8% สำหรับ NPA ปัจจุบันธนาคารมีทรัพย์ที่ค้างอยู่ในสต๊อกราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ก็มีเป้าหมายจะปรับลดลงมาให้เหลือเท่ากับอุตสาหกรรมที่ 20,000 ล้านบาทเช่นกัน
“หนึ่งในวิธีลด NPL หรือหนี้เสีย คือการขายหนี้ออกไป ปัจจุบันเรามีการเจรจาเรื่องการจัดตั้ง JV AMC กับพันธมิตรอยู่บนโต๊ะประมาณ 3-4 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ว่าเราจะร่วมมือกับใคร แต่การร่วมมืออาจมีมากกว่า 1 รายก็ได้ เพราะแต่ละเจ้ามีความชำนาญในการจัดการหนี้ประเภทที่แตกต่างกัน” ผยงกล่าว
6. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารมีงบลงทุนด้านไอที 12,000 ล้านบาท แต่ใช้จริงไปแค่ 7,000-8,000 ล้านบาท
7. ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68