ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นักลงทุนต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัยรุมเร้า เมื่อถึงเวลาต้องปรับพอร์ตอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง การวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจเพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนโดดเด่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ล่าสุด กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ ได้จัดสัมมนาออนไลน์ KRUNGSRI EXCLUSIVE 2021 Mid-Year Outlook Series ในหัวข้อ ‘จัดพอร์ตครึ่งปีหลัง ต้อนรับการเปิดประเทศ’ โดยระดมขุนพลด้านการเงินและการลงทุนระดับแนวหน้าจาก บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บลจ.กรุงศรี และ บล.กรุงศรี มาให้ความรู้กับลูกค้าในการจัดพอร์ตลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง
ชัยเกษม วัฒนศิริพงษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์การลงทุน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในงานสัมมนาว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นักลงทุนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในภาพรวมพบว่า กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 27.2% รองลงมาคือ กอง REITs ของฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่มีผลตอบแทนที่ 17.6% ขณะที่สินทรัพย์ประเภทหุ้นแม้จะมีความผันผวนแต่ยังคงผลตอบแทนดี โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ให้ผลตอบแทน 14.9% และ 12.3% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำหรือน้อยมากๆ คือ เงินสด ที่มีผลตอบแทนเพียง 0.65% ต่อปี ดังนั้นการถือเงินสดมากเกินไปโดยไม่กระจายการลงทุน นักลงทุนอาจมีความเสี่ยงจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ
สำหรับในช่วงหลังของปีนี้ ชัยเกษมมองว่ามี 3 ประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตาม เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม ประเด็นแรกคือ อัตราผลตอบแทนใหม่ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มกระจายตัวไปในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจของทวีปยุโรปที่เริ่มมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไล่ตามการขยายตัวของสหรัฐอเมริกา ทำให้ BlackRock บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำระดับโลกซึ่งเป็นพันธมิตรของกรุงศรี แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นของทวีปยุโรปและพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ พร้อมกับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ
ประเด็นต่อมาคือ ความโดดเด่นของจีน ที่แม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวในไตรมาสล่าสุด แต่ยังมองว่าเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางของจีนดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด พร้อมกับภาครัฐออกมาตรการควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อยกระดับคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน BlackRock จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้จีน ขณะที่ตลาดหุ้นจีนยังให้น้ำหนักเป็นกลาง
ประเด็นที่สามคือ กระแสการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางภาคปฏิบัติอย่างชัดเจนและตลาดก็ยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดโอกาสทางการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดย BlackRock แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากมีความพร้อมในการปรับตัวสู่อนาคต
“โดยสรุปเราชอบหุ้นยุโรปเป็นพิเศษ ส่วนหุ้นในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเอเชียอื่นๆ ยังให้น้ำหนักเป็นกลาง สำหรับตราสารหนี้ เราลดน้ำหนักตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำลง แต่ยังชอบตราสารที่ดอกเบี้ยผันแปรตามเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่ตราสารหนี้จีนและเอเชียมองว่ายังลงทุนได้ ตราสารที่ให้ผลตอบแทน 5-9% ยังพอหาได้อยู่” ชัยเกษมกล่าว
ชัยเกษมกล่าวเสริมว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นักลงทุนควรจัดพอร์ตแบบ Global Tactical Asset Allocation (GTAA) ที่เน้นการปรับพอร์ตอย่างรวดเร็วในเชิงรุกเพื่อคว้าโอกาสในตลาดที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น เน้นมุมมองการลงทุนระยะสั้น-ปานกลาง ประมาณ 3-12 เดือน และให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงมหภาคที่เป็นตัวขับเคลื่อนปัจจัยพื้นฐานของแต่ละสินทรัพย์
โดยปัจจุบันกรุงศรีมีผลิตภัณฑ์ที่เตรียมไว้รองรับลูกค้าที่มองหาการจัดพอร์ตแบบ GTAA คือ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอร์อโลเคชั่น (KFCORE) ที่บริหารโดย BlackRock ซึ่งเน้นกลยุทธ์การลงทุนที่ยืดหยุ่น ปรับพอร์ตรวดเร็ว กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในทุกสภาวะตลาด
ด้าน ศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า โดยปกติสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแรง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่คาดว่าจีดีพีปีนี้อาจเติบโตถึง 6-7% จะไม่เอื้อกับการลงทุนในตราสารหนี้
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมาดูภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโตแค่เพียง 1-2% ขณะที่เงินเฟ้อก็จะอยู่ในระดับราวๆ 1% ยังคงเป็นภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจจะมีตราสารหนี้ติดพอร์ตเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยง ตราสารหนี้ของไทยยังเป็นทางเลือกที่อุ่นใจ แม้ว่าในระยะยาวปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อต่ำกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยอาจกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี มีผลตอบแทนที่ลดลงในระยะยาว แต่หากคาดหวังผลตอบแทนราวๆ 2% การลงทุนในตราสารหนี้ไทยก็ยังสามารถทำได้
ชัยเกษมกล่าวเสริมว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นักลงทุนควรจัดพอร์ตแบบ Global Tactical Asset Allocation (GTAA) ที่เน้นการปรับพอร์ตอย่างรวดเร็วในเชิงรุกเพื่อคว้าโอกาสในตลาดที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น เน้นมุมมองการลงทุนระยะสั้น-ปานกลาง ประมาณ 3-12 เดือน และให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงมหภาคที่เป็นตัวขับเคลื่อนปัจจัยพื้นฐานของแต่ละสินทรัพย์
โดยปัจจุบันกรุงศรีมีผลิตภัณฑ์ที่เตรียมไว้รองรับลูกค้าที่มองหาการจัดพอร์ตแบบ GTAA คือ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอร์อโลเคชั่น (KFCORE) ที่บริหารโดย BlackRock ซึ่งเน้นกลยุทธ์การลงทุนที่ยืดหยุ่น ปรับพอร์ตรวดเร็ว กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในทุกสภาวะตลาด
ด้าน ศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า โดยปกติสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแรง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่คาดว่าจีดีพีปีนี้อาจเติบโตถึง 6-7% จะไม่เอื้อกับการลงทุนในตราสารหนี้
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมาดูภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ประเมินว่าจีดีพีจะเติบโตแค่เพียง 1-2% ขณะที่เงินเฟ้อก็จะอยู่ในระดับราวๆ 1% ยังคงเป็นภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจจะมีตราสารหนี้ติดพอร์ตเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยง ตราสารหนี้ของไทยยังเป็นทางเลือกที่อุ่นใจ แม้ว่าในระยะยาวปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อต่ำกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยอาจกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี มีผลตอบแทนที่ลดลงในระยะยาว แต่หากคาดหวังผลตอบแทนราวๆ 2% การลงทุนในตราสารหนี้ไทยก็ยังสามารถทำได้
ศิระวิเคราะห์เพิ่มว่า การกลับมาฟื้นตัวได้แรงหลังโควิดของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแรง ทำให้ก่อนหน้านี้ตลาดกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะถอนมาตรการ QE เร็ว แต่ที่ผ่านมา Fed ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกตลาดอาจยังไม่คล้อยตาม แต่เมื่อตัวบ่งชี้หลายตัวเริ่มสะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราวจริง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 1.2%
ผู้บริหาร บลจ.กรุงศรี ยังเชื่อว่า ในระยะสามเดือนจากนี้เชื่อว่าความกังวลเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะลดลง เรียกได้ว่าเป็นภาวะที่เงินเฟ้อเข้าสู่เทรนด์ปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสองปัจจัยในสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด คือ ตัวเลขภาวะการจ้างงานที่แม้ปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถปิดช่องว่างในช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ทั้งหมด โดยเชื่อว่าตราบที่ตัวเลขการจ้างงานยังไม่เข้าสู่ระดับก่อนโควิด โอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยจะมีน้อย
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามดูคือ ภาวะฟองสบู่ในบางตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ เช่น ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ หากราคาบ้านพุ่งขึ้นเร็วและแรงเกินไป Fed อาจใช้มาตรการการเงินที่เข้มงวดขึ้นหรือทำ Tapering เร็วขึ้น เพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบ
โดยทาง บลจ.กรุงศรี มีกองทุนมาแนะนำสำหรับนักลงทุนที่มองหาตราสารหนี้เก็บไว้ในพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง คือ กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเพิ่มทรัพย์ (KFSPLUS) และ กองทุนกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้ (KFSMART) ที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน บริษัทเอกชนที่มีความมั่นคง และตราสารหนี้ต่างประเทศบางส่วน
ขณะที่ อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ประเมินว่า แม้ในระยะสั้นดัชนีหุ้นไทยจะยังมีแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสและการใช้มาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุม ซึ่งจะกระทบการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าหุ้นจะยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเด่นที่สุด โดยมีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด จากแนวโน้มการกระจายวัคซีนที่จะทยอยดีขึ้น โดยคาดว่าในช่วงปลายปี อัตราของประชากรที่ได้รับวัคซีนของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้นตาม
อิสระระบุว่า แรงหนุนที่จะส่งผลให้หุ้นไทยในปีนี้มีผลตอบแทนดีขึ้น ประกอบด้วย 5 ปัจจัย คือ
- ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน-เปิดประเทศที่กล่าวไปแล้ว
- การปรับคาดการณ์กำไร โดยนักวิเคราะห์ได้ปรับคาดการณ์กำไรของบริษัทขึ้นทั่วโลก รวมถึง SET ด้วย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คาดการณ์กำไร 2021F และ 2022F ของ SET ปรับขึ้น +9.5% และ +5.6% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากสุดนับจากปี 2012
- ความยืดหยุ่นต่อ QE Tapering จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ
- ผลกระทบจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับการทำ Tapering ในครั้งก่อน เนื่องจากต่างชาติถือหุ้นไทยในตอนนี้ในสัดส่วนที่ไม่มากเท่าเก่า
- ราคาหุ้นไทยที่ยัง Laggard เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศอื่น โดยเชื่อว่าเมื่อนักลงทุนเริ่มรู้สึกว่าการฟื้นตัวในตลาดประเทศตะวันตกถึงจุดพีกแล้วจะมีการ Rotate มาหาตลาดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่ง SET ของไทยจะหนึ่งในตลาดที่มีแรงดึงดูด
“กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฉีดวัคซีนได้เยอะ ทำให้เศรษฐกิจเขาฟื้นก่อน แต่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ Emerging Market แม้ตอนนี้ยังฉีดได้น้อยอยู่ แต่เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น เราจะเริ่มเห็นภาคการบริการที่เติบโตแซงภาคการผลิตตามรอยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมอยากให้มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีหวัง” อิสระกล่าว
อิสระกล่าวอีกว่า สัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าเงินพร้อมจะไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ มายังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเริ่มจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนอาจติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อหาจังหวะเข้าลงทุนได้
สำหรับหุ้นเด่นในช่วงไตรมาส 3 ที่ บล.กรุงศรี แนะนำให้กับนักลงทุนในช่วงไตรมาส 3 นี้ เป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาคบริการ รับมือเงินเฟ้อได้ และราคายังตามหลังหุ้นตัวอื่นๆ อยู่ ได้แก่ BBL, BDMS, CPNREIT, EPG, KBANK และ PTTEP
โดยในช่วงไตรมาส 4 นักลงทุนยังต้องจับตาดูปัจจัยเรื่องภูมิศาสตร์ การเมือง และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจปะทุขึ้นมาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังเชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับ 1,700 จุด โดยในปีถัดไปดัชนีหุ้นไทยจะยังยืนอยู่ในระดับใกล้เคียงนี้บวกลบไม่เกิน 50 จุด
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาออนไลน์พิเศษที่มีเนื้อหาข้อมูลเชิงวิเคราะห์เข้มข้น โดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังแบบนี้ ยังมีสัมมนาอีก 1 ครั้ง จาก KRUNGSRI EXCLUSIVE 2021 Mid-Year Outlook Series ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เกี่ยวกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน Environmental, Social, Governance หรือ ESG ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และถือเป็นเทรนด์ที่ร้อนแรงและน่าจับตาในมุมมองของนักลงทุนและสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ลงทะเบียนได้ที่ https://bit.ly/3h8MKqq (ไม่มีค่าใช้จ่าย)