เรื่อง ‘การเงิน’ คือปัญหาโลกแตกอันดับหนึ่งสำหรับโลกที่ทุกอย่างมี ‘มูลค่า’ ที่ต้องแลกมา หลายครั้งที่หลายคนไม่เคยมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และยังคงใช้ชีวิตอย่างรุ่มรวยจนลืมไปว่าเส้นทางที่ฟุ้งเฟ้อเหล่านั้นมีปลายทางแบบไหนรออยู่ และกว่าจะรู้ความจริง บางครั้งก็สายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไขอะไรได้แล้ว
เช่นเดียวกับตัวละครหลายเรื่องที่มี ‘การล้มเหลวทางการเงิน’ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต หลายคนล้มเหลวเพราะตัวเอง หลายคนล้มเหลวเพราะโชคชะตา หลายคนล้มเหลวเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ควบคุมอะไรไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกตัวละครมีเหมือนกันคือ ‘ความไม่ยอมแพ้’ ที่จะต่อสู้กับโชคชะตา เพื่อนำพาชีวิตของตัวเองและคนที่รักไปยังจุดที่ดีที่สุด
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยเพียงแค่ ‘ความพยายาม’ ทุ่มทุกอย่างสุดชีวิตก็เพียงพอแล้วที่เราจะเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเพื่อนำมาปรับใช้ไม่ให้เหตุการณ์ล้มเหลวเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง
จอร์แดน เบลฟอร์ต จาก The Wolf of Wall Street (รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ)
สร้างจากชีวิตจริงของ จอร์แดน เบลฟอร์ต นายหน้าค้าหุ้นหนุ่มไฟแรงในวอลล์สตรีท ชายคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ จนวันหนึ่งเขารู้จักกับ ‘หุ้น’ โลกที่เปิดโอกาสให้พรสวรรค์แห่งความกะล่อน ระห่ำ บ้า เพี้ยน (ไปจนถึงขั้นที่เรียกว่า ‘ชั่ว’) ในการโน้มน้าวผู้คนให้หลงเชื่อไปกับคำพูดของเขา เขาใช้เวลาไม่นานก็สามารถพาตัวเองขึ้นไปอยู่จุดสูงสุด มีทั้งเศรษฐีและคนธรรมดาที่ติดกับเข้ามาเป็นลูกค้าของเขา จากคนที่ไม่เคยมีอะไรมาก่อนในชีวิต เขาสามารถใช้ ‘เงิน’ จำนวนมหาศาลที่หามาได้ปรนเปรอตัวเองไปกับปาร์ตี้ เหล้า ยา เซ็กซ์ และอีกมากมายเท่าที่เขาพอจะหาได้
แต่สุดท้ายก็กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อนี่แหละที่ฉุดให้ชีวิตของเขากลับไปสู่จุดที่ตกต่ำที่สุด กราฟชีวิตของเขาผกผันขึ้นลงไม่ต่างอะไรกับความผันผวนในตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วตลอดเวลา เขาไม่เคยคิดเรื่องอนาคต ไม่เคยคิดวางแผนทางการเงิน (คือวางแผนที่จะหา แต่ไม่เคยคิดที่จะเก็บ) ทุกอย่างที่เขาหาได้กลายเป็นเพียงความว่างเปล่าในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อรู้ตัวอีกครั้ง ทุกอย่างก็สายเกินกว่าที่จะเรียกร้องกลับคืนมา
คริส การ์ดเนอร์ จากเรื่อง The Pursuit of Happyness (รับบทโดย วิลล์ สมิธ)
แบบอย่างของคนสู้ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา สร้างจากเรื่องจริงในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของมหาเศรษฐี คริส การ์ดเนอร์ ชีวิตของเขาเป็นเหมือนภาคตรงข้ามของ จอร์แดน เบลฟอร์ต เพราะเขาไม่เคยพบกับช่วงเวลาที่สุขสบาย เขาต้องพบกับความยากลำบากชนิดที่เบลฟอร์ตต้องน้ำตาไหล
คริสเริ่มต้นจากการเอาเงินเก็บของครอบครัวเกือบทั้งหมดไปลงทุนกับธุรกิจขายเครื่องสแกนความหนาแน่นของกระดูกที่เขามั่นใจเป็นหนักหนาว่าทำงานได้ดีกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ แต่บรรดาหมอที่เขาติดต่อกลับไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับความคิดของเขา เมื่อทุนทุกอย่างค่อยๆ จมลงไปช้าๆ ภรรยาของเขากลายเป็นคนที่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อชำระหนี้สิ้นต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเธอทนไม่ไหว ตัดสินใจทิ้งเขาและลูกไปในที่สุด
หลังจากนั้นคริสต้องดูแลลูกชายเพียงลำพัง และชีวิตก็ลำบากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรถถูกยึด และกลายเป็นคนไร้บ้านจนต้องไปอาศัยอยู่ที่โบสถ์ มีรถบัสและห้องน้ำสาธารณะเป็นที่ซุกหัวนอน แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหม่ด้วยการไปฝึกงานที่บริษัทนายหน้าค้าหุ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่โลกใบนี้มีผลตอบแทนสำหรับคนไม่ยอมแพ้เสมอ เขาเอาชนะเด็กฝึกงานทั้งหมดจนกลายเป็นหนึ่งเดียวที่บริษัทตัดสินใจจ้างเข้าทำงาน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของเขาและลูกประสบความสำเร็จ และไม่ต้องกลับมาอยู่ที่จุดเดิมอีกต่อไป
วอลเตอร์ ไวต์ จากซีรีส์ Breaking Bad (รับบทโดย ไบรอัน แครนสตัน)
อาจารย์สอนวิชาเคมีประจำโรงเรียนมัธยมเล็กๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินถึงขีดสุด เนื่องจากเงินเดือนอันน้อยนิด ต้องทำงานพิเศษที่ร้านคาร์แคร์ (ถึงขนาดต้องล้างรถให้กับเด็กนักเรียนในคลาส) ไม่มีเงินซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น ต้องกินแต่เบคอนเจ ซ้ำร้ายยังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ซึ่งทั้งหมดลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัว ทะเลาะกับภรรยา สูญเสียการยอมรับจากลูกชายที่พิการ จนสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป เขาคาดหวังว่าจะทิ้งอะไรบางอย่างที่มั่นคงให้กับครอบครัวด้วยการใช้ความรู้พื้นฐานทางเคมีที่ตัวเองถนัดมาผลิตยาไอซ์ที่ ‘บริสุทธิ์’ ที่สุดในโลก
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เขาถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ในวงการที่ ‘เข้าง่าย แต่ออกยาก’ เขากลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในวงการยาเสพติด เกี่ยวพันกับแก๊งค้ายาที่พร้อมจะเอาชีวิตเขาทุกเมื่อ กราฟชีวิตผกผันจนไม่อาจคาดเดา ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและเลวร้ายที่สุดมาทุกรูปแบบ ซึ่งเขาต้องยอมแลกทุกอย่างที่ไม่มีคนเข้าใจเพื่อ ‘สร้าง’ อะไรบางอย่างให้กับ ‘ครอบครัว’ ที่สำคัญที่สุดในชีวิต
เรียวเฮ ซาซากิ จากเรื่อง Tokyo Sonata (รับบทโดย เทรุยูกิ คางาวะ)
‘พ่อ’ ผู้เป็นเสาหลักในการหารายได้ให้แก่ครอบครัว ดูเหมือนว่าเขาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ กิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คือการตื่นนอนตอนเช้า กุลีกุจอออกจากบ้านไปทำงาน กว่าจะกลับมาอีกครั้งก็หลังพระอาทิตย์ตกดิน แถมยังมีงานติดพันให้ต้องคอยรับโทรศัพท์ระหว่างกินข้าวอยู่บ่อยๆ เขาคือ ‘พ่อ’ ที่ภรรยาและลูกๆ เคารพยำเกรงเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างที่ภรรยากำลังเข้าห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า และได้พบกับสามีของเขาที่ปรากฏตัวในชุดพนักงานทำความสะอาดกำลังก้มหน้าก้มตาขัดห้องน้ำอย่างเร่งรีบ ความจริงจึงได้ปรากฏขึ้น
ตัวละคร เรียวเฮ ซาซากิ คือตัวอย่างของผู้ที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในญี่ปุ่น (และคงไม่ต่างกับชีวิตของหัวหน้าครอบครัวในอีกหลายประเทศทั่วโลก) ที่โดนเลย์ออฟจากอาชีพผู้จัดการฝ่ายธุรการ แต่ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นชาย เขาเลือกที่จะไม่ปริปากบอกให้คนในบ้านล่วงรู้ แสร้งหลอกว่าตนยังมีหน้าที่การงานไม่ต่างจากปกติ ทั้งที่จริงหลังออกจากบ้าน เขาต้องไปร่อนเร่พเนจร ต่อแถวขอข้าวฟรีจากรัฐบาล จนกระทั่งได้งานเป็นพนักงานขัดส้วมในที่สุด แต่เมื่อทุกคนพร้อมใจที่จะเผชิญหน้ากับสภาพความเป็นจริง และยอมรับในกันและกันว่า ทุกคนต่างมีข้อบกพร่องที่ทำให้คนรอบข้างไม่พอใจ และไม่ได้เก่งกาจดั่งฮีโร่ในการ์ตูน ความเศร้าหมองที่ดำเนินมาตลอดทั้งเรื่องก็เปลี่ยนเป็น รอยยิ้มที่มาพร้อมกับน้ำตาแห่งความซาบซึ้ง ชีวิตครอบครัวในบ้านหลังเดิมจึงดำเนินต่อได้โดยไม่อ้างว้าง
อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ จากเรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน (รับบทโดย พชร จิราธิวัฒน์)
แรงบันดาลใจของคนหนุ่มที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างของครอบครัว หนังดัดแปลงจากชีวิตในวัยหนุ่มของ ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เจ้าของธุรกิจสาหร่าย เถ้าแก่น้อย ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก
จากเด็กติดเกมที่หารายได้จากการขาย ‘ไอเท็ม’ ในเกมออนไลน์เดือนละหลายแสนบาท กระทั่งต้องยุติบทบาทพ่อค้าในโลกเสมือน แต่เขายังสนุกกับการทำธุรกิจ แม้จะประสบปัญหาโดนหลอกขายเครื่องเล่นดีวีดีคุณภาพต่ำ ย้ายไปขายเกาลัด เขม่าควันก็ไปทำให้เพดานห้างดำจนถูกไล่ออกมา กระทั่งเขารู้ความจริงว่าธุรกิจครอบครัวที่เขาเคยสนใจกำลังถูกฟ้องล้มละลาย ต้องขายบ้าน และยังมีหนี้สูงถึง 40 ล้านบาท จากความสนุกกลายเป็นภาระอันหนักหนาที่วัยรุ่นอายุ 20 ปีต้องแบกรับ เขาเริ่มบุกเบิกตลาดสาหร่ายทอด ลองผิดลองถูก ล้มเหลว ผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะมีโอกาสได้เห็นสินค้าของตัวเองไปวางอยู่ในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ
ต๊อบคือตัวอย่างที่ดีของวัยรุ่นที่มักจะใช้เคสของคนที่ลาออกจากการศึกษาแล้วประสบความสำเร็จเป็นข้ออ้างเพื่อทำตัวขี้เกียจ แต่ต๊อบไม่ใช่แบบนั้น เขายอมติด F ในวิชาเรียนเพื่อทำให้ธุรกิจของเขาดำเนินต่อไปได้ เขาไม่เข้าห้องเรียนเพื่อไปหาความรู้บนโลกจริงของการทำธุรกิจ เขาไม่เคยปล่อยเวลาให้เสียเปล่า ถึงขนาดกลับมานั่งฟังเทปเลกเชอร์ที่ตัวเองไม่ได้เข้าเรียนเพื่อทำความเข้าใจ จนกระทั่งธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ ฉากที่เขาโทรศัพท์ไปหาพ่อเพื่อบอกว่าปลดหนี้ได้สำเร็จแล้ว น้ำตาที่ไหลออกมาแบบกลั้นไม่อยู่ นั่นล่ะคือรางวัลของพยายามสำหรับคนที่ไม่เคยยอมแพ้จริงๆ
บทเรียนที่ได้รับจากทั้ง 5 ตัวละครน่าจะสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างที่ทำให้กลับมาคิดถึงเรื่อง ‘การวางแผนทางการเงิน’ อย่างจริงจังอีกครั้งได้ไม่ยาก แต่ปัญหาสำคัญต่อจากนี้คือ ‘องค์ความรู้’ ที่ถูกต้องเพื่อวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างมีระเบียบและไม่หลงทางไปกับสิ่งที่จำไม่เป็นบางอย่าง
ถ้ายังสับสน ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน ลองใช้เครื่องมือจัดการเป้าหมายชีวิตอย่าง Plan Your Money หรือจะสมัคร KrungsriBFF เพื่อนสนิทที่จะมาช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องเงินได้อย่างรวดเร็ว ง่าย และครบวงจร