แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ปี 2564-2565 ทางบริษัทตั้งงบลงทุนด้านฟินเทคและสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องอีกราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการขอเงินทุนเพิ่มเติมจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จากปัจจุบันที่มีงบลงทุนอยู่ราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีการลงทุนในพันธมิตรและสตาร์ทอัพราว 6-8 โครงการ จากปัจจุบันที่มีการลงทุนแล้ว 11 โครงการ โดยปีนี้จะเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัพซีรีส์ A ขึ้นไป ในด้านฟินเทค, อีคอมเมิร์ซ, Proptech, AI ทั้งในไทยและอาเซียน โดยจะลงทุนโครงการอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อโครงการ ในสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้บริษัทได้ในอนาคต
“ตอนนี้ไทยต้องเร่งปรับตัวเรื่องดิจิทัลแบงกิ้ง เพราะเห็น Neo Bank หรือสตาร์ทอัพที่รวมตัวกันทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และมองว่าไม่เกิน 2 ปี กลุ่มนี้จะเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในไทย ดังนั้น การปรับตัวในไทยยิ่งต้องเชื่อมต่อกับพันธมิตรในด้านต่างๆ ทั้งการใช้ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างบริการที่ดีขึ้นได้ทัน”
ทั้งนี้ ภายใต้การปรับตัวของธุรกิจธนาคาร ต้องเร่งปรับใน 4 ด้าน ได้แก่ การให้บริการที่สะดวกและง่ายขึ้นกับผู้บริโภค การบริหารรายได้จากดอกเบี้ย การควบคุมต้นทุน และ Ecosystem ที่แข็งแรงในการเชื่อมต่อกับทุกส่วน
โดยกรุงศรี ฟินโนเวตจะร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership) และจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับหน่วยธุรกิจภายใต้กรุงศรีกรุ๊ป (เช่น Kept, UCHOOSE, KMA)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเห็น Use Case เรื่อง DeFi จากเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ทำให้ทาง กรุงศรี ฟินโนเวต จะเข้าไปศึกษาและหาทางมีส่วนร่วมใน DeFi มากขึ้น เพื่อให้แบงก์เข้าใจกระบวนการทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของ DeFi ให้ได้
แม้ว่าโมเดลธุรกิจจาก DeFi อาจะยังไม่ชัดเจน แต่มองว่ารูปแบบโมเดลที่สามารถปรับใช้กับธุรกิจธนาคารได้ คือ การให้บริการธุรกรรมการเงินในระยะข้างหน้าอาจจะมีธนาคารช่วยดูแลอยู่ในระบบหลังบ้านมากขึ้น โดยอาจจะให้บริการผ่านการฝากเงิน ให้สินเชื่อ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในไทยคือ การขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้นเร็วเท่าที่ควร
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล