ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดงาน KRUNGSRI EXCLUSIVE: Economic and Investment Mid Year Outlook 2019 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับกลุ่มลูกค้าคนพิเศษ
ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าจากทั้งธนาคารโลก ทีมวิจัยกรุงศรี และ BlackRock ผู้บริหารกองทุนระดับโลก มาร่วมให้ความเห็นและประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่กดดันการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งโลก รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ติดตามบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะเพื่อการลงทุนที่ใช่จากบทความชิ้นนี้
โลกทั้งใบในวันที่ฟ้าอึมครึมและความท้าทายของประเทศไทย
“ปัจจัยการเมืองของไทยเสี่ยงกว่าปัจจัยการสงครามการค้าเสียอีก” ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก ให้ความเห็นต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ว่าธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจาก 3.8% เหลือ 3.5% ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3.6% โดยปรับคาดการณ์การขยายตัวลดลง 0.3% ทั่วโลก ยกเว้นเศรษฐกิจของจีนที่ธนาคารโลกประเมินว่าจะยังขยายตัวที่ 6% ได้
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่กระเทือนต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและตลาดการเงินอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกของจีนที่ชะลอตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เน้นการพึ่งพาการส่งออกก็ได้รับผลกระทบ โดยการส่งออกเติบโตติดลบต่อเนื่อง และหากพิจารณามูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) จะพบว่าติดลบถึง 8%
ดร.เกียรติพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้การส่งออกเกือบทุกประเทศจะลดลง แต่การส่งออกของไทยกลับหดตัวมากกว่าการส่งออกของมาเลเซีย ทั้งที่ภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ถือว่ามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดจุดหนึ่งของโลก จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเกิดการหันเหทางการค้า (Trade Diversion) ที่เงินลงทุนและภาคการผลิตย้ายไปที่อื่นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กลุ่มทุนไทยก็หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกชี้ว่าปัญหาที่สำคัญและเป็นความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งมีนัยสำคัญมากกว่าความเสี่ยงด้านนโยบายการค้าของสองชาติมหาอำนาจ ความชัดเจนของนโยบายและความยั่งยืนในการดำเนินการโครงการต่างๆ ของภาครัฐอาจจะยังไม่ทำให้เชื่อมั่นได้มากนัก ซึ่งเห็นได้จากการชะลอตัวลงของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังรอดูทิศทางและความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าประเทศไทยจะยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองไปอีก 2-3 ปีนับจากนี้
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่คือการขับเคลื่อนนโยบายตามที่วางแผนไว้ และการ ‘ยกเครื่อง’ ระบบราชการที่ยังเดินหน้าได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy Space) ยังมีอยู่มาก แม้ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเร่งผลักดันกฎหมายงบประมาณปี 2563 แต่รัฐบาลก็ยังมีงบประมาณค้างจ่ายจากปี 2562 นับแสนล้านบาทที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและดำเนินการต่อไปได้ จึงต้องเร่งแก้ปัญหาคอขวดของระบบราชการให้กลไกต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.เกียรติพงศ์มองว่าการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟทางคู่ หรือโครงการเส้นทางบางปะอิน-โคราช ถือเป็นก้าวที่ดีในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ประเทศไทยยังต้องการทิศทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ รวมทั้งหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการบัญชาการ ควบคุม และดูแลโครงการขนาดใหญ่และนโยบายสำคัญทั้งหลาย หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ใน 3 ปี เศรษฐกิจไทยอาจจะพบกับภาวะติดขัดได้
ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าทีมวิจัยกรุงศรีปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาในระดับที่ต่ำกว่าของธนาคารโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.8% เมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ภาคการส่งออกที่เติบโตติดลบได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานที่ใช้น้อยลงตามไปด้วย
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไม่ได้เติบโตร้อนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้าและความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานที่มีอยู่ สิ่งที่ดร.สมประวิณตั้งข้อสังเกตคือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในภูมิภาคอื่นยังเติบโตได้ดี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยกลับหดตัว สะท้อนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์และมุมมองที่นักท่องเที่ยวมีต่อประเทศไทยได้พอสมควร
สิ่งที่น่ากังวลคือรายได้ของเกษตรกร เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา กุ้ง หรือน้ำมันปาล์ม ขณะที่ระดับค่าจ้างของแรงงานนอกกลุ่มภาคการเกษตรยังอยู่ในระดับที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นความหวังในขณะนี้คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากภาครัฐ แม้จะมีความเป็นไปได้สูงที่การเริ่มต้นปีงบประมาณ 2563 อาจจะขยับจากเดือนตุลาคม 2562 ไปเป็นเดือนมกราคม 2563 แต่ในขณะนี้รัฐบาลก็ยังสามารถดึงงบประมาณที่ค้างอยู่ราว 3.6 แสนล้านบาทไปใช้ได้ ทั้งอัดฉีดเม็ดเงินไปที่เศรษฐกิจฐานรากผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ที่ลงนามไปแล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการใหม่ๆ ของรัฐบาลจะยังไม่สามารถเกิดได้ในช่วงนี้จนกว่าที่สภาจะผ่านกฎหมายงบประมาณปี 2563 หากดำเนินการล่าช้าไปจากช่วงต้นปีหน้าอาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจได้ ขณะที่ประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองไทยนั้น ดร.สมประวิณเห็นว่าประเมินได้ยาก แม้รัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลผสมจากหลากหลายพรรค แต่เชื่อว่าทุกพรรครู้จักและมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกิดเรื่อง ‘แตกแถว’ จนส่งผลกับเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด และประเมินว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปีนับจากนี้
หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งคำถามที่น่าสนใจต่อภาคการผลิตและสินค้าส่งออกของประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ภาคเอกชนได้พิจารณากลุ่มสินค้าที่ผลิตอยู่ว่าเป็นสินค้าที่กำลังจะตายหรือหมดความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ ทั้งปัจจัยด้านราคา นวัตกรรม หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนอาจส่งผลต่อความต้องการสินค้ากลุ่มนั้นๆ และจากนี้จะเห็นนโยบายในการอุดหนุนภาคธุรกิจจากรัฐบาล รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น
ดร.สมประวิณประเมินว่าเนื่องจากฐานของปี 2561 ถือว่าค่อนข้างสูง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปอาจจะหดตัวมากกว่าตัวเลขไตรมาส 1 เสียอีก ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนี้น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับทั้งส่วนฐานรากและชนชั้นกลาง ส่วนประเด็นที่ภาคการส่งออกวิตกคือการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกนั้นอาจจะยังเห็นการแข็งค่าขึ้นได้อีก แต่จะไม่เร่งตัวเร็วเท่ากับช่วงที่ผ่านมาแล้ว
สำหรับทิศทางของการค้าโลกที่สั่นสะเทือนจากการตอบโต้ด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีนนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกและทีมวิจัยกรุงศรีต่างเห็นตรงกันว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังดำเนินต่อเนื่องจากนี้ต่อไป หากเกิดการปรับขึ้นภาษีเพื่อกีดกันการค้าระหว่างกันอีกเป็นรอบที่ 4 อาจจะส่งผลรุนแรงที่สุดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ทุกฝ่ายต่างคาดหวังให้สงครามการค้าสิ้นสุดลง แต่เชื่อว่าจะยังไม่คลี่คลายได้ในระยะอันสั้นนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยจะได้ประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าทดแทน แต่สินค้าจำนวนมากก็เกี่ยวพันกับห่วงโซ่อุปทานของจีนอยู่ดี ซึ่งจะส่งผลกับภาคการผลิตและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
คำถามต่อยอดที่สำคัญจากบทวิเคราะห์ข้างต้นคือนักลงทุนทั้งหลายจะปรับเปลี่ยนการลงทุนและสินทรัพย์ที่มีในมืออย่างไร ไม่เพียงเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อและวางรากฐานเพื่ออนาคตเท่านั้น แต่ยังต้องก้าวข้ามปัจจัยที่ท้าทายอยู่นี้ไปให้ได้
และคำตอบมีอยู่เสมอสำหรับผู้ที่ไม่หยุดค้นหา
ลงทุนให้หลากหลายเพื่อรองรับความไม่แน่นอน จับตาตลาดหุ้นสหรัฐฯ และประเทศเกิดใหม่
อีกไฮไลต์สำคัญของงานคือความเห็นของ เบน โพเวลล์ ประธานฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ BlackRock ผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งชี้ว่าในช่วงที่บรรยากาศการลงทุนอึมครึมจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้านี้อาจเป็นช่วงที่ดีในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยสหรัฐฯ น่าจะยังปกป้องการค้าภายในประเทศของตนและกดดันภาคการค้าของโลก ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางกลุ่มประเทศสำคัญน่าจะใช้กลยุทธ์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนและทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อไปได้
ทุกสายตาจับตาไปที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed พร้อมกับคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน นักวิเคราะห์ประเมินว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% จำนวน 4 ครั้งต่อเนื่อง นั่นคือจะปรับลดลงจนถึงระดับ 1.5% ภายในสิ้นปี 2563 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปจะใช้นโยบาย ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย โดยคาดว่าดอกเบี้ยจะติดลบถึง 0.6% ในสิ้นปี 2563
“อย่าหยุดลงทุน”
เบนเน้นย้ำเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยชี้ว่าจากสถิติของตลาดทุนโลกปี 2531-2562 พบว่าการลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market Equity) ยังให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาในช่วง -5 ถึงเกือบ 15% ซึ่งสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน และเมื่อพิจารณาจากการที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้น จึงเชื่อได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ทำสถิตินิวไฮในหลายดัชนีแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ผู้บริหาร BlackRock ยังเห็นว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่งผลให้หุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่นๆ ปรับระดับสูงขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มตลาดหุ้นของไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เติบโตขึ้น รวมทั้งค่าเงินในภูมิภาคก็แข็งค่าจากภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวด้วย โดยคาดว่าผลตอบแทนตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะอยู่ในช่วง 5-7%
ถือเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนและการปรับพอร์ตเพื่อบริหารความมั่งคั่งในสภาวะที่ทั่วโลกต่างใจจดใจจ่ออยู่กับทุกความเคลื่อนไหวของสงครามการค้า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งโลก การลงทุนที่แม่นยำเกิดจากมุมมองที่หลักแหลม ข้อมูลที่รอบด้านจากตลาดเงิน ตลาดทุน และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร แต่หลักการ ‘ให้เงินทำงาน’ จากการลงทุนยังใช้ได้เสมอ และ KRUNGSRI EXCLUSIVE ก็ยังเดินหน้ายกระดับประสบการณ์ของลูกค้าผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจแบบนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
อยู่กับมืออาชีพ ก็เติบโตแบบมืออาชีพ
#KrungsriExclusive
#EconomicandInvestmentMidYearOutlook2019
#สุขที่สุดแห่งศิลปะการใช้ชีวิต