×

รับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นและสภาพคล่องในตลาดที่แนวโน้มลดลงอย่างไร และปรับพอร์ตการลงทุนแบบไหนที่จะช่วยลดความเสี่ยง

09.03.2022
  • LOADING...
krungsri-exclusive-dealing-with-rising-interest-rates-and-declining-market-liquidity

ข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ เพื่อปูทางให้เห็นภาพเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในปี 2022 คือสิ่งที่เกิดขึ้นในงานสัมมนาออนไลน์ ‘KRUNGSRI EXCLUSIVE Investment Outlook 2022: Assessing the Path Ahead’ ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อลูกค้ากรุงศรีโดยเฉพาะ โดยเชิญกูรูด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่มกรุงศรีและพันธมิตรทางธุรกิจ มาร่วมปูทางผ่าน 4 ช่วง 4 หัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่

 

หัวข้อ ‘ทิศทางเศรษฐกิจและธีมการลงทุนที่น่าสนใจ’ โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group ชี้แนวทางการปรับสมดุลครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจโลก โดยปรับจากความไม่สมดุล 5 มิติที่เกิดขึ้น ได้แก่ ความไม่สมดุลด้านเศรษฐกิจมหภาค ความไม่สมดุลของชีวิตและงาน ความไม่สมดุลของสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไม่สมดุลของดิจิทัล

 

ด้าน Mr. Geir Espeskog, Head of Sustainable Investing for APAC, BlackRock กล่าวว่า ผลกระทบของ Climate Change จะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ระยะยาวและเป็นสิ่งที่นักลงทุนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับบริษัทที่สนใจเรื่องนี้ ในขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การฟื้นตัวรอบนี้ไม่ได้กระจายตัวไปให้ทุกคนโตเท่าๆ กัน ทั้งนี้ คาดการณ์ภาพรวม GDP ไทยปี 2022 เติบโต 3.7% ผลกระทบจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะดึงให้ GDP หดตัวลง -0.6% ขณะที่จะมีเงินจากภาครัฐฯ อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ 1-1.5 แสนล้านบาท และการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.1% ดังนั้นผลกระทบที่จะเห็นในไตรมาส 1-2 คาดการณ์ติดลบประมาณ 0.15%

 

พร้อมทั้งเตือน 5 ความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่ การระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ การถอนมาตรการเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ ข้อจำกัดด้านการผลิต การเมืองระหว่างประเทศ และการเมืองในประเทศ

 

วิน พรหมแพทย์, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ESG จะเป็นกระแสหลักการเงินของโลก จากข้อมูลพบว่า ลูกค้า Krungsri Exclusive ลงทุนในกองทุน ESG รวม 44,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% โดย Krungsri Exclusive มีกองทุนรวมธีม ESG ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีดีกว่าดัชนี MSCI World เป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน 3 กองทุน ได้แก่ Baillie Gifford Positive Change (K-CHANGE-A(A)), DWS Invest ESG Climate Tech (KFCLIMA-A) และ AB Sustainable Global Thematic Portfolio (KFESG-A) 

 

นอกจากนี้กรุงศรียังเป็นหนึ่งในผู้นำผลักดันการออกหุ้นกู้ที่เป็น Green Bond/Sustainable Financing เช่น Thai Union เป็นหุ้นกู้รายแรกของไทยที่มีความเกี่ยวโยงกับความยั่งยืน หรือ BEM เป็นหุ้นกู้รายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นหุ้นกู้ยั่งยืนในกลุ่มขนส่ง

 

หัวข้อต่อมา ‘แนวโน้มการลงทุนทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง’ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2022 Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบ Front-loaded ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ECB มีความเป็นไปได้ที่จะเขยิบการขึ้นดอกเบี้ยเป็นก่อนสิ้นปี

 

ในขณะที่เงินบาทปิดปี 2021 อ่อนค่าลง 11% เป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และเป็นอัตราการอ่อนค่ามากที่สุดของเงินบาทเอง สะท้อนว่าไทยพึ่งพาเงินตราต่างประเทศจากภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก กรุงศรีมองว่า การฟื้นตัวของวัฏจักรการลงทุนในไทยทำให้การโอนออกของ Investment Income น้อยลง น่าจะนำเงินมาใช้กับการเพิ่มกำลังการผลิต จะเป็นปัจจัยที่มาหนุนค่าเงินบาทในปี 2022

 

พรทิพา หนึ่งน้ำใจ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี มองว่า ดอกเบี้ยปีนี้เป็นตัวกำหนดทิศทางตราสารอื่นๆ ในโลก ทั้งนี้ยังไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้ดอกเบี้ยปรับตัวลง ขณะที่คาดว่า ธปท. จะคงดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี

 

สำหรับแนวทางการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ในปีนี้ บลจ.กรุงศรี แนะนำกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ทำให้พอร์ตสร้างผลกำไรในระดับที่น่าพอใจ และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนของดอกเบี้ยน้อยกว่า กองทุนที่แนะนำตลอดทั้งปีคือ กองทุนเปิดกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้ (KFSMART) ตอบโจทย์คนที่ต้องการพักเงินระยะสั้น

 

อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเติบโตแบบชะลอตัวลง ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แนะให้มองหาตลาดที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าสหรัฐฯ เช่น ตลาดยุโรป ตลาดเอเชีย และตลาดไทย อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้โมเมนตัมของสินทรัพย์เสี่ยงเสียศูนย์ได้

 

เทรนด์เศรษฐกิจไทยจากนี้ต่อไปเป็นโจทย์ของการฟื้นตัว 12 เดือนข้างหน้า หากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาต้องหาตัวเร่งอื่นที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เช่น รายได้ของการส่งออก สำหรับธีมเมืองไทยที่ต้องจับตา มองว่าการลงทุนเพิ่มเติมมีความจำเป็น ดังนั้นธีมโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโรงกลั่น น่าสนใจ

 

วิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้จะเป็นช่วงที่ตลาดมีความกังวลเรื่องของ Fed ที่จะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยและมีการดูดสภาพคล่องออกจากตลาดช่วงครึ่งหลังของปี แต่หากต้องการลงทุนระยะยาวก็ถือเป็นช่วงที่น่าสนใจ หากเทียบข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา S&P 500 มี 5 ครั้งที่ตลาดปรับตัวลดลงมาเกิน 10% แต่ทุกครั้งตลาดจะสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ดังนั้นปี 2022 หากตลาดลดลงมาถึง 10% ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มีเงินเย็นและเป็นนักลงทุนที่มองหาการลงทุนระยะกลาง-ยาว 

 

กรุงศรีแนะ 5 พอร์ตการลงทุนระยะยาวสำหรับลงทุน 5-7 ปี แบ่งความเสี่ยงต่ำมาก-เสี่ยงสูงมาก หากเสี่ยงต่ำมากจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ 100% แต่หากเลือกพอร์ตเสี่ยงสูงมากจะปรับสัดส่วนลงทุนตราสารหนี้ 24% หุ้น 64% และสินทรัพย์ทางเลือก 12% วิรัตน์ยังบอกว่า “การลงทุนระยะกลาง-ยาว อยากให้โฟกัสที่ความเสี่ยงมากกว่าผลตอบแทน เพราะความเสี่ยงยิ่งสูง ลงทุนนาน ยิ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนดี

 

ช่วงที่ 3 ในหัวข้อ ‘การลงทุนในตลาดเอเชีย ครอบคลุมตลาดหุ้นจีน ไทย และเวียดนาม’ โดย เกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์, CFA ผู้อำนวยการ ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี ฉายภาพกว้างของตลาดหุ้นจีนว่า เป็นฟ้าวันใหม่ของโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ปี 2022 มี 5 ปัจจัยบวก ได้แก่ 1. การดำเนินนโยบายผ่อนคลาย 2. ภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ผลจากนโยบายผ่อนคลาย 3. ระเบียบต่างๆ ลดความรุนแรงลงและชัดเจนมากขึ้น 4. ผลกระทบของกระแสเงินสดไหลออกน้อย และ 5. Valuation ของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับต่ำ

 

เกียรติศักดิ์แนะ ควรพิจารณาความเสี่ยงควบคู่นโยบาย Zero-COVID อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว ประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเป็นความเสี่ยงที่ควบคู่ไปกับการลงทุนหุ้นจีนอีกนาน รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่อาจกลับมา แต่ไม่มากเท่าปี 2021

 

ฝั่งตลาดหุ้นไทย นิพจน์ ไกรลาศโอฬาร, CFA, FRM®, CFP® ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ กล่าวว่า “หุ้นไทยมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเสมอ เพียงแต่เรามองในบริบทไหน” พร้อมชี้ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. โควิดส่งผลให้การฟื้นตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเติบโตไม่เท่าเทียม คือ กลุ่มฟื้นตัวเร็ว เช่น ภาคการผลิต เทคโนโลยี และกลุ่มฟื้นตัวช้า เช่น ภาคบริการ ท่องเที่ยว แนะจัดพอร์ตการลงทุนในหุ้นไทยแบบ Barbell Portfolio คือ ลงทุนหุ้นทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มฟื้นตัวเร็วได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มาก ขณะที่กลุ่มฟื้นตัวช้าน่าจะโดดเด่นในปีนี้ ซึ่งกำไรจะฟื้นตัวขึ้นตามกำลังซื้อในประเทศที่ดีขึ้น 2. อัตราดอกเบี้ยและการคาดการณ์เงินเฟ้อ การลงทุนในหุ้นไทยมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการส่งต่ออัตราเงินเฟ้อได้ดี เช่น กลุ่มการแพทย์ ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค จัดพอร์ตการลงทุนที่ล้อไปกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้ 3. แรงขายจากกองทุน LTF จะเป็นแรงกดดันต่อตลาดในปีต่อไป และ 4. คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง และเริ่มเห็นสัญญาณเร่งตัวขึ้นชัดเจนในปี 2016

 

ด้านชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง หัวหน้าการลงทุนฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล เผยกลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้เลือกธนาคารเป็น Sector หลักในการลงทุน ปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจเมื่อดู Valuation ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และประเมินว่ากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปีนี้จะเติบโต 25-30%

 

ชาตรีเผยตัวเลข GDP ของเวียดนามไตรมาส 4 ปี 2021 ฟื้นตัว 5.22% คาดการณ์ปี 2022 จะโตขึ้น 7% คาดมีแนวโน้มที่ดีทั้งจากการเติบโตของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลังคลายล็อกดาวน์ปลายปี 2021 สูงกว่าช่วงโควิด 20-30% และจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการลดอัตราดอกเบี้ยและภาษีธุรกิจ โดยที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 44% ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ 60% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%

 

จิรภัทร โบสุวรรณ CFP® ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน สายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แนะ 3 กองทุนน่าลงทุนในตลาดอาเซียน ได้แก่ 1. KFACHINA-A กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า 2. TSF-A กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A และ 3. PRINCIPAL VNEQ-A กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า

 

ช่วงสุดท้ายในหัวข้อ ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เริ่มด้วย วิน พรหมแพทย์, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของ ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพกว้าง เช่น มีสภาพคล่องต่ำ ค่า Correlation ต่ำ แต่ให้ Yield สูง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการบริหารสินทรัพย์ และหากพอร์ตมีหุ้น ตราสารหนี้อยู่แล้ว หยอดสินทรัพย์ทางเลือกเข้าไปจะช่วยให้พอร์ตมีความผันผวนน้อยลง ผลตอบแทนดีขึ้น 

 

ตัวอย่าง Private Equity ‘กองทุนเปิดกรุงศรี Finnoventure PE Y2033’ เป็นกองทุนแรกที่สามารถลงทุนในสตาร์ทอัพชั้นนำในอาเซียน หรือการลงทุนจัดพอร์ตลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกของสถาบันหลักๆ เช่น CalPERS, GIC, Yale Endowment และ 121 Global Family Office ส่วนใหญ่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประมาณ 15-40% ขณะที่ Yale Endowment ลงทุนมากกว่า 70% นักลงทุนบุคคลที่อยากลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก กรุงศรีแนะสัดส่วนการลงทุน 5-25% และควรให้เวลาลงทุน 5-7 ปีขึ้นไป เพื่อเก็บผลตอบแทนได้ดีที่สุด

 

อาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business, Schroders เจาะความน่าสนใจของ Private Equity เทียบผลตอบแทนย้อนหลัง 21 ปี ให้ผลตอบแทน 900% ในขณะที่ S&P 500 ให้ผลตอบแทน 500% หรือช่วงวิกฤตโควิด ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงกว่า -20% ในขณะที่ Private Equity ลดลงเพียง -10% สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ราคาหุ้นในตลาดสูง อาจส่งผลให้ราคาเฟ้อเกินไป มีเม็ดเงินไหลเข้าเยอะในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และอาจมีการกู้ยืมเยอะ โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงบริษัทได้ และสุดท้ายคือระเบียบข้อบังคับของทางการจีน

 

มองเทรนด์การลงทุนหุ้นนอกตลาด 10 ปีข้างหน้า คนหันมาลงทุนในหุ้นนอกตลาดมากขึ้น ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงได้มากขึ้น มีการควบรวมกิจการมากขึ้น ไม่โฟกัสแค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา โควิดเป็นตัวเปลี่ยนให้เกิดธุรกิจที่น่าสนใจ และเอเชียเป็นแหล่งเติบโตได้ดี โดยเฉพาะจีนเป็นแหล่ง Private Equity ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขณะที่อินเดียเติบโตสูงที่สุด

 

ด้าน Giles Smith, Head of Fund Management Principal Real Estate Europe มองการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก European Real Estate ว่า วันนี้การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในยุโรปให้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ถือว่าน่าสนใจมาก แต่ต้องจับเทรนด์การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างถูกต้องด้วย คำว่า Digital Trend จะเกิดขึ้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเช่าบ้านยังน่าสนใจ การทำงานในออฟฟิศอาจจะกลับมา แต่พื้นที่สำนักงานแบบไหนจะรอด ต้องมีเรื่องของ Innovation Area และ ESG รักษาสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์สังคมด้วย

 

เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด นำเสนอข้อมูลผลตอบแทน Crypto Assets ปีที่ผ่านมาเทียบสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นจีน ทองคำ หรือน้ำมัน ภาพรวมทั้งตลาดการเติบโตสูง แต่ก็มีความผันผวนสูงเช่นกัน ผลตอบแทนย้อนหลัง 14 เดือน ตั้งแต่ปี 2020 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ 130%

 

ปี 2022 เอกราชแนะให้โฟกัส 3 กลุ่มคือ Cryptocurrency, NFTs และ Metaverse พร้อมชี้กลยุทธ์จังหวะเข้าลงทุนให้มีการปรับตัวลงของราคามาอยู่ที่แนวรับประมาณ 39,000-40,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X