เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในโลกยุคดิจิทัลได้ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการทำธุรกรรมการเงินที่เข้าสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’ หรือ ‘Cashless Society’ ที่ผู้บริโภคจะไม่ใช้เงินสดในการโอนหรือชำระค่าสินค้าอีกต่อไป แต่หันไปทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น Internet และ Mobile Banking แทน
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเร่งตัวให้เร็วและแรงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า จำนวนลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการของธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 131% จากปี 2561 ขณะที่ลูกค้าธุรกิจก็ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 56% จากปี 2562 เช่นกัน
นอกจากนี้ธนาคารยังพบด้วยว่านับจากปี 2563 จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 สัดส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 33% สวนทางกับสัดส่วนลูกค้าที่ใช้บริการผ่านสาขาเพียงอย่างเดียวที่ลดลงจาก 6% เหลือเพียง 3%
“เราเชื่อว่าเทรนด์การทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่ภายใน 1-2 ปี สัดส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50%” ยิ่งลักษณ์ คงคาสัย ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว
เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการทางการเงินของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้มีการยกระดับบริการธุรกรรมการเงินภายใต้แนวคิด ‘ทันสมัย ครบ แตกต่าง’ โดยในแง่ความ ‘ทันสมัย’ ธนาคารได้นำเทคโนโลยีใหม่ เช่น API (Application Programming Interface) มาเชื่อมต่อการส่งข้อมูลระหว่างลูกค้ากับธนาคาร ซึ่งช่วยให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินมาให้บริการลูกค้า
นิลวรรณ จีระบุญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธนาคารยังได้วางรากฐานการทำธุรกรรมดิจิทัลสำหรับลูกค้ารายย่อย ด้วยการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันของลูกค้า เช่น การเติมเงิน จ่ายบิลและช้อปปิ้งออนไลน์เข้ากับแอปพลิเคชัน KMA ของธนาคาร พร้อมขยายช่องการโอนเงินต่างประเทศ 15 สกุลหลักผ่าน KMA อีกด้วย
นอกจากนี้ธนาคารยังอัปเกรดบริการจ่ายเงินผ่าน QR Code ให้ครอบคลุมธุรกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการ cross-border QR payment ระหว่างไทยและอินโดนีเซีย จากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดบริการดังกล่าวระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไปแล้ว
นิลวรรณ กล่าวว่า ภายใต้นวัตกรรมดังกล่าว ลูกค้าคนไทยจะสามารถใช้ KMA สแกน QR ของร้านค้าเพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการในอินโดนีเซียได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งลูกค้าจะเห็นยอดการชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท รู้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีด้วยอัตราพิเศษกว่าการชำระด้วยบัตรเครดิต
ในทางกลับกันลูกค้าของธนาคารในอินโดนีเซียก็สามารถใช้โมบายล์แอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการในการสแกนจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน ทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น และธนาคารกำลังมีแผนในการเชื่อมต่อธุรกรรมข้ามประเทศนี้ให้ครอบคลุมหลากหลายประเทศในอาเซียน ตอกย้ำพันธกิจของกรุงศรีที่มุ่งเชื่อมโยงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วอาเซียน
อีกหนึ่งเรื่องที่กรุงศรีได้ทำไปแล้วในปีที่ผ่านมา คือการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐให้บริการยื่นหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้อย่างมาก
สำหรับแผนการยกระดับบริการในปีนี้ นิลวรรณ ระบุว่า ธนาคารจะมุ่งต่อยอดบริการธุรกรรมการเงินในประเทศสำหรับลูกค้าธุรกิจรายย่อยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางรับเงินจากการขายผ่านเว็บ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันกรุงศรี บิซ มั่งมี และ กรุงศรี มั่งมี ช้อป สำหรับร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้ารับชำระเงินผ่าน QR Code ได้เลยโดยไม่ต้องมาสมัครที่สาขาธนาคาร
“ในกรณีของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ธนาคารได้ขยายบริการจากการเป็นตัวกลางการโอนเงินจ่ายเงินไปให้ครอบคลุมถึงการบริหารการซื้อขาย จัดการข้อมูลบัญชี และเชื่อมต่อข้อมูลไปยังระบบภาษีเชื่อมต่อกับภาครัฐอีกด้วย จะเห็นว่าเราสามารถยกระดับบริการให้ลูกค้าได้ ‘ครบ’ และ ‘ครอบคลุมทุกกลุ่ม’ นิลวรรณ กล่าว
ในด้านความ ‘แตกต่าง’ ของบริการ ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า กรุงศรีจะใช้เครือข่ายของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ที่มีอยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมาผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของธนาคารในการให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ท่ีแม่นยําและตรวจสอบได้ทันที โดยนอกจากบริการธุรกรรมการเงินแล้ว MUFG ยังสามารถเติมเต็มบริการด้านอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาการลงทุนและการจับคู่ธุรกิจให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
“เราเชื่อว่าปริมาณธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง การมีเครือข่ายของ MUFG คอยสนับสนุนจะช่วยให้บริการของเรามีความแตกต่าง โดยกรุงศรีมีเป้าหมายระยะกลางที่จะเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2566 และแนวคิด ทันสมัย ครบ และ แตกต่าง ของธุรกรรมการเงิน ก็จะเป็นฟันเฟืองให้ธนาคารก้าวไปยังเป้าหมายนี้ได้” ยิ่งลักษณ์ กล่าว