×

ครูบาบุญชุ่ม อภินิหาร เรื่องเล่า ศรัทธาของชาวบ้าน กับลักษณะธรรมชาติของผู้เป็นตนบุญ

03.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ครูบาบุญชุ่ม ถือเป็นพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่นับถือของผู้คนในพื้นที่ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย ทางใต้ของจีนอย่างเช่น สิบสองปันนา คนลื้อในเมืองสิง ประเทศลาว กลุ่มคนไตในรัฐฉาน ประเทศพม่า รวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของประเทศภูฏาน
  • ส่วนตัวผู้เขียนยังคงคิดว่าคำพูด การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากครูบาบุญชุ่ม หรือครูบาอื่นๆ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทุกฝ่าย ถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันคนหาผู้ประสบภัย
  • สุดท้ายความสำเร็จนี้จึงไม่ควรถูกยกย่องว่าเป็นของใครของฝ่ายใด ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการรวมมือกันทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสามารถ ความกล้าหาญของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน

ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร หรือนามเดิมชื่อ เด็กชายบุญชุ่ม ทาแกง ถือกำเนิดที่บ้านแม่คำหนองบัว ได้รับการศึกษาจบประถม 4 ที่โรงเรียนบ้านด้ายเทพกาญจนาอุปถัมภ์ ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เชียงราย บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปีที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ จนได้รับการขนานนามว่า ‘เณรน้อยตนบุญ’ หรือ ‘เณรหมอยาคน’ (รักษาคน)

 

ครูบาบุญชุ่ม ถือเป็นพระสงฆ์ที่เป็นที่นับถือของผู้คนในพื้นที่ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย ทางใต้ของจีนอย่างเช่น สิบสองปันนา คนลื้อในเมืองสิง ประเทศลาว กลุ่มคนไตในรัฐฉาน ประเทศพม่า และคน รวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของประเทศภูฏาน

 

 

ด้วยวัตรปฏิบัติที่มีความเคร่งครัด ทั้งศีลและภาวนา รวมถึงอุปนิสัยต่างๆ ไม่ว่าจะรักความสันโดษและนิยมกินผักผลไม้ ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์มาตั้งแต่ก่อนเข้าบรรพชาเป็นสามเณร จึงทำให้ผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงเชื่อกันว่า ท่านคือ ‘ตนบุญ’ ลงมาเกิด

 

ปรากฏเรื่องราวเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนในท้องถิ่นในลักษณะของอภินิหารต่างๆ มากมาย ผู้เขียนในฐานะบุคคลที่เกิดในหมู่บ้านใกล้เคียงกับบ้านเกิดของครูบาบุญชุ่มเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร จึงโตมาพร้อมกับเรื่องราวเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครูบาบุญชุ่มมาตั้งแต่เด็ก

 

ไม่เพียงเท่านั้นผู้เขียนถือได้ว่าเป็น ‘ติ่ง’ ของครูบาตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้ ตอนอยู่มัธยมปลายเคยแอบหนีพ่อแม่ นั่งรถเมล์เขียวประจำทางสายเชียงราย-แม่สาย เพื่อไปร่วมงานบุญวันเกิดครูบาบุญชุ่ม ที่วัดดอยเวียงแก้ว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มาแล้วด้วย

 

 

กำเนิดตนบุญ ความเชื่อพื้นที่อุษาคเนย์ ถึง ‘ครูบาบุญชุ่ม’

ต้องกล่าวก่อนว่าผู้คนในสังคมยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับการ ‘กำเนิดตนบุญ’ อยู่ไม่น้อย

 

ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อของคนในพื้นที่อุษาคเนย์ รวมถึงคนในล้านนา ที่เกิดมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องศาสนาห้าพันปี โดยเชื่อว่าพุทธศาสนาของพระโคตรมะพุทธะ หรือสิทธัตถะ พุทธเจ้าองค์ปัจจุบันจะมีอายุเพียงห้าพันปี และเชื่อกันว่าเมื่อเข้าสู่โลกหลังพุทธกาลจะเป็นยุคแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนา จะเป็นยุคที่สังคมเกิดวิปริต ธรรมชาติเกิดอาเพศ เกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ มากมาย จึงเชื่อกันว่าจะบังเกิด ‘ตนบุญ’ หรือ ‘ผู้มีบุญ’ ลงมาเพื่อนำพาผู้คนในสังคมให้บำรุงรักษาค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบถึงห้าพันปี

 

ไม่เพียงเท่านั้นยังเชื่อว่าตนบุญจะลงมาช่วยให้ผู้คนรอดพ้นจากพิบัติภัยที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังกึ่งพุทธกาลด้วย อีกทั้งผู้คนในสังคมยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ อภินิหารต่างๆ ที่เกิดจากอำนาจเร้นลับบางอย่างตามความเชื่อ ไม่ว่าจะเทวดา ผีสาง นางไม้ การเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ ความบังเอิญอะไรบางอย่างจึงถูกอธิบายด้วยความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานความเชื่อศาสนาผี หรือวิญญาณนิยม (Animism)

 

เมื่อความเชื่อดังกล่าวได้เข้ามาผนวกกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องตนบุญ หรือผู้มีบุญ จึงทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่มีบุญญาบารมี ที่เคยสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ หรือผู้ที่มีฌานสมาบัติขึ้นสูงได้รับฝึกฝนจากการทำสมาธิภาวนา จะมีอำนาจบางอย่างเหล่านั้นได้ด้วย โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีลักษณะพิเศษอย่างบุคคลเชื่อกันว่าเป็นตนบุญ ดังนั้นครูบาบุญชุ่มจึงถือเป็นบุคคลตามความเชื่อนั้น

 

 

ว่าด้วยเรื่องเล่า เรื่องราวของครูบาบุญชุ่ม

ดังนั้นด้วยลักษณะพิเศษในทางวัตรปฏิบัติตั้งแต่เป็นสามเณร ผนวกกับความเชื่อต่างๆ ของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะคนในพื้นที่ จึงทำให้เกิดเรื่องเล่า เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างประสบการณ์ตรงของตัวผู้เขียน

 

 

ผู้เขียนเคยได้ยินเสียงเล่าลือจากญาติๆ ว่าครูบาบุญชุ่มเดินไม่ติดพื้น โดยเล่ากันว่าเมื่อครั้งหนึ่งตอนที่ท่านไปงานบุญกฐินวัดแม่คำหนองบัว เกิดฝนตก ดินเป็นโคลนแฉะไปหมด ครูบาบุญชุ่มก็เดินบนพื้นโคลนแฉะๆ นั้นเหมือนกัน แต่พอเดินขึ้นไปบนวิหารกลับไม่ปรากฏรอยเท้าที่เปื้อนโคลน จึงชื่อกันว่าครูบาบุญชุ่มเดินไม่ติดพื้น ส่วนคนที่อยู่ใกล้เคียงวัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ซึ่งเป็นวัดที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ก็เชื่อกันว่าครูบามีแสงออกจากตัว

 

ผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ครั้งเมื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เขาเล่าว่าพากันแอบไปส่องดูท่านตอนกลางคืนที่กุฏิของท่านที่ข้างป่าช้า มีหลายคนเห็นแสงออกจากตัวสามเณรบุญชุ่มจริงๆ

 

หรือแม้แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีหลายเสียงเล่าลือกันต่างๆ นานา เช่น เมื่อครั้งครูบาบุญชุ่มมาถ้ำก็เกิดฝนหยุดตก เลยเชื่อกันว่าเป็นอำนาจบารมีของตนบุญ

 

หรือเรื่องเล่าที่เพิ่งแต่งขึ้นกันใหม่สดๆ ร้อนๆ ที่ว่าครูบาบุญชุ่มเป็นสามีของเจ้าแม่นางนอนในอดีตชาติ ทำให้ครูบาบุญชุ่มต้องมาทำพิธีถอนขึด-เปิดถ้ำ เพื่อช่วยเด็ก

 

ไม่เพียงเท่านั้นคำเอ่ยอ้างของครูบาบุญชุ่มหลังทำพิธีเสร็จที่กล่าวว่า “อีกวันสองวันเจอ อยู่สบายดีทุกคน” ก็เชื่อกันว่าเป็นความหยั่งรู้ของครูบาที่เกิดจากบุญบารมีหรือฌานสมาบัติต่างๆ ก็ว่ากันไป

 

แต่อย่างไรก็ตามในกรณีการปรากฏตัวของครูบาบุญชุ่ม รวมถึงคำพูดต่างๆ ของท่านผู้เขียนคิดว่าความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นคือการสร้างขวัญและกำลังใจ เพราะครูบาบุญชุ่มถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในด้านจิตวิญญาณของผู้คน รวมถึงผู้ปกครองของเด็กที่หายไปในถ้ำด้วย

 

ดังนั้นการพูดว่าวันสองวันจะได้เจอ จึงไม่ได้เป็นคำพูดเพื่อหวังแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ แต่คำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงการให้กำลังใจ เช่นเดียวกับการให้กำลังใจคนที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ที่หลายคนชอบให้กำลังใจกันว่า “เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ดีขึ้น”

 

 

อภินิหาร เรื่องเล่า เรื่องราว เป็นเรื่องธรรมชาติ พื้นที่ความเชื่อของคน

จากที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องอภินิหารจำนวนมากเกี่ยวกับครูบาบุญชุ่ม ผู้เขียนมองว่าลักษณะความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอภินิหารต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติของบุคคลที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นตนบุญ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเพียงครูบาบุญชุ่มเท่านั้น ในอดีตครูบาศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี ก็เกิดเรื่องเล่าเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้กับตัวท่านทั้งสองอยู่อย่างมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเล่าลือกันว่าท่านทั้งสองคือพระยาธรรมิกราชกลับชาติมาเกิด หรือปรากฏเป็นตำนานเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย

 

อย่างในกรณีของครูบาศรีวิชัย ท่านก็มีเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับอภินิหารมากมาย บ้างเล่ากันว่าท่านเดินสูงกว่าพื้นที่หนึ่งศอก อยู่กลางสายฝนแต่กลับไม่เปียก เดินบนน้ำได้ หรือแม้แต่เล่าว่าได้รับดาบสะหรีกัญไชยจากพระอินทร์ เป็นเหตุให้ท่านถูกกล่าวหาจากพระฝ่ายปกครองในขณะนั้นว่าตั้งตนเป็นผีบุญ ใช้เวทมนตร์คาถาหลอกล่อลวงใจผู้คนให้หลงเชื่อ เป็นต้น หรือในกรณีของครูบาอภิชัยขาวปี ลูกศิษย์คนสำคัญของครูบาศรีวิชัย ก็เชื่อกันว่าเป็นพระยาธรรมิกราชกลับชาติมาเกิด

 

 

ไม่เพียงเท่านั้นยังเชื่อกันว่าครูบาขาวปียังสามารถเอามือกันหินลูกใหญ่ที่จะตกลงจากหน้าผาไม่ให้โดนผู้คนและวัดของท่าน หรือแม้แต่เชื่อกันว่าท่านสามารถช่วยให้ผู้คนและชุมชนพ้นจากภัยลูกระเบิดเมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่สองได้ เป็นต้น

 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอภินิหาร เรื่องเล่าเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาตามความเชื่อของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่จะเป็นเพียงการถูกกล่าวหาว่าถูกใช้เพียงหากินกับความเชื่อของผู้คน แต่ความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนที่ดำรงอยู่กันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และพวกผสมเข้ากับพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคนในสังคมได้อย่างลงตัว จนกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน’ คือพุทธศาสนาที่สัมพันธ์อย่างลงตัวกับความเชื่อและวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม

 

 

จากครูบาบุญชุ่ม ภาพสะท้อน พุทธ พราหมณ์ ผี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสามารถ ความกล้าหาญของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน

ด้วยลักษณะความเป็นตนบุญของครูบาบุญชุ่ม ตามความเชื่อของผู้คนในสังคม จึงทำให้เกิดเรื่องเล่าเรื่องราวต่างๆ จำนวนมากมาย รวมถึงเรื่องเล่าต่างๆ กับกรณีเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติของบุคคลที่คนเชื่อกันว่าเป็นตนบุญ รวมถึงคำกล่าวที่ว่าจะพบเด็กเมื่อไร วันไหน จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกไปอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย

 

อย่างไรก็ตามส่วนตัวผู้เขียนยังคงคิดว่าคำพูดเหล่านั้น รวมถึงการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะครูบาบุญชุ่ม หรือครูบาอื่นๆ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทุกฝ่าย ถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันคนหาผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้พิธีกรรมความเชื่อสร้างขวัญและกำลังให้คนที่รอคอย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน กับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปฏิบัติหน้าที่ในเชิงรูปธรรม

 

สุดท้ายความสำเร็จนี้จึงไม่ควรถูกยกย่องว่าเป็นของใครของฝ่ายใด ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการรวมมือกันทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสามารถ ความกล้าหาญของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน

 

เพราะฉะนั้นความเชื่อถือจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญในทางจิตใจของผู้คนในสังคม ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเชื่อก็ถือเป็นเสรีภาพที่พึงกระทำได้ แต่ในอีกทางหนึ่งการเคารพสิทธิเสรีภาพในทางความเชื่อและการนับถือศาสนาก็เป็นหลักการสำคัญหนึ่งตามหลักประชาธิปไตยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising