×

ครูกายแก้ว วิกฤตการเมืองและสังคมไทย

15.08.2023
  • LOADING...
ครูกายแก้ว

HIGHLIGHTS

  • โอภาส จริยพฤติ หรือ ไกด์โอ พาเที่ยว ได้ให้ความเห็นว่า ที่ปราสาทบายนไม่มีภาพสลักของครูกายแก้ว แต่ภาพสลักที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นอยู่ที่ระเบียงคดปราสาทนครวัดด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก 
  • ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ไม่ใช่ครูกายแก้ว ภาพที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นคือ ‘ท้าวพาณอสูร’ ซึ่งได้ไปเข้าเฝ้าขอความอนุเคราะห์ต่อพระศิวะที่ประทับที่เขาไกรลาส
  • หากวิเคราะห์กันในเชิงเรื่องเล่าไม่สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นกระบวนการที่ทำให้รูปเคารพสักองค์หนึ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าในเชิงลี้ลับ แบบเดียวกับไอ้ไข่ แบบเดียวกับจตุคามรามเทพ และที่เสริมให้ครูกายแก้วศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปนั้นจะเห็นได้ว่ามาจากพื้นที่ที่ในสำนึกของคนไทยแล้วเชื่อว่าเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถาของขลังคือ เขมร ทั้งๆ ที่ถ้าหากคุณได้รู้จักเขมรในทางวัฒนธรรมจะพบว่า คนเขมรไม่ได้คลั่งเครื่องรางของขลังแบบที่ไทยเป็นเลย 
  • อำนาจของครูกายแก้วนี้ดูจะมีจุดร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งคือ เป็นอำนาจที่ยึดโยงตนเองเข้ากับอำนาจของกษัตริย์โบราณ ซึ่งคือแหล่งของอำนาจที่ทั้งน่าใกล้ชิดและร้อนดังดวงตะวัน

ทุกครั้งที่สังคมไทยเผชิญกับวิกฤตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ มักจะปรากฏการบูชาภูตผีปีศาจหรือเทพเจ้าที่ทรงอิทธิฤทธิ์แทบจะทุกครั้ง 

 

‘ครูกายแก้ว’ เป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ 

 

ตามประวัติเชิงตำนานเล่ากันว่า มีพระธุดงค์จากลำปางไปนั่งสมาธิที่ปราสาทนครวัด นครธม กัมพูชา และได้ครูกายแก้วมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นครูของศาสตร์และศิลป์ทั้งปวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากนั้นได้มอบให้ลูกศิษย์มีชื่อว่า พ่อหวิน เป็นอดีตทหารกองดุริยางค์ทหารในสมัยก่อน

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

จากนั้นมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้รับมอบครูกายแก้วต่อมาอีกที ซึ่งครูกายแก้วได้ปรากฏกายให้เห็น ท่านจึงได้หล่อเป็นองค์สำริดยืน คล้ายคนแก่ มีลักษณะเป็นผู้บำเพ็ญเพียร มีปีกด้านหลัง กึ่งมนุษย์กึ่งนก มีเขี้ยวทอง รูปลักษณ์ของครูกายแก้วนี้ได้อ้างอิงว่ามาจากภาพสลักบนกำแพงปราสาทบายน 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ย่อมสวนทางกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โอภาส จริยพฤติ หรือ ไกด์โอ พาเที่ยว ได้ให้ความเห็นว่า ที่ปราสาทบายนไม่มีภาพสลักของครูกายแก้ว แต่ภาพสลักที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นอยู่ที่ระเบียงคดปราสาทนครวัดด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก และครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ไม่ใช่ครูกายแก้ว ภาพที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นคือ ‘ท้าวพาณอสูร’ ซึ่งได้ไปเข้าเฝ้าขอความอนุเคราะห์ต่อพระศิวะที่ประทับที่เขาไกรลาส

 

ถ้าวิเคราะห์กันในเชิงเรื่องเล่าไม่ต้องสนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นกระบวนการที่ทำให้รูปเคารพสักองค์หนึ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าในเชิงลี้ลับ แบบเดียวกับไอ้ไข่ แบบเดียวกับจตุคามรามเทพ และที่เสริมให้ครูกายแก้วศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปนั้นจะเห็นได้ว่ามาจากพื้นที่ที่ในสำนึกของคนไทยแล้วเชื่อว่าเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถาของขลังคือ เขมร ทั้งๆ ที่ถ้าหากคุณได้รู้จักเขมรในทางวัฒนธรรมจะพบว่า คนเขมรไม่ได้คลั่งเครื่องรางของขลังแบบที่ไทยเป็นเลย 

 

นอกจากนี้แล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้วยังเพิ่มขึ้นผ่านกระบวนการส่งต่อจากอาจารย์ที่เป็นทหาร ซึ่งสังคมไทยมักมองเป็นอำนาจพิเศษชนิดหนึ่ง และส่งต่อมายังมือของจอมขมังเวทย์อีกทอดหนึ่งด้วย 

 

แต่ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ครูกายแก้วนี้ ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึงกันมากกับปรากฏการณ์ของการบูชาภูตผีปีศาจและเทพเจ้าของไทยในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

 

จตุคามรามเทพได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2550 หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยถูกถอดถอน ดังนั้น สังคมจึงรู้สึกสั่นไหวกับเรื่องนี้ ส่งผลทำให้จตุคามแทบทุกรุ่นมีชื่อรุ่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งร่ำรวย 

 

ราวปี 2559 ได้เกิดปรากฏการณ์ร่างทรงขึ้น ปรากฏการณ์นี้เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้สังคมรู้สึกถึงความสั่นคลอนไม่มั่นคง และยังทำให้ขาดความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจอีกด้วย ปรากฏการณ์ร่างทรงนี้ค่อยๆ ซาลงในกระแสโซเชียลมีเดีย แต่ยังคงมีและบูมอีกครั้งในช่วงสั้นๆ เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมกำลังเผชิญปัญหาและตั้งคำถามกับรัฐบาล คสช. ในเรื่องของการคอร์รัปชัน รวมถึงตำรวจ และพระสงฆ์ที่เป็นข่าวในทางเสื่อมเสีย ซึ่งอย่างหลังนี้ทำให้สังคมขาดที่พึ่งทางใจ ดังนั้น จึงหวังพึ่งพาอำนาจผี บรรพกษัตริย์ และเทพฮินดูที่มีอำนาจและสามารถบันดาลอำนาจคุ้มครองและความร่ำรวยให้ได้

 

ในแง่เศรษฐกิจ เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ได้เกิดปรากฏการณ์ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขนาบซ้ำเติมด้วยปัญหาโควิดที่ยิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคงในการใช้ชีวิต ร้อยละร้อยที่ไปไหว้ไอ้ไข่จึงหวังความร่ำรวย ที่น่าสนใจด้วยคือ เครื่องแบบที่ไอ้ไข่ชอบนั้นคือเครื่องแบบทหาร ซึ่งสะท้อนถึงสำนึกในเรื่องอำนาจนิยมในสังคมไทยที่ทหารก่อสำนึกอำนาจนิยมนี้ลงในสังคมกระทั่งในผีเด็ก

 

หรือล่าสุดคือ ปรากฏการณ์ท้าวเวสสุวรรณที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการบูชาเพื่อหวังในเรื่องความร่ำรวย แม้ว่าคนจำนวนมากจะไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วท้าวเวสสุวรรณเป็นใครก็ตาม เพราะรูปลักษณ์คล้ายกับยักษ์วัดแจ้งมากกว่าจะคล้ายกับท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งแบบดั้งเดิมที่มีรูปกายอ้วนแสดงความอุดมสมบูรณ์ ประดับพร้อมกับหม้อเงินหม้อทองก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องประติมานวิทยานั่นไม่ใช่สิ่งที่เรื่องสำคัญมาก ตราบใดที่อำนาจของเทพหรือยักษ์สามารถบันดาลให้ร่ำรวยได้ ซึ่งพระพุทธรูปไม่สามารถเป็นที่พึ่งในลักษณะดังกล่าว

 

เช่นเดียวกันกับเทพและผีองค์อื่นๆ ปรากฏการณ์ครูกายแก้วนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่ไม่มีใครแน่ใจว่าทิศทางของบ้านเมืองจะเดินไปทางไหน การเมืองในระดับสถาบันก็มีความอึมครึม และเศรษฐกิจของไทยที่อาจไม่ได้ดีจริงตามที่เห็น ผู้คนจึงแห่กันไปบูชาครูกายแก้วเพื่อหวัง ‘การเงิน การงาน และโชคลาภ’ อำนาจของครูกายแก้วนี้ดูจะมีจุดร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งคือ เป็นอำนาจที่ยึดโยงตนเองเข้ากับอำนาจของกษัตริย์โบราณ ซึ่งคือแหล่งของอำนาจที่ทั้งน่าใกล้ชิดและร้อนดังดวงตะวัน 

 

ถ้าครูกายแก้วจะเป็นผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมืองดังเช่นที่หลายท่านกล่าวถึงกัน แต่คำถามคืออะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ผีป่าวิ่งเข้าสิงเมืองได้ง่ายดายเช่นนี้มาร่วมเกือบสองทศวรรษแล้ว ผีตัวจริงจึงอาจไม่ใช่ครูกายแก้วอย่างที่คิดครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X