×

KResearch คาด แบงก์คุมเข้มปล่อยกู้ต่อปีหน้า เตือนสินเชื่อรายย่อยจ่อติดลบเป็นปีที่ 2 หนี้ครัวเรือนอาจหดตัวเหลือ 85% ต่อ GDP

06.12.2024
  • LOADING...
KResearch

KResearch ประเมิน แบงก์จ่อคุมเข้มปล่อยกู้ต่อเนื่องในปีหน้า โดยเฉพาะรายย่อย คาดการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในปี 2568 ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยอาจฉุดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลงเหลือ 85% ต่อ GDP

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จ่อลดลง ‘เร็วกว่าคาด’ โดยภายในสิ้นปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทยอาจลดลงไปสู่ระดับ 88.5% ต่อ GDP ขณะที่ในปี 2568 หนี้ครัวเรือนไทยอาจลดลงแตะระดับ 85-87.5% ต่อ GDP 

 

โดยปัจจัยสำคัญมาจากแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยน่าจะยังเติบโตช้าและต่ำอยู่ โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 0.6% เท่านั้นจากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 1.8%

 

KResearch

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 ปี 2567 ลดลงเหลือ 89.6% ต่อ GDP จากระดับ 90.7% ต่อ GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 4 ปี

 

ห่วงคุณภาพสินเชื่อธุรกิจรายเล็กค้างชำระพุ่ง!

 

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) ระบุอีกว่า หนี้ด้อยคุณภาพยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อ SME โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจจากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

  1. หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด
  2. ธุรกิจยิ่งเล็กยิ่งมีปัญหาหนี้เสียรุนแรง โดยพบว่าธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็กมีหนี้ที่ค้างชำระเกิด 90 วัน (NPL) และหนี้ที่ค้างชำระ 1-30 วัน (SM) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่พบว่าสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระต่อสินเชื่อโดยรวมลดลง

 

 

  1. สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อเผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน ผู้ออกบัตรเครดิต ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจเช่าซื้อ

 

KResearch

 

  1. ‘ปัญหาหนี้เรื้อรัง’ ในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางน่าห่วงมากขึ้น จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 6.5 แสนบัญชีพบว่า ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพที่ค้างชำระเกิน 90 วันไม่ได้หมดไป และยังมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมมากขึ้นอีกด้วย
  2. โดยประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งนับว่าสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่ไม่กระจายทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย

 

 

KResearch เปิดแนวทางแก้หนี้ ‘ยั่งยืน’

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยให้กลับไปแก้ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ และหาเครื่องยนต์การเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโตช้าไม่ทันกับค่าครองชีพและต้นทุนธุรกิจไทยที่เพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้ใหม่โตช้า และการเพิ่มขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอให้เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความตั้งใจชำระหนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยืดหยุ่น และสนับสนุนให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้จัดการหนี้ในระยะเวลาที่ยาวขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทางศาล และเพิ่มความรู้ทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ (Financial Literacy)

 

เพื่อลดผลกระทบที่ครัวเรือนหรือธุรกิจพุ่งหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น นอกจากการเพิ่มความรู้ทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ (Financial Literacy) แล้ว ควรเพิ่มความเข้มแข็งของระบบการเงินฐานราก และเพิ่มการแข่งขันสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X