×

แอปพลิเคชัน ‘Kredivo’ จากอินโดนีเซีย เข้าตลาดหุ้นผ่าน SPAC รับเงิน 430 ล้านดอลลาร์

03.08.2021
  • LOADING...
Kredivo

แพลตฟอร์มให้สินเชื่อออนไลน์ชื่อดังของอินโดนีเซีย Kredivo เตรียมเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านวิธีการ SPAC กับ VPC Impact Acquisition Holdings II (VPCB.O) ซึ่งมีมูลค่าบริษัท 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ FinAccel ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มได้รับเงินไปราว 430 ล้านดอลลาร์ 

 

FinAccel บริษัทสัญชาติอินโดเซีย เจ้าของแพลตฟอร์ม ‘Kredivo’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการสินเชื่อออนไลน์ในอินโดนีเซีย ได้ตกลงที่จะควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC แห่งที่ 2 ของ Victory Park Capital ในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์

 

FinAccel ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทจะขยับฐานะขึ้นเป็นบริษัทมหาชนด้วยการเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านการ SPAC กับ VPC Impact Acquisition Holdings II (VPCB.O) ซึ่งมีมูลค่าราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมี Goldman Sachs (Singapore) Pte. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

 

ดีลของ FinAccel กับ VPC Impact Acquisition Holdings II (VPCB.O) ซึ่งเป็นบริษัท SPAC ครั้งนี้ ทำให้ FinAccel ได้รับเงิน 430 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการลงทุนส่วนตัว 120 ล้านดอลลาร์ จาก Marshall Wace, Corbin Capital, SV Investment, Palantir Technologies (PLTR.N), Maso Capital และ Victory Park Capital

 

ทั้งนี้ Kredivo เป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์ที่ใหญ่สุดในอินโดนีเซีย ในปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเกือบ 4 ล้านราย และมีผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ 8 ราย จาก 10 อันดับแรกในอินโดนีเซีย โดยมีแผนจะขยายสู่ตลาดระดับภูมิภาค เช่น เวียดนาม และไทยในอนาคตอันใกล้นี้

 

ตามข้อมูลของ Kredivo ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด ‘Buy Now Pay Later’ หรือ BNPL อย่างน้อย 50% ในกลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เช่น Bukalapak และ Lazada และมีการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประเมินความเสี่ยงสินเชื่อให้กับลูกค้า

 

ในอินโดนีเซีย Kredivo แข่งขันกับผู้เล่นหลายรายรวมถึง Akulaku ผู้ให้สินเชื่อดิจิทัลที่ได้รับการสนับสนุนจาก Sequoia, UangTeman ผู้ให้กู้แบบ Peer-to-peer รวมถึงตลาดออนไลน์และบริการรับชำระเงิน เช่น Tokopedia, Traveloka และ OVO

 

นักลงทุนของ FinAccel ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ Square Peg, Mirae Asset, NAVER, Jungle Ventures, GMO Internet และ Telkom Indonesia

 

Akshay Garg ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FinAccel ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า การเข้าตลาดหุ้นและเป็นบริษัทมหาชนผ่าน SPAC ทำให้บริษัทกระจายฐานนักลงทุน และช่วยให้บริษัทเข้าถึงเงินทุนจำนวนมากขึ้นได้เร็วขึ้น ซึ่งดีลนี้ทำให้บริษัทได้รับเงินสูงถึง 430 ล้านดอลลาร์ ช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการสร้างธุรกิจบริการทางการเงินดิจิทัลขนาดใหญ่และหลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทั้งนี้ ดีลดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแลของบริษัท SPAC โดยกระบวนการเข้าตลาดหุ้นถูกคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/65 

 

อนึ่ง บริษัท SPAC ย่อมาจาก Special Purpose Acquisition Companies ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเงินไปซื้อกิจการของบริษัทอื่น ขั้นตอนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC ทำได้โดยการขายกิจการให้กับ SPAC ซึ่งกระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาสั้นกว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยการ IPO 

 

สำหรับกระบวนการคือ ในตอนแรก SPAC จะ IPO ตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก่อน เพื่อระดมเงินทุนสำหรับใช้ซื้อกิจการอื่นในอนาคต โดยยังไม่เปิดเผยรายละเอียดว่าจะซื้อกิจการใด ส่วนมากจะมีการหาดีลซื้อกิจการที่น่าสนใจภายใน 2 ปี และเมื่อมองเห็นบริษัทที่น่าลงทุนหรือซื้อกิจการแล้ว SPAC จะควบรวมตัวเองเข้ากับบริษัทนั้นๆ ผลที่ตามมาคือ ผู้ถือหุ้น SPAC จะได้ถือหุ้นบริษัทที่ซื้อกิจการตามสัดส่วนโครงสร้างใหม่ หุ้น SPAC ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็จะเปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทใหม่แทน และบริษัทที่ถูกเข้าซื้อกิจการก็จะกลายสถานะเป็นบริษัทมหาชน 

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X