วันนี้ (4 มีนาคม) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ว่าขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีทั้งหมด 12 ขั้นตอน และอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่ 9 คือส่งสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบผ่านเข้าคณะรัฐมนตรีในขั้นตอนที่ 10 แล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้เตรียมเสนอ ส.ส. พิจารณา แต่ก็ไม่สามารถเร่งรัดหรือกำหนดระยะเวลาได้ เพราะเป็นกลไกกฎหมายของประเทศ แต่ขั้นตอนเสนอการยกเลิกพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดนั้นก็สามารถใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเข้าวุฒิสภาได้เช่นเดียวกัน
สมศักดิ์กล่าวอีกว่านอกจากนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการเพื่อกำหนดพื้นที่ประกาศอนุญาตให้ครอบครองและเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และเร่งเสนอร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเสพและการครอบครองพืชกระท่อมโดยไม่เป็นความผิดในพื้นที่ประกาศดังกล่าว โดยเป็นอำนาจของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ครอบครองและใช้พืชกระท่อมได้ อย่างไรก็ตามจะมีการเชิญผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็นเรื่องการครอบครองและใช้พืชกระท่อม ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ในวันที่ 5-6 มีนาคมนี้
สำหรับแผนการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด 12 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1.ยกร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (2 มกราคม)
2.รับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ (15 วัน) (3-17 มกราคม)
3.จัดทำคำชี้แจงและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น (22 มกราคม)
4.เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็น (27 มกราคม)
5.เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอรองนายกรัฐมนตรี (28 มกราคม)
6.เสนอรองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (31 มกราคม)
7.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งเวียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (20 กุมภาพันธ์)
8.คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (3 มีนาคม)
9.ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 30 วัน (1 เมษายน)
10.คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างที่ผ่านการพิจารณากฤษฎีกา (7 เมษายน)
11.เสนอรัฐสภาพิจารณา (10 เมษายน)
12.คาดว่ารัฐสภาพิจารณาแล้วเสร็จ (10 มิถุนายน)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์