วานนี้ (21 เมษายน) สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 22,830 ตัวอย่าง กระจายตามเพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ระหว่างวันที่ 1-19 เมษายนที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในสัดส่วนร้อยละ 77.5 มีความต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขณะที่ร้อยละ 22.5 บอกว่าไม่ต้องการแก้ไข โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา และไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก
เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า คณะบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ร้อยละ 39.1, รัฐสภา ร้อยละ 30.8, คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 13.6, ขณะที่ประชาชนร้อยละ 12.7 และ 2.6 เสนอให้เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามลำดับ
นอกจากนี้ การสำรวจยังสอบถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการไปลงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.2 บอกว่าจะไปออกเสียงประชามติแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ตอบว่าไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่สนใจ และเบื่อการเมือง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์