×

สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนาสมรสเพศเท่าเทียม เตรียมยื่น กมธ. สภาเดือน ก.พ. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
15.01.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (14 มกราคม) สถาบันพระปกเกล้า โดยกลุ่มนักศึกษารุ่น 9 กลุ่ม 6 เดินหน้าจัดเสวนา ‘ทิศทาง คู่ชีวิต & สมรสเพศเดียวกัน ฟุบหรือไปต่อ (ทางไหนดี?)’ หวังต่อยอด พ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทยเป็นฉบับสมบูรณ์ ลดการเหลื่อมล้ำในสิทธิต่างๆ และการใช้ชีวิตคู่ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยในอนาคต เล็งรวบรวมความคิดเห็นพร้อมบทสรุปยื่นคณะกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้วว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการสมรสของเพศเดียวกัน แต่ยังไม่มีพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่ดูแลและให้สิทธิเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิต่างๆ และความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในประเทศไทย 

 

ดังนั้นการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อต้องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทย และให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคของ พ.ร.บ. คู่ชีวิต รวมถึงกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

 

นอกจากนี้ยังต้องการรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตเพื่อนำไปยื่นให้กรรมาธิการทั้งฝั่งสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่กำลังจะบัญญัติและประกาศใช้ รวมถึงการแก้ไขข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติซึ่งตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส. และ ส.ว.) ส่วนพระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกาตราโดยฝ่ายบริหาร เมื่อเสร็จแล้วจะนำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

“ปัจจุบันมีประมาณ 26 ประเทศในโลกที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันแล้ว ซึ่งกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันฉบับแรกในเอเชียมีขึ้นในประเทศไต้หวันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ไต้หวันมีวิวัฒนาการทางกฎหมายและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก ดังนั้นจึงมองว่าการศึกษาวิวัฒนาการของไต้หวันน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก เพราะเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต’ หรือที่เรียกกันว่า ‘พ.ร.บ. คู่ชีวิต’ แล้วเพื่อเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แต่ที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียงกันตลอดว่าบทบัญญัติหลายประการของ พ.ร.บ. นี้อาจให้สิทธิบางอย่างของคู่ชีวิตไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส” กิตตินันท์กล่าว

 

กิตตินันท์ยังกล่าวต่อไปว่า คำว่า ‘สมรส’ ที่ถูกบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามหลักกฎหมายครอบครัวของไทยในมาตรา 1448-1460 ได้กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้บุคคลเพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสและมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรสหรือสามีภริยาได้ ส่วนคำว่า ‘คู่ชีวิต’ เป็นคำที่ใช้ในพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเท่านั้น นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติคำนี้ในทางกฎหมายของประเทศไทย โดยสิทธิที่พึงได้รับจาก พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับที่อยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 5 จากร่างฉบับที่ 1 เมื่อปี 2555) มีด้วยกันหลายประการ เช่น สิทธิในการให้และรับมรดก, สิทธิในการทำนิติกรรมและจัดการหนี้สินร่วมกัน, สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, สิทธิในการร้องขอต่อศาลเป็นผู้อนุบาลคู่ชีวิตอีกฝ่ายที่วิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ, สิทธิในการจัดการทรัพย์สินคู่ชีวิตร่วมกัน ส่วนสิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันและสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่รักร่วมกัน ใช้วิธีการดึงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม

 

แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่ยังขาดหายไปใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่คู่สมรสได้รับมีทั้งการเปลี่ยนคำหน้าชื่อ-สกุล การรับและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน และการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ส่วนสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่คู่สมรสพึงได้รับ การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส การเป็นคู่ความประมวลกฎหมายอาญาแทนคู่สมรส สิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรสตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ฯลฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าบทบัญญัติทับซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับ ทำให้เกิดความซับซ้อนในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ซึ่งกลุ่มที่ร่าง พ.ร.บ. คาดว่าอาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมภายภาคหน้า เนื่องจากเป้าหมายหลักในขณะนี้คือความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมองว่าการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการฉายภาพความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยมองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือเร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ด้วยการแก้ไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตรง ไม่ใช่การแยกตัวบทกฎหมายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมา

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทยจดทะเบียนได้เฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น คู่รักต่างเพศ (หญิงและชาย) ไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งของประเทศอังกฤษที่มีการให้สิทธิคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสได้ และมีแผนที่จะให้สิทธิคู่รักต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้อย่างคู่รักเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกให้แก่คู่รักที่ไม่อยากแต่งงานหรือมีสถานะคู่สมรสสามารถใช้สถานะคู่ชีวิตได้ นับเป็นการเปิดกว้างให้แก่ทุกเพศเพื่อเลือกทางเดินชีวิตตามสิทธิทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

 

กิตตินันท์ยังกล่าวอีกด้วยว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตยอมรับว่ามีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จึงนำมาสู่การเสวนาเชิงวิชาการครั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง รวมถึงข้อเสนอแนะในการแก้ไขที่จะเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างยั่งยืน

 

“ในอนาคตอยากเห็นกฎหมายเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นไปในเรื่องของความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย โดยเอาเรื่องเพศออกนอกกรอบของกฎหมายและให้เป็นเรื่องของสถานภาพของความเป็นบุคคลซึ่งยึดหลักในความเท่าเทียมและเท่ากันของบุคคล โดยเอาเรื่องเพศออกนอกกรอบในฐานความคิดกฎหมายในทุกๆ เรื่อง เพื่อทำให้กฎหมายแสดงพลังถึงความเท่าเทียมกันของบุคคล โดยไม่คำนึงในกรอบเรื่องเพศอีกต่อไป เพื่อจะทำให้ได้รับสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” กิตตินันท์กล่าว

 

นอกจากนี้กิตตินันท์ยังกล่าวอีกว่าอยากผลักดันให้สามารถใช้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตให้ได้ก่อน ระหว่างนี้จะทำการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การสมรสให้เท่าเทียมและครอบคลุมด้านที่ยังบกพร่อง หลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับแก้ไขแล้วจึงมายกเลิก พ.ร.บ. คู่ชีวิตอีกที

 

ด้าน อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย และผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. จดทะเบียนคู่ชีวิตรายแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่าอยากให้กฎหมายมีความรอบด้าน สามารถคุ้มครองสิทธิได้ครบถ้วน ตั้งแต่สถานะทางเพศ สถานะทางครอบครัว และเรื่องอื่นๆ ที่สืบเนื่องต่อมาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะมีระบบกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้นั้นย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กฎหมายจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนไปร่วมกัน

 

“ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ. ยังอยู่ในชั้นของกฤษฎีกา ผมคิดว่าเราน่าจะมีกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้มากกว่านี้ เพื่อให้คนที่ตัดสินใจและคนที่ทำงานสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสรรสร้างกฎหมายที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศไทยได้ นอกจากนี้ผมคิดว่าถ้าเราได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากสื่อและภาคประชาสังคม สารัตถะของกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและประชาชนทุกคนสามารถเข้าใจได้” อัครวัฒน์กล่าว

 

ส่วน เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าโดยส่วนตัวมองว่าการเสวนาครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่อง LGBT เพราะการจัดเสวนาครั้งนี้ทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น

 

“กฎหมายน่าจะเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช่กฎหมาย พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไหม คิดว่าคนที่มีหน้าที่ก็ควรจะเข้าใจเพื่อให้กระบวนการแก้กฎหมายง่ายขึ้น อยากให้การแก้กฎหมายนี้เหมือนกัญชา ให้เป็นกระแสที่ทุกพรรคการเมืองกระโดดเข้ามาร่วมหมด”

 

ณิชนัจทน์ สุดลาภา นางแบบและคณะทำงานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิตยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าคนไทยปกติ เช่น เรื่องบุตรบุญธรรม เพราะปัจจุบันมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายก็ไม่ออกมารองรับ ซึ่งโดยส่วนตัวที่ทำงานและพยายามออกมาพูดในเรื่องนี้บ่อยๆ เพราะแค่อยากได้สิทธิที่เท่าเทียมกันกับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่าหรือด้อยกว่า

 

“อยากให้มีการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด กฎหมายบางอย่างไม่จำเป็นต้องเขียนหญิงและชายแล้ว บทบาทในสังคมปัจจุบันมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยมาไกลมาก ผู้หญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมผู้ชายแล้ว แต่กลุ่มคนข้ามเพศยังไม่เป็นแบบนั้น อยากให้ทุกคนตื่นตัว ช่วยกันล็อบบี้และเข้าไปคุยกับคนที่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทรวงที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันเรื่องกฎหมายนี้” ณิชนัจทน์กล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X